ก้าวทันเทคโนโลยีในวิชาชีพบัญชี

  • Post author:
  • Post category:Uncategorized

ในทุกๆ สาขาวิชาชีพมักต้องเผชิญกับสิ่งท้าทายตลอดเวลา วิชาชีพบัญชีก็เช่นกัน ต้องเผชิญกับสิ่งใหม่ ๆ ที่นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงของกระบวนการทางธุรกิจ ทำให้นักบัญชีต้องลดบทบาทจากการทำหน้าที่เพียงเป็นผู้ลงบัญชี (Bookkeeper) แต่กลายมาเป็นนักวิเคราะห์มากขึ้น นักบัญชีจะต้องเพิ่มพูนความรู้ในด้านเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อผสมผสานเข้ากันได้กับความต้องการของธุรกิจ กระบวนการทำงาน และแม้แต่ความต้องการของลูกค้า นักบัญชีต้องสร้างพลังเชิงรุกเพื่อเดินไปข้างหน้าให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจในวิชาชีพบัญชี ได้แก่

1.      Cloud-Based Accounting Technologies

        จากการสำรวจในสหรัฐอเมริกา พบว่า 67% ของนักบัญชีเชื่อว่าเทคโนโลยีคลาวด์คอมพิวติ้ง หรือที่เราเรียกกันว่า “โปรแกรมบัญชีออนไลน์” จะช่วยให้การทำหน้าที่ของนักบัญชีได้สะดวกมากยิ่งขึ้น เนื่องจากมีความยืดหยุ่นในการใช้งานสูง สามารถเชื่อมโยงข้อมูลเข้าสู่ฐานข้อมูลเดียวกัน สามารถที่จะใช้งานได้ทุกที่ทุกเวลาที่มีเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ใช้งานได้กับอุปกรณ์ต่างๆ ทั้งเครื่องคอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ค แทปเล็ตและสมาร์ทโฟน ในระบบปฏิบัติการต่าง ๆ และยังสามารถแชร์ข้อมูล เพื่อใช้งาน และแก้ไขข้อมูลร่วมกันได้ อีกทั้งมีความสะดวกและง่ายในการถ่ายโอนไฟล์จากอุปกรณ์ต่าง ๆ ไปยัง Cloud ปัจจุบันมีบริษัทผู้ขายซอฟต์แวร์หรือโปรแกรมบัญชีออนไลน์หลายราย เช่น Sage Group บริษัทข้ามชาติที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ประเทศอังกฤษ บริษัท Xero ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในนิวซีแลนด์ บริษัท ntuit เป็นบริษัทอเมริกันซึ่งพัฒนาและขายซอฟต์แวร์ทางธุรกิจ การเงิน การบัญชี และงานทางด้านภาษีอากร รวมถึงบริการที่เกี่ยวข้อง สำหรับกิจการขนาดเล็กถึงขนาดกลางโดยมีโปรแกรมบัญชีที่เป็นที่นิยมได้แก่ QuickBooks เป็นต้น  แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจัยด้านความปลอดภัยก็เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นที่ผู้ให้บริการระบบจะต้องมี เพื่อป้องกันการละเมิดและเข้าถึงข้อมูลโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งจะช่วยให้นักบัญชีมีความมั่นใจในการใช้งานมากยิ่งขึ้น

2.      Artificial Intelligence: AI

สำนักงานราชบัณฑิตยสภา ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า Artificial Intelligence (AI) หรือปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ว่า คือสาขาหนึ่งของวิทยาการคอมพิวเตอร์ ซึ่งเน้นเรื่องที่จะทำให้คอมพิวเตอร์ทำงานได้ใกล้เคียงมนุษย์มากขึ้น แบ่งย่อยออกเป็นสาขาต่าง ๆ เช่น การแปลภาษาด้วยเครื่อง ระบบผู้เชี่ยวชาญ วิทยาการหุ่นยนต์ การรู้จำแบบ การรับรู้เยี่ยงมนุษย์ (human perception) ฯลฯ

ในวิชาชีพบัญชีได้มีการพัฒนา AI เพื่อใช้ในงานด้านการจัดทำบัญชี การสอบบัญชี และการตรวจสอบภายใน เนื่องจากงานด้านบัญชีมีกระบวนการทำงานที่เป็นขั้นเป็นตอน จึงสามารถพัฒนาซอฟต์แวร์หรือเขียนเป็นคำสั่งให้ AI ทำงานแทนได้  เช่น การลงรายการบัญชี การกระทบยอดเงินฝากธนาคาร เป็นต้น AI มีความสามารถวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก สามารถพยากรณ์แนวโน้มของธุรกิจ สามารถเปรียบเทียบข้อมูลของกิจการในปัจจุบันกับอดีต หรือเทียบกับกฎเกณฑ์หรือมาตรฐานที่กำหนดไว้ทำให้ทราบสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้นเพื่อการตรวจสอบต่อไปได้ และที่น่าสนใจ ก็คือ การใช้ AI ในโดรน (Drones) หรืออากาศยานไร้คนขับ โดยนำโดรนมาเป็นส่วนหนึ่งของการเข้าสังเกตการณ์การตรวจนับสินค้าคงเหลือ ซึ่งเพิ่มประสิทธิภาพในงานสอบบัญชีได้ยิ่งขึ้น  มีความแม่นยำและลดเวลาการทำงาน ตลอดจนปลอดภัยกับสุขภาพในกรณีที่ใช้กับการตรวจสอบสินค้าคงเหลือที่เป็นวัตถุอันตราย เช่น ถ่านหินซึ่งมีองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นธาตุคาร์บอน ป็นต้น 

3.      Blockchain

สำนักงานราชบัณฑิตยสภา ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า “Blockchain” บล็อกเชน หมายถึง “วิธีการเก็บข้อมูลรายการเปลี่ยนแปลงตามหลักการทางบัญชี โดยการเข้ารหัสและจัดเรียงข้อมูลเหล่านี้ต่อกันตามลำดับเวลาที่ข้อมูลเข้ามา กลุ่มข้อมูลดังกล่าวจะเผยแพร่ไปให้ผู้ใช้ในเครือข่ายที่กำหนดได้ทราบทั่วกัน ทั้งนี้ ผู้ใช้ทุกคนจะทราบการแก้ไขเพิ่มเติมรายการเปลี่ยนแปลงในบล็อกเชนทุกรายการตลอดเวลา”

กล่าวได้ว่า Blockchain เป็นเทคโนโลยีการจัดเก็บข้อมูลที่มีความปลอดภัยสูงรูปแบบหนึ่ง มีลักษณะเป็นบล็อก (Block) เรียงต่อเนื่องกันไปเรื่อย ๆ โดยจะต้องมีการอ้างอิงรหัสเชื่อมต่อกับบล็อกก่อนหน้าทำให้เกิดเป็นห่วงโซ่ (Chain) จึงเรียกเทคโนโลยีนี้ว่า “บล็อกเชน (Block Chain)”  เป็นการใช้เครือข่ายของคอมพิวเตอร์ในการบันทึก แบ่งปัน และเชื่อมโยงรายการภายในสมุดบัญชี การเก็บข้อมูลใช้เทคโนโลยีการเก็บข้อมูลที่เรียกว่า  “เทคโนโลยีสมุดบัญชีแบบกระจายตัว” (Distributed Ledger Technology : DLT)  โดยทั้งบล็อกเก็บข้อมูลและรหัสเชื่อมต่อล้วนอยู่ในรูปแบบข้อมูลดิจิทัลที่มีการแลกเปลี่ยนและเชื่อมสัญญาณข้อมูลถึงกันตลอดเวลา ดังนั้น หากเกิดการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ระบบจะตรวจพบทันที  ในวิชาชีพบัญชี มีแนวโน้มที่จะนำ Blockchain มาใช้ในงานบัญชีมากขึ้น มีการใช้ Blockchain ในงานด้านการสอบบัญชี ใช้ติดตามการเคลื่อนไหวของรายการค้าที่เกิดขึ้นในอดีต การตรวจสอบรายการสินทรัพย์ หนี้สิน และ Smart Contracts สำนักงานสอบบัญชีชั้นนำ เช่น  Ernst & Young ยอมรับ Bitcoin ในการชำระเงิน และใช้ “Blockchain Analyzer” วิเคราะห์การทำธุรกรรมใน blockchain  ส่วน บริษัท KPMG Phoomchai Audit Ltd. มี“บริการบัญชีแยกประเภทดิจิทัล” เพื่อช่วยให้กิจการที่ทำธุรกิจบริการทางการเงินสามารถตรวจสอบการลงทุนผ่านแอปพลิเคชัน blockchain ได้

4. Data Analytics

สำนักงานราชบัณฑิตยสภา ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า Data Analytics  ดาต้า อนาไลติกส์ หรือวิทยาการวิเคราะห์ข้อมูล เป็นศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์ข้อมูล โดยนำข้อมูลมาประมวลผลด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น การจำแนกกลุ่ม การดำเนินการทางสถิติ การวิเคราะห์แนวโน้ม การค้นหาความสัมพันธ์ระหว่างลักษณะประจำของข้อมูล ซึ่งอาจจะไม่ปรากฏชัดเจนนัก

กล่าวได้ว่า Data Analytics  เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ จาก Big data ซึ่งเริ่มต้นจากการนำข้อมูลเหล่านั้น มาให้อยู่ในรูปแบบที่พร้อมจะประมวลผลได้โดยเทคโนโลยีหรือชุดคำสั่งและแบบจำลองที่สร้างขึ้น เพื่อนำข้อมูลที่ได้ผ่านการวิเคราะห์แล้วมาใช้ หรือแปลความหมายเพื่อประโยชน์ในการตัดสินใจต่อไป ซึ่งในปี ค.ศ. 2021 คาดกันว่าจะมีธุรกิจจำนวนมากขึ้นที่ใช้ Data Analytics ซึ่งสามารถเก็บรวบรวมข้อมูลทางการเงิน สามารถระบุถึงความไม่มีประสิทธิภาพในการดำเนินงานของบริษัท การติดตามลูกค้า และพัฒนาตัวแบบการพยากรณ์ได้อย่างแม่นยำมากขึ้น และแน่นอนนำไปสู่ความต้องการ Data Specialists มากยิ่งขึ้นในสายงานบัญชีเพื่อช่วยผู้บริหารในการตัดสินใจได้ดียิ่งขึ้น ส่วนในงานทางด้านการสอบบัญชี Data Analytics ทำให้ผู้สอบบัญชีสามารถตรวจสอบรายการธุรกิจได้ทั้ง 100% ของรายการที่เกิดขึ้น ซึ่งแต่เดิมนั้นงานตรวจสอบบัญชีใช้วิธีการเลือกกลุ่มตัวอย่างรายการธุรกิจขึ้นมาทดสอบความถูกต้อง นอกจากนี้ Data analytics ยังสามารถนำมาใช้กับงานการให้ความเชื่อมั่นประเภทอื่นๆ ซึ่งเป็นบริการอย่างหนึ่งของสำนักงานสอบบัญชีได้ด้วย