Online Shopping Behavior

พฤติกรรมชอปปิ้งออนไลน์ในยุคดิจิทัล ส่งผลให้ยอดจัดส่งพัสดุมีแนวโน้มสูงขึ้นกว่า 4 ล้านชิ้นต่อวัน การเติบโตของอีคอมเมิร์ซส่งผลให้ธุรกิจขนส่งพัสดุเติบโตต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน มีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาลงทุน เกิดการแข่งขันสูง เดิมเกมห้ำหั่นกันด้วยราคา คุณภาพ บริการ และความเร็วผลวิจัยด้านเศรษฐกิจดิจิทัล เรื่อง เศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประจำปี 2563 (e-Conomy SEA 2020) โดยทีมวิจัย Google, Temasek และ Bain & Company ที่ประเมินมูลค่าเศรษฐกิจการเติบโตในอีก 5 ปีข้างหน้า ระบุว่า อีคอมเมิร์ซในประเทศไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 81% คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในปี 2568 ขณะที่ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC) ประเมินว่าการขนส่งพัสดุในปี 2563 มีจำนวนไม่ต่ำกว่า 4 ล้านชิ้นต่อวัน ขยายตัวจากปี 2562 เป็น 35% นอกจากนนี้ การจัดโปรโมชันส่งเสริมการตลาดต่างๆ ของแพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์ส่งผลให้ยอดสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากเดิมกว่าล้านชิ้นต่อวัน

นับตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิด-19 ผู้คนหันมาซื้อสินค้าทางออนไลน์กันมากขึ้น ดันยอดจัดส่งพัสดุโดยรวมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เติบโตขึ้นกว่า 20 – 30% บางจังหวัดเติบโตมากกว่า 100% โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีการล็อกดาวน์ มาตรการการควบคุมจากภาครัฐที่เข้มงวดและมีข้อจำกัดในการเดินทาง ซึ่งความต้องการด้านการขนส่งเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างมาก เทียบกับช่วงเวลาปกติโดยเฉลี่ยแต่ละวัน ขณะเดียวกันธุรกิจขนส่งพัสดุในประเทศไทยมีการแข่งขันอย่างดุเดือด สำหรับ “ไปรษณีย์ไทย”  รัฐวิสาหกิจรายใหญ่อยู่คู่คนไทยมานานถึง 138 ปี แม้เป็นผู้นำตลาดขนส่งพัสดุ แต่กำไรหดหาย ย้อนกลับไปปี 2560 บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) ทำรายได้ 27,870 ล้านบาท กำไร 4,220 ล้านบาท ขณะที่ ปี 2563 รายได้ลดลงเป็น 23,877 ล้านบาท กำไรเพียง 160 ล้านบาท เป็นผลพวงมาจากมีผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งตลาด โดยปี 2561 ประกอบด้วยผู้เล่นรายใหญ่ 3 ราย ครองส่วนแบ่งตลาดรวมกันกว่า 80% ได้แก่ ไปรษณีย์ไทย (41%), เคอร์รี่ เอ็กซ์เพรส (39%) และลาซาดา เอ็กซ์เพรส (8%) และผู้เล่นรายกลางอื่นๆ อีกหลายราย เช่น นิ่มเอ็กซ์เพรส (3%), ดีเอชแอล เอ็กซ์เพรส (2%), เอสซีจี เอ็กซ์เพรส (1%) และนินจาแวน (1%) เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีผู้เล่นจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในตลาดขนส่งพัสดุของไทย อาทิ เบสท์โลจิสติกส์ (Best logistics) ที่มีกลุ่มอาลีบาบาจากจีนเป็นหุ้นส่วน, เจแอนด์ที เอ็กซ์เพรส (J&T Express) ผู้ให้บริการขนส่งอันดับ 1 จากอินโดนีเซีย, ซีเจ โลจิสติกส์ (CJ logistics) ผู้ให้บริการขนส่งรายใหญ่จากเกาหลีใต้ ซึ่งร่วมทุนกับเจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ (JWD) ของไทย เป็นต้น