การผลิตแบบลีนเน้นการผลิตตามความต้องการของลูกค้า โดยจะทำการผลิตเมื่อลูกค้ามีความต้องการแล้วเท่านั้น จะไม่ผลิตเพื่อรอขายแต่จะผลิตเมื่อมีคำสั่งซื้อจากลูกค้า เนื่องจากแนวคิดของลีนคือจะผลิตสินค้าที่ “ขายได้” ไม่ใช่ผลิตสินค้าที่ “คาดว่าจะขายได้” ดังนั้นกิจกรรมทางการผลิตใดๆ ก็ตามที่ไม่เป็นไปตามความต้องการของลูกค้าหรือไม่มีคุณค่าต่อลูกค้านั้น จึงนับว่าเป็นความสูญเปล่าทางการผลิตทั้งสิ้น
ความสูญเปล่า (Waste) หรือในคำศัพท์ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า มุดะ (Muda) หมายถึง การกระทำใดๆ ที่ไม่ได้สร้างคุณค่าให้แก่ลูกค้า หรือกิจกรรมใดก็ตามที่ใช้ทรัพยากรขององค์การ ได้แก่ แรงงาน เครื่องจักร วัตถุดิบ เงิน และอื่นๆ โดยไม่ได้สร้างคุณค่าให้สินค้าหรือบริการ ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า ความสูญเปล่าคือกิจกรรมที่ไม่มีคุณค่า (Non Value-added Activity) ตัวอย่างเช่น ในการผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้ กิจกรรมที่ลูกค้าเห็นว่ามีคุณค่า คือ การตัด การเลื่อย การไส การขัด และการทาสี แต่ลูกค้าไม่เห็นว่า การรอคอย การทำซ้ำ หรือการมีสินค้าคงคลังจำนวนมาก เป็นกิจกรรมที่มีคุณค่า แม้ว่ากิจกรรมเหล่านี้เป็นกิจกรรมที่มักเกิดขึ้นในโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้ก็ตาม ดังนั้นจะเห็นว่ากิจกรรมที่ลูกค้าเห็นว่ามีคุณค่า คือ กิจกรรมหรือการกระทำที่ทำให้สินค้าเกิดการเปลี่ยนแปลงรูปร่างหรือคุณลักษณะไปเท่านั้น
โดยทั่วไปแล้ว กิจกรรมที่คนงานกระทำอาจแบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ
1. งานที่แท้จริง (Actual work) เป็นกิจกรรมหรือการเคลื่อนไหวที่สร้างคุณค่าแก่สินค้าหรือบริการ หรือทำให้สินค้าหรือบริการเกิดการเปลี่ยนแปลงรูปร่างหรือคุณลักษณะไป เช่น การตัด การไส การขึ้นรูป การประกอบ ฯลฯ
2. งานสนับสนุน (Auxiliary work) คือ กิจกรรมหรือการเคลื่อนไหวที่กระทำเพื่อสนับสนุนงานที่แท้จริง ซึ่งมักจะเป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นก่อนหรือหลังจากงานที่แท้จริงนั่นเอง เช่น การตั้งเครื่องจักร การนำชิ้นงานเข้าและออกจากเครื่องจักร การตรวจสอบ การขนถ่ายวัสดุ ฯลฯ ซึ่งงานสนับสนุนเหล่านี้แม้ว่าจะไม่ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปร่างหรือลักษณะของสินค้าหรือบริการก็ตาม แต่เป็นกิจกรรมที่จำเป็นต้องทำ หรืออาจกล่าวได้ว่า งานสนับสนุนเป็นกิจกรรมที่ไม่สร้างคุณค่าแต่จำเป็นต้องทำ ดังนั้นหากองค์การสามารถลดกิจกรรมเหล่านี้ลงให้มากที่สุดได้ก็จะทำให้เวลาและต้นทุนในการผลิตลดลงได้
3. ความสูญเปล่า (Waste) เป็นกิจกรรมหรือการเคลื่อนไหวที่ไม่สร้างคุณค่าให้แก่สินค้าหรือบริการเลย เช่น การเก็บสินค้าคงคลังมากเกินไป การแก้ไขของเสีย การผลิตมากเกินคำสั่งซื้อ การรอคอยเครื่องจักร ฯลฯ หรืออาจกล่าวได้ว่าหากหยุดกิจกรรมหรือการเคลื่อนไหวประเภทนี้ได้ก็ไม่มีผลกระทบต่อการผลิต ซึ่งความสูญเปล่านับว่าเป็นกิจกรรมที่ไม่มีคุณค่าต่อลูกค้าเลย