ความหมายของนโยบายการบริหารราชการไทย

มีคำที่สำคัญสองคำคือคำว่า “นโยบาย” (Policy) กับ คำว่า “การบริหารราชการไทย” (Thai Public Administration)

          คำว่า “นโยบาย” (Policy) ส่วนมากในแวดวงวิชาการในทางรัฐประศาสนศาสตร์จะพบในรูปของคำว่า นโยบายสาธารณะ (Public Policy) ซึ่งนักวิชาการหลายท่านอย่าง อีสตัน (Easton,1953) ชาร์เคนสกี (Sharkansky,1970) และรวมถึง ฮอกวูดและกันท์ (Hogwood and Gunn,1984) ได้ให้ความหมายซึ่งสามารถสรุปความไปในทางเดียวกันได้ว่า นโยบายสาธารณะ เป็นสิ่งที่รัฐบาลตัดสินใจเลือกที่จะกระทำ เกี่ยวกับการจัดสรรสิ่งที่มีคุณค่าให้กับสังคม โดยการตัดสินใจของรัฐบาลมีการใช้อำนาจอย่างเป็นทางการ มีแผนงาน ผลผลิต ผลลัพธ์ รวมถึงมีทฤษฎีและแนวทางในการดำเนินงาน นอกจากนี้ ยังมีนักวิชาการบางท่านที่ให้นิยาม ครอบคลุมไปถึงสิ่งที่รัฐตัดสินใจครอบคลุมทั้งสิ่งที่รัฐเลือกที่จะกระทำและไม่กระทำหรือไม่ดำเนินการด้วย ได้แก่   โทมัส อาร์ ดาย (Dye,1984, p.1) ซึ่งได้ให้ความหมายว่า นโยบายสาธารณะเป็นสิ่งที่รัฐบาลเลือกที่จะกระทำหรือไม่กระทำซึ่งครอบคลุมกิจกรรมต่างๆทั้งที่เป็นงานประจำและที่จะต้องดำเนินการในบางโอกาส

ดังนั้นจึงอาจสรุปได้ว่า คำว่า “นโยบาย” มีความหมายถึงแนวทางกว้างๆที่รัฐบาลหรือผู้ใช้อำนาจรัฐได้กำหนดแนวทางหรือทิศทางในการขับเคลื่อนประเทศ โดยรัฐบาลตัดสินใจเลือกที่จะกระทำหรือไม่กระทำ เกี่ยวกับการจัดสรรสิ่งที่มีคุณค่าให้กับสังคม และมีการใช้อำนาจอย่างเป็นทางการ

ส่วนคำว่า การบริหารราชการไทย หรือการบริหารราชการแผ่นดินนั้น เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานให้เป็นไปตามแนวนโยบายแห่งรัฐและนโยบายของรัฐบาลที่ใช้ในการบริหารประเทศ โดยใช้กลไกตามโครงสร้างของราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค และราชการส่วนท้องถิ่น และอาจรวมถึงองค์การภาครัฐอื่นๆ ร่วมกับการกำหนดและบังคับใช้กฎหมายในการบริหารราชการไทยเพื่อให้การบริหารของประเทศประสบความสำเร็จ

สำหรับในบริบทของสังคมไทย คำว่า  “นโยบายการบริหารราชการไทย” มีลักษณะที่มีความเฉพาะเจาะจง เนื่องจากมีแนวทางที่ชัดเจนตามที่กฎหมายไทยกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 ที่สำคัญได้ แก่ มาตรา 64 มาตร 65 (ในหมวดที่ 6 แนวนโยบายแห่งรัฐ) และมาตรา ๑๖๒  (คำแถลงนโยบายต่อรัฐสภา) ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

มาตรา 64  บทบัญญัติในหมวดนี้เป็นแนวทางให้รัฐดำเนินการตรากฎหมายและกำหนดนโยบายในการบริหารราชการแผ่นดิน  และ

มาตรา 65  รัฐพึงจัดให้มียุทธศาสตร์ชาติเป็นเป้าหมายการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนตามหลักธรรมาภิบาลเพื่อใช้เป็นกรอบในการจัดทำแผนต่าง ๆ ให้สอดคล้องและบูรณาการกันเพื่อให้เกิดเป็นพลังผลักดันร่วมกันไปสู่เป้าหมายดังกล่าว การจัดทำ การกำหนดเป้าหมาย ระยะเวลาที่จะบรรลุเป้าหมาย และสาระที่พึงมีในยุทธศาสตร์ชาติ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าวต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมและการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึงด้วยยุทธศาสตร์ชาติ เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้

          มาตรา 162 คณะรัฐมนตรีที่จะเข้าบริหารราชการแผ่นดินต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ซึ่งต้องสอดคล้องกับหน้าที่ของรัฐ แนวนโยบายแห่งรัฐ และยุทธศาสตร์ชาติ และต้องชี้แจงแหล่งที่มา ของรายได้ที่จะนํามาใช้จ่ายในการดําเนินนโยบาย โดยไม่มีการลงมติความไว้วางใจ ทั้งนี้ ภายในสิบห้าวัน นับแต่วันเข้ารับหน้าที่

ก่อนแถลงนโยบายต่อรัฐสภาตามวรรคหนึ่ง หากมีกรณีที่สําคัญและจําเป็นเร่งด่วน ซึ่งหากปล่อยให้ เนิ่นช้าไปจะกระทบต่อประโยชน์สําคัญของแผ่นดิน คณะรัฐมนตรีที่เข้ารับหน้าที่จะดําเนินการไปพลางก่อน เพียงเท่าที่จำเป็นก็ได้

          ผลจากทั้งสามมาตราได้กำหนดสาระสำคัญเกี่ยวกับ นโยบายการบริหารราชการไทยหรือแนวทางการกำหนดนโยบายในการบริหารราชการแผ่นดินไว้ สาระสำคัญส่วนใหญ่จึงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้และอีกส่วนจึงอยู่ในรูปคำแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ซึ่งภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีที่จะเข้าบริหารราชการแผ่นดินได้แถลงนโยบายแล้วจะมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

          ดังนั้นจึงอาจสรุปได้ว่า นโยบายการบริหารราชการไทย หมายถึง  แนวทางกว้างๆที่รัฐหรือรัฐบาลใช้ในการบริหารราชการไทยเพื่อให้บรรลุเป้าหมายหรือเจตจำนงแห่งรัฐ และต้องทำการแถลงนโยบายต่อรัฐสภารวมถึงต้องมีความสอดคล้องกับหน้าที่ของรัฐ แนวนโยบายแห่งรัฐ และยุทธศาสตร์ชาติ

Anderson, J. E. (2000). Public Policy Making: An Introduction. (4th ed). Boston: 

          Houghton Miffin.

Dror, Y. (2007). Policy Analysis: A New Professional Role in Government Service, in Shafritz, Jay M. & Hyde,

Dunn. W.N. (1994). Public Policy Analysis: An Introduction (2nd ed). N.J.: Prentice-Hall

Dye, T. R. (2002). Understanding Public Policy. (10th ed). New Jersey: 

          Prentice-Hall.

Easton, D. (1953). The Political System An Inquiry in to the State of Political

Science.  New York : Alfred A. Knorf.

Hogwood, B.W. & Gunn, L.A. (1984). Policy Analysis in the Real World. New York: Oxford University Press.