ระบบคอนติเนนท์ (Continental System)

      

การบริหารและการปกครองท้องถิ่นในระบบคอนติเนนท์ มีรากฐานและวิวัฒนาการมาจากประวัติศาสตร์การจัดการปกครองและการบริหารท้องถิ่นของฝรั่งเศส  ซึ่งเน้นหลักการรวมอำนาจและเอกภาพแห่งรัฐมาตั้งแต่อดีต  โดยถือว่ารัฐบาลมีอำนาจเต็มในการปกครองและบริหารประเทศ  การปกครองและการบริหารท้องถิ่นเกิดจากการกระจายอำนาจของรัฐบาล  โดยรัฐบาลมอบหมายอำนาจบางประการให้แก่ท้องถิ่น  ท้องถิ่นจะมีอำนาจปกครองตนเองและมีความเป็นอิสระมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลเป็นสำคัญ การปกครองท้องถิ่นในระบบคอนติเนนท์  รัฐบาลซึ่งเป็นผู้กระจายอำนาจให้ท้องถิ่น จะเป็นผู้กำหนดรูปแบบ โครงสร้าง ขนาด ขอบเขตอำนาจหน้าที่ของท้องถิ่น ตลอดจนระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆที่เกี่ยวข้องเป็นส่วนใหญ่  การจัดระเบียบการปกครองและบริหารท้องถิ่นค่อนข้างจะเป็นระบบที่ชัดเจน  มีความเป็นเอกรูป (uniformity) คือ จัดแบบเดียวกันทั่วทั้งประเทศ ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมความเป็นเอกภาพของประเทศ ในระบบคอนติเนนท์ดั้งเดิม  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับรัฐบาล  ทั้งนี้ ประเทศที่ใช้ระบบคอนติเนนท์มักจะมีการใช้อำนาจบริหารโดยการรวมอำนาจ แบ่งอำนาจ และกระจายอำนาจไปพร้อมๆ กัน  องค์กรของรัฐที่เกิดจากการแบ่งอำนาจ อันได้แก่ องค์กรบริหารส่วนภูมิภาค มักจะมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และบางครั้งอาจมีการซ้อนทับหรือเหลื่อมล้ำระหว่างกัน  ทั้งในด้านโครงสร้างและอำนาจหน้าที่  เช่น  อาจให้เจ้าหน้าที่ของรัฐในส่วนภูมิภาคเข้ามาทำหน้าที่ในท้องถิ่น  หรืออาจให้เจ้าหน้าที่ของท้องถิ่นรับเอาภารกิจบางอย่างของรัฐบาลมาดำเนินการ เป็นต้น   ดังจะเห็นตัวอย่างจากการปกครองท้องถิ่นในสาธารณรัฐฝรั่งเศสก่อนการปฏิรูปการปกครองท้องถิ่น ใน ค.ศ. 1982  ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับเดปาร์ตมองต์(Département) มีผู้บริหารที่มาจากการแต่งตั้งของรัฐบาล  ในขณะที่มีสภาท้องถิ่นซึ่งสมาชิกมาจากการเลือกตั้งของประชาชน  ผู้บริหารดังกล่าวต้องรับนโยบายจากสภาท้องถิ่นซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนมาปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาและสนองความต้องการของประชาชน  ในขณะเดียวกันก็ต้องปฏิบัติหน้าที่ที่รัฐบาลมอบหมายด้วย  ลักษณะดังกล่าวนี้ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในระบบคอนติเนนท์ไม่ค่อยเป็นอิสระ ต้องอยู่ภายใต้อำนาจการควบคุมของรัฐบาลจนได้ชื่อว่าเป็นการปกครองท้องถิ่นแบบ  local state government หรือการปกครองท้องถิ่นภายใต้การควบคุมของรัฐ

              การปกครองและบริหารท้องถิ่นตามระบบคอนติเนนท์ นอกจากจะใช้ในสาธารณรัฐฝรั่งเศสแล้ว  ยังได้แพร่หลายไปในประเทศภาคพื้นทวีปยุโรป อาทิ เยอรมนี  อิตาลี  สเปน  เบลเยียม  และประเทศที่มีความเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับประเทศเหล่านี้ รวมทั้งประเทศไทยด้วย  อย่างไรก็ดี  ระบบการปกครองท้องถิ่นแบบคอนติเนนท์มีลักษณะบางประการที่ไม่สอดคล้องกับการกระจายอำนาจให้ประชาชนปกครองตนเองตามระบอบประชาธิปไตย ทำให้ในหลายประเทศที่มีพื้นฐานการปกครองและบริหารท้องถิ่นตามระบบนี้ได้ปรับปรุงพัฒนาระบบการปกครองและบริหารท้องถิ่นของตนไปในลักษณะที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ซึ่งแม้แต่ในสาธารณรัฐฝรั่งเศสซึ่งเป็นต้นแบบของระบบคอนติเนนท์ก็ได้ปฏิรูปการปกครองท้องถิ่นใหม่ ใน ค.ศ. 1982 

รสคนธ์ รัตนเสริมพงศ์. (25563). ระบบหลักของการบริหารท้องถิ่น ในเอกสารการสอนชุดวิชาการบริหารท้องถิ่น. นนทบุรี: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.