Factors affecting customer behavior

แนวคิดด้านปัจจัยพื้นฐานที่มีผลกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่สำคัญ ได้แก่

แนวคิดด้านจิตวิทยา หมายถึง แนวคิดที่ว่าด้วยการศึกษาพฤติกรรม การกระทำหรือกระบวนการทางความรู้สึกนึกคิดภายในจิตใจ เป็นการศึกษาที่มุ่งเน้นเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของปัจจัยหรือตัวแปรที่มีผลกับการขับเคลื่อนให้เกิดพฤติกรรมและวิถีในการดำรงชีวิตของบุคคล ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาดังกล่าวจะช่วยในการทำนายหรือคาดคะเนพฤติกรรมที่บุคคลจะแสดงออกโดยใช้แนวทางทางวิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือในการช่วยวิเคราะห์ การศึกษาแนวคิดทางด้านจิตวิทยาของผู้บริโภคจะช่วยให้นักการตลาดใช้เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายทางการตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น (รายละเอียดกล่าวไว้ในเรื่องที่ 10.2.1 ปัจจัยทางจิตวิทยาที่มีผลต่อพฤติกรรมผู้บริโภค)

แนวคิดด้านสังคม หมายถึง แนวคิดที่มุ่งเน้นด้านการศึกษา ความคิด ความรู้สึกและพฤติกรรมของบุคคลที่อยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มก้อนหรือการมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ รอบๆ ตัว ให้ความสำคัญกับการศึกษาพฤติกรรมการอยู่ร่วมกันของคนกลุ่มใหญ่ ซึ่งมีสิ่งที่เป็นเกณฑ์ต่างๆ ในการกำหนดความสัมพันธ์ของบุคคล ได้แก่

– สถานภาพของบุคคล หมายถึง ตำแหน่งที่บุคคลได้รับจากการเป็นสมาชิกของกลุ่ม ประกอบไปด้วยสิทธิและหน้าที่ หรือสิ่งที่กำหนดความแตกต่างของแต่ละบุคคล สถานภาพอาจจะติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด เช่น การเป็นลูกของพ่อแม่ หรือได้โดยความสามารถในภายหลัง เช่น การเป็นนักเรียนที่เรียนเก่งและมีความรับผิดชอบจนครูตั้งให้เป็นหัวหน้าห้อง

– บทบาทของบุคคล หมายถึง การทำหน้าที่ของบุคคล ซึ่งมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามสถานภาพที่ได้มาจากการเป็นสมาชิกในกลุ่ม เช่น บทบาทของการเป็นนักเรียนที่ต้องไปเรียนหนังสือ หรือบทบาทของการมีสถานภาพการเป็นครูที่ต้องสอนนักเรียน ปัจจัยทางสังคมนี้สามารถแบ่งประเภทได้เป็นด้านหลักๆ ได้แก่ วัฒนธรรม ชั้นทางสังคม กลุ่มอ้างอิง และปัจจัยส่วนบุคคล

แนวคิดด้านสถานการณ์สภาพแวดล้อม หมายถึง แนวคิดที่มุ่งศึกษาถึงผลกระทบของสภาพแวดล้อมและสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นรายล้อมตัวของบุคคลว่ามีอิทธิพลและส่งผลอย่างไรต่อการตัดสินใจของบุคคลในเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตประจำวันของแต่ละคน ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมหรือสถานการณ์ที่เกิดขึ้น อาจจำแนกออกเป็น 1) สภาพแวดล้อมทางกายภาพ (Physical Surrounding) 2) สถานการณ์ด้านบุคคลแวดล้อม (Social Surrounding) 3) ความรู้สึกในแต่ละช่วงเวลา (Temporal Perspective) 4) จุดมุ่งหมายหรือวัตถุประสงค์ในการซื้อสินค้า (Task Definition) และ 5) สภาวะความทรงจำจากอดีต (Antecedent State)