พระวิหารพระพุทธไสยาส (วิหารพระนอน) ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือในเขตพุทธาวาส วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างพระพุทธไสยาสขึ้นคราวบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนครั้งใหญ่เมื่อ พ.ศ. 2375 นอกจากพระวิหารซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสแล้วยังมีจิตรกรรมฝาผนังที่บันทึกเรื่องราว เช่น เอตทัคคะในพระพุทธศาสนา มหาวงศ์ พงศาวดารลังกาทวีป สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ตลอดจนภาพนิทานชาดกและวรรณคดีไทย เช่น รามเกียรติ์ พระสุธน-มโนรา พระลอ ไกรทอง กากี เป็นต้น
พระวิหารพระพุทธไสยาสเป็นสถานที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างขึ้น ในคราวบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนฯ ครั้งใหญ่เมื่อ พ.ศ. 2375 พระพุทธไสยาสเป็นพระพุทธรูปนอนขนาดใหญ่ที่มีความสวยงาม โดยเป็นสิ่งที่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ
บริเวณฝ่าพระบาททั้ง 2 ข้างของพระพุทธไสยาส มีการประดับมุกเป็นรูปมงคล 108 ประการ ซึ่งเป็นคติความเชื่อที่ปรากฏในคัมภีร์ชินาลังการฎีกาของลังกา ซึ่งระบุว่าเป็นมงคลที่พราหมณ์ได้เห็นจากฝ่าพระบาทของเจ้าชายสิทธัตถะเมื่อประสูติได้ 5 วัน แต่ปรากฏว่าไม่มีการสร้างพระพุทธบาทรูปลักษณ์นี้ในลังกา โดยมงคล 108 ประการ ประกอบด้วยมงคลต่าง ๆ ดังนี้
- เป็นลักษณะแห่งโชคลาภและความอุดมสมบูรณ์ เช่น หม้อน้ำ ปลาคู่ สวัสดิกะ พวงมณี และดอกบัว เป็นต้น
- เป็นเครื่องประกอบพระบารมีของกษัตริย์และพระเจ้าจักรพรรดิ เช่น สัตตรัตนะ 7 ประการ เครื่องราชกกุธภัณฑ์ บัลลังก์ เครื่องสูง เครื่องยศ เครื่องตันต่าง ๆ และราชพาหนะ เป็นต้น
- เป็นส่วนประกอบของพระภูมิในจักรวาลตามความเชื่อของพระพุทธศาสนา เช่น เขาจักรวาล มหาสมุทร ทวีปทั้ง 4 เขาพระสุเมรุ เขาสัตตบริภัณฑ์ และป่าหิมพานต์ เป็นต้น
แหล่งข้อมูล
วัดโพธิ์. (2566). พระวิหารพระพุทธไสยาส. สืบค้นจาก https://watpho.com/th/buddha/detail/204