นโยบายสาธารณะในฐานะอำนาจในการจัดสรรค่านิยมของสังคม
นโยบายสาธารณะในฐานะอำนาจในการจัดสรรค่านิยมของสังคม สอดคล้องกับทัศนะของ David Easton กล่าวคือ นโยบายสาธารณะเป็นอำนาจในการจัดสรรค่านิยมของสังคมทั้งมวลและผู้ที่มีอำนาจในการจัดสรรก็คือรัฐบาล และสิ่งที่รัฐบาลตัดสินใจที่จะกระทำหรือไม่กระทำเป็นผลมาจากการจัดสรรค่านิยมของสังคม ซึ่งบุคคลที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมของระบบการเมือง (Political System) เป็นบุคคลที่มีอำนาจสั่งการ (Authorities) ได้แก่ ผู้อาวุโสทางการเมือง ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการ นักบริหาร ที่ปรึกษา และผู้นำทางการเมืองอื่นๆ ซึ่งเป็นบุคคลที่เป็นที่รู้จักและระบบการเมืองให้การยอมรับในฐานะเป็นผู้มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย
นโยบายสาธารณะในทัศนะนี้ สามารถจำแนกองค์ประกอบสำคัญได้แก่ (1) นโยบายสาธารณะเป็นสิ่งที่รัฐบาลตัดสินใจที่จะกระทำ (2) การตัดสินใจที่จะกระทำของรัฐบาลเป็นผลมาจากการจัดสรรค่านิยมของสังคม ซึ่งในประเด็นนี้ชี้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้ตัดสินใจนโยบายกับประชาชนในสังคม กล่าวคือ การตัดสินนโยบายใดๆของรัฐบาลจะต้องคำนึงถึงค่านิยมและระบบความเชื่อของประชาชนในสังคมเป็นสำคัญ เพราะสิงที่รัฐบาลตัดสินใจที่จะกระทำหรือไม่กระทำสิ่งใดจะมีผลในทางปฏิบัติและจะต้องสอดคล้องกับค่านิยมของประชนในสังคม หากการตัดสินใจของรัฐบาลไม่สอคล้องกับค่านิยมของประชาชนในสังคม นโยบายของรัฐบาลอาจมีอุปสรรค หรือถูกขัดขวางจากประชาชน เพราะขัดต่อระบบความเชื่อและค่านิยมของสังคมที่สืบทอดกันมา ในบางกรณีอาจก่อให้เกิดการต่อต้านอย่างรุนแรงจนเป็นเหตุให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลก็ได้ รัฐบาลจึงอาจเลือกที่จะไม่ประกาศใช้นโยบายดังกล่าว อาจกล่าวได้ว่า ค่านิยมของสังคมมีอิทธิพลอย่างสำคัญต่อการตัดสินใจนโยบายของรัฐบาล (3) ผู้มีอำนาจในการตัดสินใจที่ จะกำหนดนโยบายว่าอะไรควรจะกระทำหรือไม่กระทำคือ รัฐบาลและผู้มีอำนาจในการตัดสินใจที่จะกำหนด ซึ่งประเด็นนี้แสดงให้เห็นว่า อำนาจในการจัดสรรคุณค่าหรือค่านิยมทางสังคมนั้น ขึ้นอยู่กับผู้ที่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย โดยบุคคลเหล่านี้เป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงที่จะบัญญัติกฎหมายใดๆ หรือไม่บัญญัติกฎหมายใดๆ ให้เป็นไปตามค่านิยมของสังคมในแต่ละช่วงเวลา ทั้งนี้ การให้ความหมายเชื่อมโยงกับค่านิยมของสังคมก็มีลักษณะที่สะท้อนถึงเป้าประสงค์และความต้องการของประชาชนอยู่ในตนเอง
ดังนั้น นโยบายสาธารณะในฐานะอำนาจในการจัดสรรค่านิยมของสังคม เป็นอำนาจในการจัดสรรค่านิยมของสังคมทั้งมวลและผู้ที่มีอำนาจในการจัดสรรก็คือรัฐบาล และสิ่งที่รัฐบาลตัดสินใจที่จะกระทำหรือไม่กระทำเป็นผลมาจากการจัดสรรค่านิยมของสังคม ซึ่งบุคคลที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมของระบบการเมืองเป็นบุคคลที่มีอำนาจสั่งการ