แนวทางปฏิบัติในการเปิดเผยสารสนเทศของบริษัทจดทะเบียน

  • Post author:
  • Post category:Uncategorized

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้กำหนดแนวทางปฏิบัติในการเปิดเผยสารสนเทศของบริษัทจดทะเบียนไว้ ตามแนวทางดังต่อไปนี้ ได้แก่

1 การเปิดเผยสารสนเทศที่สำคัญให้ประชาชนทราบ

2 การเผยแพร่สารสนเทศต่อประชาชนอย่างทั่วถึง

3 การชี้แจงกรณีที่มีข่าวลือต่างๆ

4 การดำเนินการเมื่อมีการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียนผิดไปจากสภาพปกติของตลาด

5 การเปิดเผยในเชิงส่งเสริมที่ไม่มีเหตุอันควร

6 การซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียนโดยใช้ข้อมูลภายใน

โดยอาจสรุปแนวทางในการเปิดเผยสารสนเทศของบริษัทจดทะเบียนดังกล่าว ในที่นี้ สารสนเทศที่สำคัญได้แก่ สารสนเทศที่มีผลต่อราคาหลักทรัพย์ หรือ สำคัญต่อการตัดสินใจลงทุน หรือ มีผลกระทบต่อสิทธิประโยชน์ของผู้ถือหุ้นแบ่งเป็น 2 ประเภทหลักๆ ได้แก่

1 สารสนเทศที่รายงานตามรอบระยะเวลาบัญชี ได้แก่ งบการเงิน แบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี และรายงานประจำปี

2 สารสนเทศที่รายงานตามเหตุการณ์ ได้แก่ การได้มา หรือ จำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์ รายการที่เกี่ยวโยงกันการร่วม หรือ ยกเลิกการร่วมทุน การเพิ่มทุน หรือ ลดทุน การออกหลักทรัพย์ใหม่ การจ่ายหรือไม่จ่ายปันผล การซื้อหุ้นคืน หรือ การจำหน่ายหุ้นที่ซื้อคืน เป็นต้น โดยบริษัทต้องเปิดเผยสารสนเทศทันทีเมื่อมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น หรือ อย่างช้าภายใน 09.00 น.ของวันทำการถัดไป โดยช่วงเวลาที่บริษัทสามารถส่งสารสนเทศในแต่ละวันแบ่งได้ 3 ช่วง คือ 06.30 – 09.00 น. 12.30-13.30 น. และ 17.00-22.30 น. โดยบริษัทต้องแจ้งตลาดหลักทรัพย์ล่วงหน้า หากสารสนเทศนั้น คาดว่าจะมีผลกระทบต่อภาวการณ์ซื้อขายหลักทรัพย์อย่างมีนัยยะสำคัญ อาจขอให้ตลาดหลักทรัพย์สั่งให้หยุดการซื้อขายหลักทรัพย์เป็นการชั่วคราว เพื่อเปิดโอกาสให้สารสนเทศได้มีการเผยแพร่อย่างทั่วถึง นักลงทุนมีเวลาในการวิเคราะห์สารสนเทศดังกล่าว ซึ่งการเผยแพร่สารสนเทศต่อประชาชนอย่างทั่วถึงหมายความว่า บริษัทต้องเปิดเผยสารสนเทศนอกเวลาการซื้อขายและก่อนการซื้อขายในแต่ละรอบล่วงหน้าอย่างน้อย 1 ชั่วโมง หรือ หลังปิดการซื้อขายประจำวันแล้ว โดยส่งสารสนเทศในรูปแบบออนไลน์ ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของตลาดหลักทรัพย์ ได้แก่ SET Community Portal (SCP) โดยสารสนเทศของบริษัทจะถูกส่งไปยังผู้ลงทุน ผ่านเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์ (www.set.or.th) รวมทั้ง ผ่านระบบการเผยแพร่สารสนเทศต่างๆของตลาดหลักทรัพย์ นอกจากนี้ กรณีมีข่าวลือเกิดขึ้น เช่น บทความที่พิมพ์ในหนังสือพิมพ์ ข้อมูลประเภทต่างๆ หากตลาดหลักทรัพย์เห็นว่า มีผลกระทบต่อราคาหลักทรัพย์ของบริษัท ตลาดหลักทรัพย์จะแจ้งให้บริษัทชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข่าวลือเหล่านั้นทันที เพื่อป้องกันมิให้ผู้ลงทุนใช้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องในการซื้อขายหลักทรัพย์

แหล่งอ้างอิงและศึกษาเพิ่มเติม

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย. (2557). คู่มือบริษัทจดทะเบียน. กรุงเทพฯ: ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย.

ฝ่ายกำกับการซื้อขายหลักทรัพย์. (2548). ข้อแนะนำการให้สารสนเทศสำหรับผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน. กรุงเทพฯ: ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย.

ฝ่ายกำกับบริษัทจดทะเบียน. (2552). คู่มือเบื้องต้นการปรับโครงสร้างของบริษัทจดทะเบียน. กรุงเทพฯ: ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย.