การจัดการการเปลี่ยนแปลงด้านนวัตกรรม ตอนที่ 5

การเปลี่ยนแปลงด้านนวัตกรรมในอุตสาหกรรมหรือธุรกิจมีหลายระดับ ในบางครั้งอาจเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงและรวดเร็ว ส่งผลต่อการเปลี่ยนพื้นฐานของสังคมไปอย่างสิ้นเชิง เช่น เกิดการปฏิวัติเครื่องจักรไอน้ำมาใช้นํ้ามัน หรือการเปลี่ยนแปลงทางด้านการโทรคมนาคมที่ส่งผลทําให้ระบบโทรเลขและเพจเจอร์หายไป ซึ่งกระบวนการเปลี่ยนแปลงด้านนวัตกรรมมีรายละเอียดดังนี้

กระบวนการเปลี่ยนแปลงด้านนวัตกรรม

กระบวนการเปลี่ยนแปลงด้านนวัตกรรมคือ การเปลี่ยนแปลงทรัพยากรมนุษย์และทรัพยากรอื่นให้นำไปสู่ผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ในกรณีที่ทรัพยากรมีความพร้อมในทุกๆด้านไม่ว่าจะเป็นความสามารถ การมีทัศนคติที่ดี ความเฉียบคมทางสติปัญญา รวมทั้งความสัมพันธ์ที่ดี องค์การที่เอื้ออำนวย การพัฒนาและทำใหม่อยู่เสมอ และการเงินพร้อมสนับสนุน ดังนั้น กระบวนการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เกิดนวัตกรรมก็คือ การคิด (Thinking) และการสร้างวิสัยทัศน์ (Vision) นั่นเอง

การจะให้ทรัพยากรมนุษย์สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้นได้ พื้นฐานที่สำคัญอยู่ที่การสร้างนักคิด (Thinker) ให้เกิดขึ้น การคิดเพื่อสร้างผลกำไรในอนาคตจะต้องสอดคล้องต่อกลยุทธ์ขององค์การ ดังนี้

  1. ความสามารถทางการผลิตและความรวดเร็วจากซัพพลายเออร์
  2. ลดกิจกรรมที่กระทำที่ไม่สอดคล้องกับกลยุทธ์ลง
  3. เพิ่มทางเลือกร่วมมือกับหุ้นส่วนพันธมิตร
  4. ใช้บุคลากรและทรัพยากรหลักที่มีความสำคัญต่อองค์การ (Key People and Key Resources)
  5. ควบคุมคุณภาพ
  6. โครงสร้างการปฏิบัติงานในองค์กร
  7. การพัฒนาผลิตภัณฑ์
  8. เงินทุน

กระบวนการเปลี่ยนแปลงด้านนวัตกรรมสามารถแสดงได้ดังภาพ

จากภาพพบว่า กระบวนการเปลี่ยนแปลงด้านนวัตกรรมควรเริ่มที่โครงสร้างค่าใช้จ่ายโดยเน้นหลักการค่าใช้จ่ายต่ำเป็นสำคัญ ต่อจากนั้นให้พิจารณาแนวทางการบริหารนวัตกรรม ซึ่งในส่วนนี้ควรมีการศึกษาถึงความต้องการผลิตภัณฑ์ในตลาดใหม่เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดให้สูงขึ้น นอกจากการหาตลาดใหม่แล้วการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ก็เป็นสิ่งสำคัญควรมีการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ให้เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอแต่สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่นั้นต้องสอดคล้องต่อความต้องการของลูกค้า สุดท้ายให้พิจารณาการบริหารคนโดยกระตุ้นให้พนักงานเห็นคุณค่าของการเปลี่ยนแปลงด้านนวัตกรรม ซึ่งผลที่ได้รับตามมาก็คือ กำไรและราคาหุ้นขององค์การที่เพิ่มสูงขึ้นนั่นเอง

การยอมรับการเปลี่ยนแปลงด้านนวัตกรรม

เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เกิดขึ้น มักจะได้รับการต่อต้านหรือการปฏิเสธ ตัวอย่างเช่น การปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุโรป ลัทธิการปกครองหรือวิธีการสอนใหม่ๆ การเปลี่ยนแปลงด้านนวัตกรรมก็เช่นกันที่มีโอกาสทั้งได้รับการยอมรับหรือปฏิเสธ

สาเหตุที่การเปลี่ยนแปลงด้านนวัตกรรมได้รับการปฏิเสธ มีดังนี้

1) ความเคยชินกับวิธีการเดิมๆ เนื่องจากบุคคลมีความเคยชินกับวิธีการเดิมๆ ที่ตนเองเคยใช้และพึงพอใจในประสิทธิภาพของวิธีการนั้นๆ บุคคลผู้นั้น ก็มักที่จะยืนยันในการใช้วิธีการนั้นๆ ต่อไปโดยยากที่จะเปลี่ยนแปลง

2) ความไม่แน่ใจในประสิทธิภาพของนวัตกรรม แม้บุคคลผู้นั้น จะทราบข่าวสารของนวัตกรรมนั้นๆในแง่ของประสิทธิภาพว่า สามารถนําไปใช้แก้ปัญหาในสถานการณ์ต่างๆ ได้ เป็นอย่างดีก็ตาม การที่ตนเองมิได้เป็นผู้ทดลองใช้นวัตกรรมนั้นๆ ก็ย่อมทําให้ไม่แน่ใจว่านวัตกรรมนั้นๆ มีประสิทธิภาพจริงหรือไม่

3) ความรู้ของบุคคลต่อนวัตกรรม เนื่องจากนวัตกรรมเป็นสิ่งที่โดยมากแล้วบุคคลส่วนมากมีความรู้ไม่เพียงพอแก่การที่จะเข้าใจในนวัตกรรมนั้นๆ ทําให้มีความรู้สึกท้อถอยที่จะเข้าใจในนวัตกรรมนั้นๆ ทําให้มีความรู้สึกท้อถอยที่จะแสวงหานวัตกรรมมาใช้ คอมพิวเตอร์ช่วยสอนเป็นตัวอย่างหนึ่งของนวัตกรรมที่นําเอาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์มาประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอน ผู้ที่มีความรู้พื้นฐานทางคอมพิวเตอร์ไม่พอเพียงก็จะรู้สึกท้อถอยและปฏิเสธในการที่จะนํานวัตกรรมนี้มาใช้ในการเรียนการสอนในชั้นของตน

4) ข้อจํากัดทางด้านงบประมาณ โดยทั่วไปแล้วนวัตกรรมมักจะต้องนําเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการพัฒนานวัตกรรม ดังนั้น ค่าใช้จ่ายของนวัตกรรมจึงดูว่ามีราคาแพง ในสภาพเศรษฐกิจโดยทั่วไป จึงไม่สามารถที่จะรองรับต่อค่าใช้จ่ายของนวัตกรรมนั้นๆ แม้จะมองเห็นว่าจะช่วยให้การดําเนินการ โดยเฉพาะการเรียนการสอนมีประสิทธิภาพสูงขึ้นจริง ดังนั้น จะเป็นได้ว่าปัญหาด้านงบประมาณเป็นส่วนหนึ่งที่ทําให้เกิดการปฏิเสธนวัตกรรม

อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงด้านนวัตกรรมจะได้รับการยอมรับหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับคุณลักษณะของนวัตกรรม ซึ่งเรื่องนี้ Rogers and Shoemaker ได้กล่าวถึงคุณลักษณะของนวัตกรรมที่เอื้อประโยชน์ต่อการยอมรับดังนี้

1) ความได้เปรียบเชิงเทียบ หมายถึง การที่ผู้ยอมรับนวัตกรรมรู้สึกว่า นวัตกรรมนั้นดีกว่ามีประโยชน์มากกว่าสิ่งเก่าๆ หรือวิธีปฏิบัติเก่าที่นวัตกรรมนั้น เข้ามาแทนที่การวัดประโยชน์เชิงเทียบอาจวัดในแง่เศรษฐกิจหรือในแง่อื่นๆ ก็ได้เช่น ความเชื่อถือของสังคม เกียรติยศ ความสะดวกสบายในการทํางาน เป็นต้น

2) ความเข้ากันได้ หมายถึง การที่ผู้ยอมรับนวัตกรรมรู้สึกว่านวัตกรรมนั้น เข้ากันได้กับค่านิยมที่เป็นอยู่ เข้ากันได้กับความเชื่อทางสังคมและวัฒนธรรม ทัศนคติความคิดหรือประสบการณ์เกี่ยวกับนวัตกรรมในอดีต ตลอดจนความต้องการของตน นวัตกรรมที่เข้ากับค่านิยม และบรรทัดฐานของสังคม

3) ความสลับซับซ้อน หมายถึง ระดับความยากง่ายตามความรู้สึกของกลุ่มเป้าหมายผู้รับนวัตกรรมในการที่จะเข้าใจหรือนํานวัตกรรมไปใช้ นวัตกรรมใดมีความสลับซับซ้อนยากต่อการเข้าใจ และการใช้งานนวัตกรรมนั้น ก็จะได้รับการยอมรับช้า

4) การนําไปทดลองใช้ได้หมายถึง ระดับที่นวัตกรรมสามารถนําไปทดลองใช้นวัตกรรมใดที่สามารถแบ่งเป็นส่วนเพื่อนําไปทดลองใช้ จะได้รับการยอมรับเร็วกว่านวัตกรรมซึ่งไม่สามารถแบ่งไปลองใช้ได้ ทั้งนี้เพราะนวัตกรรมที่สามารถนําไปทดลองใช้ได้นี้ จะช่วยลดความรู้สึกเสี่ยงต่อการยอมรับนวัตกรรมมาใช้ของกลุ่มเป้าหมายให้น้อยลง

5) การสังเกตเห็นผลได้หมายถึง ระดับที่ผลของนวัตกรรมสามารถเป็นสิ่งที่สังเกตเห็นผลได้ผลของนวัตกรรมที่สามารถสังเกตเห็นได้ง่ายและสามารถสื่อความหมายให้แก่กลุ่มเป้าหมายได้ง่ายจะได้รับการยอมรับมากกว่านวัตกรรมที่สังเกตเห็นผลยาก ดังนั้นการทําให้กลุ่มเป้าหมายยอมรับในนวัตกรรมทางด้านความคิด จึงทําได้ยากกว่าทําให้ยอมรับในนวัตกรรมทางด้านวัตถุ

กระบวนการยอมรับนวัตกรรม (Adoption Process) ในการแพร่กระจายนวัตกรรมไปสู่สังคมจนกระทั่งได้รับการยอมรับโดยบุคคลนั้น Everette M. Rogers ได้สรุปกระบวนการยอมรับนวัตกรรมไว้ 5 ขั้นตอน (ณรงค์ สมพงษ์, 2530) ดังนี้

1) ขั้นตื่นตัวหรือรับทราบ (Awareness) เป็นขั้นแรกที่บุคคลรับรู้ว่ามีความคิดใหม่ สิ่งใหม่หรือวิธีปฏิบัติใหม่ๆ เกิดขึ้นแล้ว นวัตกรรมมีอยู่จริงแต่ยังไม่มีข้อมูลรายละเอียดของสิ่งนั้นอยู่

2) ขั้นสนใจ (Interest) เป็นขั้นที่บุคคลรู้สึกสนใจในนวัตกรรมนั้นทันทีที่เห็นว่าตรงกับปัญหาที่ประสบอยู่หรือตรงกับความสนใจ และเริ่มหาข้อเท็จจริงและข่าวสารมากขึ้นโดยอาจสอบถามจากผู้อื่นซึ่งได้เคยทดลองทํามาแล้วหรือเสาะหาความรู้จากผู้ที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมนั้นเพื่อสนองตอบความอยากรู้ของตนเอง

3. ขั้นประเมินผล (Evaluation) ในขั้นตอนนี้บุคคลจะพิจารณาว่า นวัตกรรมนั้นจะมีความเหมาะสมกับตนเองหรือไม่ จะให้ผลคุ้มค่าเพียงใด หลังจากที่ได้ศึกษานวัตกรรมนั้นมาระยะหนึ่งแล้ว นวัตกรรมนั้นมีความยากและข้อจํากัดสําหรับตนเองเพียงใดและจะปรับให้เข้ากับสถานการณ์ได้อย่างไร แล้วจึงตัดสินใจว่าจะทดลองใช้ความคิดใหม่ๆ นั้นหรือไม่

4. ขั้นทดลอง (Trial) เป็นขั้นตอนที่บุคคลได้ผ่านการไตร่ตรองมาแล้วและตัดสินใจที่จะทดลองปฏิบัติตามความคิดใหม่ๆ ซึ่งอาจทดลองเพียงบางส่วนหรือทั้งหมด การทดลองปฏิบัตินี้ เป็นเพียงการยอมรับนวัตกรรมชั่วคราว เพื่อดูผลว่าควรจะตัดสินใจยอมรับโดยถาวรหรือไม่

5. ขั้นยอมรับปฏิบัติ(Adoption) ถ้าการทดลองของบุคคลได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ก็จะยอมรับความคิดใหม่ๆ อย่างเต็มที่และขยายการปฏิบัติออกไปเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งนวัตกรรมนั้นกลายเป็นวิธีการที่ยึดถือปฏิบัติโดยถาวรต่อไป ซึ่งถือเป็นขั้นสุดท้ายของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอย่างถาวร ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการยอมรับนี้ได้มีการนําแนวคิดไปใช้อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวางแผนโครงการต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการนําเสนอ การใช้และการประเมินผลเทคโนโลยีใหม่ๆ สําหรับคนกลุ่มต่างๆ ในวงการด้านการโฆษณาและประชาสัมพันธ์เพื่อนําเสนอสิ่งใหม่ๆ ให้กับกลุ่มเป้าหมาย ต่อจากนั้นได้มีการประยุกต์กระบวนการยอมรับไปใช้กันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนําเสนอสินค้าใหม่ๆ ไปยังกลุ่มผู้ใช้สินค้า