สาระน่ารู้เรื่องโรคซึมเศร้า

รองศาสตราจารย์ ดร. กิ่งพร ทองใบ
นับแต่การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าในปลายปี 2019 เมื่อเริ่มต้นข่าวสารการแพร่ระบาดผู้เขียนยังมีความสนใจในเรื่องโรคอุบัติใหม่โรคนี้น้อยมา ยังจำได้ดีว่าต้นปี2020 ยังหาเวลาไปปฎิบัติงานคุมสอบที่เชียงใหม่ เพียงเพราะอยากหาโอกาสไปถ่ายภาพกับทุ่งดอกไม้ในกระแสขณะนั้น ได้อ้อนวอนเพื่อนรักท่านหนึ่งให้มาช่วยสานฝันเรื่องไปถ่ายรูปที่ทุ่งดอกไวโอเรตนั้น เพื่อนท่านนั้นได้แถมอีกหลายสถานที่ เช่น เฮือนไม้ 60 และ บ้านแม่กำปอง พอเริ่มได้เปิดหูเปิดตาไฟก็เริ่มติดอยากไปเที่ยวอีกแต่ผลจากCOVID 19 ทำให้การเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศเป็นอันต้องหยุดพักไปก่อน ปีนั้นจึ่งท่องเที่ยวในประเทศไปประมาณ 5- 6 ทริปกับเพื่อนห้อง 210 เตรียมอุดม และ การไปสัมมนาเสริมที่อุดรธานี นับว่าได้มุมมองการท่องเที่ยวในประเทศไทยสอดคล้องกับการประชาสัมพันธ์ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ที่ว่า เมืองไทย…ไม่ไปไม่ได้แล้ว…. ปีแรกของการเปลี่ยนแปลงสู่ยุคNew Normal ของผู้เขียนยังนับว่ามีแต่เรื่องดีดีจนห่างไกลจากความซึมเศร้าทั้งปวง
เรื่องดีดีในปี2020 ของผู้เขียนในเรื่องงานที่ขอบันทึกไว้เป็นความภาคภูมิใจเรื่องหนึ่งก็คือ การได้รับคัดเลือกเป็นบุคลากรดีเด่นของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ประจำปี พ.ศ. 2563 แม้ว่าเกียรติบัตรนี้จะมาช้า แต่ก็ดีกว่าจะไม่มาเลยเพราะกว่าจะได้รับก็เป็นปีที่ทำงานมสธ.มาเกือบครบสามสิบเก้าปี แต่การได้คัดเลือกนี้มีผลให้ได้รับการคัดเลือกเป็นข้าราชการดีเด่น และจะได้เข็มเชิดชูเกียรติครุฑทองคำ ในงานวันข้าราชการพลเรือน 1 เมษายน 2564 ด้วย
พอเข้าสู่ปี 2021 แม้ว่า COVID-19 จะยังไม่หมดไปแต่การบริหารจัดการของภาครัฐก็ยังดีอยู่ ผู้เขียนก็ยังไปทำงานสลับกับการพักผ่อนไปเที่ยวกับเพื่อน ๆ จำได้ว่าปลายกุมภาพันธ์ถึงต้นมีนาคมไปเยือน สองนครา แพร่- น่าน อีกคราจำไม่ได้ว่าเป็นครั้งที่เท่าไรเพราะสองเมืองนี่เป็นเมืองเล็กๆ เวลาไปคุมสอบถ้าเลือกก็จะได้ไป
ระหว่างที่เที่ยวเพลิดเพลินอยู่นั้นก็ได้รับข่าวการจากไปของอาจารย์ร่วมสาขาวิชาที่เคารพรักกันมากท่านหนึ่ง ท่านอาจารย์ท่านนี้อยู่คนละวิชาเอก แต่ก็เป็นผู้มีสถานะโสดเหมือนกัน จึงได้มีประสบการณ์ไปคุมสอบด้วยกันนับครั้งไม่ถ้วน การจากไปของท่านมีสาเหตุจากโรคประจำตัวที่มีอยู่เดิมแม้จะไม่ใช่ COVID แต่ก็มีจุดสาเหตุที่อวัยวะสำคัญคือปอดเช่นกัน การจากไปของท่านอาจารย์ทำให้ผู้เขียนเริ่มมีอาการจิตตกแล้ว กอปรกับความรุนแรงของCOVID ที่เพิ่มขึ้นในเดือนเมษายน ทำให้ภาครัฐต้องหันมาใช้นโยบายล็อคดาวน์ แบ่งโซนจังหวัดตามความรุนแรงของการแพร่ระบาด และการใช้มาตรการให้หน่วยงานต่างๆ เข้าสู่ระบบ Work From Home อย่างเต็มระบบ ประตูที่มสธเริ่มปิด ใครจะเข้าทำงานต้องทำเรื่องขออนุญาตก่อน และการเรียนการสอนเป็นออนไลน์ทั้งหมด
การทำงานแบบ WFH ทำให้อยู่บ้านมากขึ้น การไปเยี่ยมมารดาหรือน้องและหลานๆ ก็ทำไม่ได้ จำได้ว่าไม่ได้ไปบ้านที่สาธุประดิษฐ์ตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน เพราะเป็นวันที่บ้านคุณน้าทำบุญเลี้ยงโต๊ะจีน กลับมาบ้านที่รังสิตยังโทรคุยกับน้องสาวว่าปีนี้คุณแม่จะครบเจ็ดรอบ จะทำบุญเลี้ยงโต๊ะจีนให้ดีกว่าเพราะเราสองพี่น้องจะได้ไม่เหนื่อย จะเลี้ยงสักกี่โต๊ะยังกำหนดไม่ได้เพราะเกี่ยวข้องกับข้อกำหนดในมาตรการเว้นระยะห่างและห้ามชุมนุนกันเกินกว่า 20 ด้วย ได้แต่หวังว่ากว่าจะถึงเดือนพฤศจิกายน COVID อาจผ่านไปแล้ว
ความไม่รู้เป็นความประมาทอย่างใหญ่หลวง แม้ว่าจะติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID ทุกวัน ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำชนิดการ์ดไม่ตก เพราะเว้นระยะห่าง 100 เปอร์เซ็นต์ ด้วยการพักอยู่คนเดียว อาหารการกินก็ทำเองในช่วงเข้าพรรษาที่ถือมังสวิรัติ พืชผักสมุนไพรต้านโควิดมีเต็มพิกัด บ้านมีแต่กลิ่นสมุนไพรที่ต้มตามที่เทศบาลแจกมา ไม่คาดคิดเลยว่าข่าวเศร้าจะมาเยือนอย่างรวดเร็วไม่ทันตั้งตัว ช่วงวันที่ 6-8 สิงหาคม ปฏิบัติหน้าที่เป็นหัวหน้าวิทยากรอบรมเข้มเสริมประสบการณ์มหาบัณฑิตทางธุรกิจทางระบบ MS TEAMS ได้รับแจ้งจากน้องสาวว่ามีอาการคล้ายติดโควิดได้ตรวจด้วยชุดตรวจ ATK แล้ว พบว่าทั้งสามคนคือ คุณแม่ น้องสาวและหลานสาว มีเพียงน้องสาวคนเดียวที่ผลตรวจขึ้นสองขีด จึงให้น้องสาวไปตรวจ RTS ที่โรงพยาบาล World Medical Hospital ในวันที่ 8 แต่ผลตรวจจะได้ใน 24 ชั่วโมง ซึ่งผลก็เป็น Detectable ทางโรงพยาบาลจะส่งรถมารับ กว่าที่น้องจะได้เข้าไปรับการรักษาก็เป็นวันที่ 10 สิงหาคมแล้ว เชื้อลงปอดแล้ว ทางโรงพยาบาลก็เสนอเรื่อง”บริการที่ดี” ซึ่งทางเราก็ตกลง เมื่อน้องสาวติดแน่นอน จึงต้องส่งหลานสาวไปตรวจ แต่คุณแม่เป็นผู้ป่วยติดเตียงต้องจ้าง lab เอกชนมาตรวจให้ ผลของแม่และหลานสาวก็เป็นไปดังคาดคือ ติดเชื้อทุกคน รายหลานสาวได้ไปรักษาที่ Hospitel ย่านสุขุมวิท ส่วนคุณแม่ก็ใช้ ระบบ Home Isolation กับโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ ช่วงเวลานี้เหมือนตกนรกเพราะผู้เขียนเป็นเจ้าของไข้ผู้ป่วยสามรายที่แสนรัก
แต่ละวันได้แต่เฝ้าหน้าโน้ตบุ๊ค โทรศัพท์ และ TV เพื่อติดต่อหาทางรักษา โดยแทบไม่ได้หลับเลย แล้วความเศร้าก็มาเยือนจริงๆ รายแรกคือน้องสาว แพทย์แจ้งให้ญาติทำใจ เพราะร่างกายเธอไม่ตอบสนองต่อยาต้านไวรัศ การฟอกไตค่าไตไม่ดีขึ้น หลานชายก็ยังขอโอกาสให้แม่อยู่ต่อ แต่ประวิงได้แค่วันเดียววันรุ่งขึ้นก็ต้องยอมปล่อยไม่อยากให้เธอเจ็บร่าง เธอจึงจากไปเมื่อตอนบ่ายวันที่ 18 สิงหาคม และได้ทำพิธีฌาปนกิจในค่ำวันเดียวกัน ขอให้เธอไปสู่ภพภูมิที่ดีนะคุณเก๋น้องสาวสุดที่รักคนเดียวของพี่ จากนั้นคุณแม่ก็ตามไปอยู่กับลูกสาวที่ท่านรักในวันที่ 23 สิงหาคม ในวันรุ่งขึ้นได้ทำบุญเจ็ดวันให้คุณเก๋ในตอนเพลและตอนบ่ายสี่โมงก็ได้ฌาปนกิจให้คุณแม่ หลังจากนั้นได้ทำการสวดอภิธรรมให้คุณแม่ครบ 3 รอบ ทำบุญเจ็ดวันในวันที่ 29 สิงหาคม สำหรับหลานสาวโชคดีที่เธอรอดกลับมาอยู่บ้านได้แล้ว
ช่วงเวลาเศร้าโศกของชีวิตช่วงนี้เองที่ทำให้ผู้เขียนเริ่มมีอาการซึมเศร้า ไม่อยากทำงานทำการอะไรเลย ปล่อยชีวิตผ่านไปวันๆ ไม่นึกไม่คิดจะทำอะไร แม้จะมีผู้ห่วงใยส่งข้อความมาให้กำลังใจก็ยังอาการไม่ดีขึ้น จนคิดว่านี่เราจะเป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้าไปจริงๆแล้วหรือยัง จนเป็นแรงผลักดันให้ต้องสีบค้นข้อมูลเกี่ยวกับโรคซึมเศร้ามาบอกเล่าแก่ผู้สนใจ ในเรื่องนี้จะกล่าวถึง ความหมาย สาเหตุ และอาการของโรคซึมเศร้า

โรคซึมเศร้า คืออะไร
โรคซึมเศร้า เป็นโรคหนึ่งซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ในช่วงชีวิตของคนเรา เหมือนกับโรคทางกายอื่นๆ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง การเป็นโรคซึมเศร้าไม่ได้หมายความว่า ผู้ที่เป็นนั้นจะเป็นคนอ่อนแอ ล้มเหลว หรือไม่มีความสามารถ แต่เป็นเพียงการเจ็บป่วยอย่างหนึ่ง เกิดขึ้นได้โดยมีสาเหตุ เช่น การสูญเสีย การหย่าร้าง ความผิดหวัง และเกิดได้เองโดยไม่มีสาเหตุใดๆ ซึ่งในปัจจุบันโรคนี้สามารถรักษาหายได้ด้วยการใช้ยา การรักษาทางจิตใจ หรือทั้งสองอย่างรวมกัน
“ซึมเศร้า” ทางการแพทย์ หรือ Clinical depression หมายถึง ภาวะซึมเศร้าที่มีมากกว่าอารมณ์เศร้า และเป็นพยาธิสภาพแบบหนึ่งที่พบได้ในหลายๆ โรคทางจิตเวช โดยเฉพาะโรคทางอารมณ์ คือ โรคซึมเศร้า (Major Depressive Disorder หรือ Depressive Episode) และ โรคไบโพลาร์ (Bipolar Disorder) โรคทางอายุรกรรมบางโรค สารยาบางชนิดสามารถทำให้เกิดอาการซึมเศร้าที่รุนแรงสาเหตุของโรคซึมเศร้า

สาเหตุของโรคซึมเศร้า
สาเหตุที่จะกระตุ้นการเกิดโรคซึมเศร้าที่พบบ่อยก็คือ การมีทั้งความเสี่ยงทางพันธุกรรม, ทางสภาพจิตใจ, ประจวบกับการเผชิญกับสถานการณ์เลวร้าย ร่วมกันทั้ง 3 ปัจจัย
1. โรคซึมเศร้าเกิดจากความเครียด แต่ทั้งนี้คนที่ไม่มีญาติเคยป่วยก็อาจเกิดเป็นโรคนี้ได้ มักพบว่าผู้ป่วยโรคนี้จะมีความผิดปกติของระดับสารเคมี ที่เซลล์สมองสร้างขึ้น เพื่อรักษาสมดุลของอารมณ์
2. สภาพทางจิตใจที่เกิดจากการเลี้ยงดู ก็เป็นปัจจัยที่เสี่ยงอีกประการหนึ่งต่อการเกิดโรคซึมเศร้าเช่นกัน คนที่ขาดความภูมิใจในตนเองมองตนเองและโลกที่เขาอยู่ในแง่ลบตลอดเวลา หรือเครียดง่ายเมื่อเจอกับมรสุมชีวิต ล้วนทำให้เขาเหล่านั้นมีโอกาสป่วยง่ายขึ้น
3. การเผชิญกับสถานการณ์เลวร้าย เช่น หากชีวิตพบกับการสูญเสียครั้งใหญ่ต้องเจ็บป่วยเรื้อรัง ความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิดไม่ราบรื่น หรือต้องมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ไม่ปรารถนา ก็อาจกระตุ้นให้โรคซึมเศร้ากำเริบได้

อาการของโรคซึมเศร้า
• โรคซึมเศร้ามีอาการรู้สึกเศร้าใจ หม่นหมอง หงุดหงิด หรือรู้สึกกังวลใจ ไม่สบายใจ
• ขาดความสนใจต่อสิ่งแวดล้อมรอบข้าง หรือสิ่งที่เคยให้ความสนุกสนานในอดีต
• น้ำหนักลดลง หรือเพิ่มขึ้น ความอยากอาหารเปลี่ยนแปลงไป
• นอนไม่หลับ หรือนอนมากเกินกว่าปกติ
• คนที่เป็นโรคซึมเศร้า จะรู้สึกผิด สิ้นหวัง หรือรู้สึกว่าตนเองไร้ค่า
• ไม่มีสมาธิ ไม่สามารถตัดสินใจเองได้ ความจำแย่ลง
• อ่อนเพลีย เมื่อยล้า ไม่มีเรี่ยวแรง
• กระวนกระวาย ไม่อยากทำกิจกรรมใดๆ
• คิดถึงแต่ความตาย และอยากที่จะฆ่าตัวตาย

ถ้าหากคุณมีอาการเช่นนี้หลายข้อ เป็นเวลามากกว่า 2 สัปดาห์ คุณอาจจะกำลังเป็น “โรคซึมเศร้า” หากมีประวัติการเจ็บป่วยโรคนี้ในญาติของท่าน ก็เพิ่มการป่วยโรคนี้กับสมาชิกอื่นในบ้าน แต่ก็มิได้หมายความว่า จะเป็นกันทุกคน

บรรณานุกรม
“ รู้จักโรคซึมเศร้า…” สีบค้นจาก sanook.com สุขภาพ วันที่ 23 สิงหาคม 2564