การรายงานเชิงบูรณาการ (Integrated Reporting)

  • Post author:
  • Post category:Uncategorized

  รายงานเชิงบูรณาการ (Integrated Report: IR) คือ รายงานที่ให้ข้อมูลเพื่อการสื่อสารอย่างกระชับเกี่ยวกับกลยุทธ์ (Strategic)การกำกับดูแลกิจการ (Governance) ผลการปฏิบิติงาน (Performance) และอนาคตที่คาดหวัง (Prospects) ขององค์กร ภายใต้บริบทของสภาพแวดล้อมภายนอก ที่นําไปสู่การสร้างคุณค่าทั้งในระยะสั้น ระยะปานกลาง และระยะยาว

การรายงานเชิงบูรณาการเริ่มต้นจากการตั้งคําถามง่ายๆ ดังต่อไปนี้

  1. องค์กรจะวัดความสําเร็จในการบริหารทรัพยากรและความสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสียในหลายๆ กลุ่ม เช่น ผู้ถือหุ้น ผู้ลงทุน พนักงาน ลูกค้า คู่ค้า คู่แข่ง ชุมชน และหน่วยงานกํากับดูแล เหล่านี้อย่างไร
  2. การเชื่อมโยงความสัมพันธ์ในลักษณะพึ่งพากัน ระหว่างทุนที่ก่อให้เกิดมูลค่าแก่กิจการ ซึ่งมี 6 อย่าง ได้แก่ ทุนทางการเงิน ทุนทางการผลิต ทุนทางปัญญา ทุนมนุษย์ ทุนทางสังคมและความสัมพันธ์ และทุนทางธรรมชาติ ส่งผลต่อความสามารถขององค์กรในการสรร้างคุณค่าอย่างไร
  3. องค์กรกําหนดแนวทางในการประเมินความเชื่อมโยงระหว่างกลยุทธ์ กิจกรรม ทุนต่าง ๆ ที่นํามาลงทุน และผลการฏิบัติงานอย่างไร

            เนื้อหาของรายงานแบบบูรณาการต้องมีลักษณะที่เชื่อมโยง โดยเชื่อมโยงผลการดําเนินงานด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมเข้าด้วยกัน สะท้อนให้เห็นว่าในวิสัยทัศน์ พันธกิจ ความเสี่ยงและโอกาส  กลยุทธ์และการจัดสรรทรัพยากร ที่มีผลต่อการสร้างคุณค่าทั้งในปัจจุบันและอนาคตด้วยทุน (Capital) ที่มีอยู่ ได้แก่

  1. Financial Capital เช่น เงินทุนที่เป็นส่วนของเจ้าของ เงินทุนจากเจ้าหนี้ เป็นต้น
  2. Manufactured Capital เช่น อาคารโรงงาน เครื่องจักร สาธารณูปโภคพื้นฐานในการผลิต เป็นต้น
  3. Intellectual Capital เช่น ทรัพย์สินทางปัญญา สิทธิบัตร ลิขสิทธิ์ เป็นต้น
  4. Human Capital เช่น ความสามารถและศักยภาพของบุคลากร จริยธรรมของบุคลากร
  5. Social and Relationship Capital เช่น  ชื่อเสียงองค์กร ความสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสีย เป็นต้น
  6. Natural Capital เช่น ทรัพยากรดิน น้ำ อากาศ ระบบนิเวศวิทยา เป็นต้น

การรายงานเชิงบูรณาการให้ข้อมูลทั้งที่เป็นตัวเงินและไม่ใช่ตัวเงิน ซึ่งปัจจัยพื้นฐานสำคัญในการจัดทำรายงานได้แก่

  1. การทำความเข้าใจความหมายที่แท้จริงของคุณค่าในองค์กร และแบบจำลองธุรกิจที่จะสร้างคุณค่านั้นได้  โดยสามารถระบุถึงสิ่งที่นำเข้า (Inputs) กิจกรรม (Activities) ผลผลิตหรือผลิตผล (Outputs) และผลลัพธ์ (Outcomes) ของแบบจำลองธุรกิจ และสามารถตอบได้ว่าทรัพยากรใดที่มีส่วนสำคัญต่อการสร้างคุณค่าในระยะยาวของกิจการ และจะต้องคิดให้รอบคอบถึงความสัมพันธ์ต่างๆ ไม่เฉพาะแต่ความสัมพันธ์ภายในห่วงโซ่อุปทานของกิจการเท่านั้น แต่ต้องรวมถึงการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า
  2. จัดทำคำอธิบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับผลกระทบเชิงบวกและเชิงลบจากสภาพแวดล้อมการดำเนินงาน ทั้งในปัจจุบันและที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยพิจารณาร่วมกับการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ในลักษณะพึ่งพากัน ระหว่างทุนที่ก่อให้เกิดมูลค่าแก่กิจการ ซึ่งมี 6 อย่าง ได้แก่ ทุนทางการเงิน ทุนทางการผลิต ทุนทางปัญญา ทุนมนุษย์ ทุนทางสังคมและความสัมพันธ์ และทุนทางธรรมชาติ
  3. ระบุตัวชี้วัดที่ไม่ใช่ตัวเงินที่มีความสำคัญต่อความสำเร็จของกิจการ จะต้องระบุตัวชี้วัดที่มิใช่ทางการเงิน พร้อมทั้งเก็บรวบรวมข้อมูลที่เชื่อถือได้ นำมาวิเคราะห์และรายงานข้อมูลให้คณะกรรมการบริษัททราบ โดยการรายงานข้อมูลที่ไม่ใช่ตัวเงินดังกล่าว ต้องมีความชัดเจนในระดับเดียวกับตัวชี้วัดที่เป็นตัวเงิน (Financial Metrics)
  4. เชื่อมโยงตัวชี้วัดที่ไม่ใช่ตัวเงินกับความสำเร็จที่เป็นตัวเงินของกิจการในระยะยาว พร้อมทั้งอธิบายความสำคัญที่ต้องมีการวัดปัจจัยที่ไม่ใช่ตัวเงิน เช่น การฝึกอบรมพนักงาน การสร้างแรงจูงใจในการทำงาน การกำหนดนโยบายที่จะช่วยสนับสนุน ให้เกิดสภาพแวดล้อมการทำงานเชิงบวก และนำไปสู่การสร้างพนักงานที่เต็มใจและมีส่วนร่วมในองค์กรมากขึ้น อันนำไปสู่การบริการแก่ลูกค้าในระดับที่ดีขึ้น ทำให้ลูกค้าเกิดความเชื่อมั่นและความจงรักภักดีต่อกิจการ การสร้างลูกค้ารายใหม่ และการสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้น
  5. สร้างความเชื่อมโยงของกลยุทธ์ ผลการดำเนินงาน ความเสี่ยงและผลตอบแทน ระหว่างข้อมูลทางการเงินและข้อมูลที่ไม่ใช่ตัวเงิน โดยคณะกรรมการบริษัทและผู้บริหารทุกคนต้องเข้าใจถึงความเชื่อมโยง ระหว่างผลการดำเนินงานกับวัตถุประสงค์ ความเชื่อมโยงระหว่างความเสี่ยงและผลการดำเนินงาน รวมถึง มีความเข้าใจว่าแรงจูงใจใดที่จะนำไปสู่การพัฒนาวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์เหล่านั้น ซึ่งจะช่วยสร้างวัฏจักรที่ถูกต้องและยั่งยืน
  6. รายงานอย่างเป็นองค์รวมและให้ความสำคัญกับความเชื่อมโยงระหว่างองค์ประกอบต่าง ๆ การคิดเชิงบูรณาการรวมถึงการรวบรวมและรายงานข้อมูลเหล่านี้ให้คณะกรรมการบริษัททราบเป็นอันดับแรก ซึ่งจะนำไปสู่การตัดสินใจที่ดีขึ้น และส่งผลให้กิจการสามารถเปิดเผยข้อมูลต่อสังคมในลักษณะที่มีการบูรณาการมากขึ้น