การจัดการการเปลี่ยนแปลงด้านนวัตกรรม ตอนที่ 3

เมื่อทราบขั้นตอนการรู้ทิศทางการเปลี่ยนแปลงของนวัตกรรมแล้ว วิธีการรู้ทิศทางการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ วิธีการรู้ทิศทางการเปลี่ยนแปลงมีดังนี้ (Vijay Kumar, 2013, pp.22-49)

          1) คำเล่าลือแบบปากต่อปาก (Buzz Reports) เป็นการรวบรวมและแบ่งปันข้อมูลที่เป็น “คำเล่าลือ” ที่ผู้คนกำลังสนใจจากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย ทำให้ได้ข้อมูลล่าสุด ข้อมูลจากคำเล่าลือเป็นแหล่งข้อมูลที่ดีในการหาแรงบันดาลใจเพื่อสร้างนวัตกรรม การหาข้อมูลจากคำเล่าลือมีขั้นตอนตามภาพที่ 7.2 ดังนี้

          – จัดสรรเวลาเพื่อสำรวจความเปลี่ยนแปลงล่าสุดอย่างสม่ำเสมอ

          – มองหาคำเล่าลือที่เป็นปัจจุบันและได้รับความสนใจจากแหล่งข้อมูลต่างๆ

          – รวบรวมและแบ่งปันคำเล่าลือที่ค้นพบ

          – อภิปรายร่วมกันภายในกลุ่ม

          – สรุปเป็นรายงาน

2) ตรวจตราหรือสแกนสื่อยอดนิยม (Popular Media Scan) เป็นการทำความเข้าใจกับปรากฎการณ์ทางวัฒนธรรมที่สำคัญ ช่องทางนี้เปรียบเสมือนกับปรอทวัดแรงดันของสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในสังคม โดยการตรวจสอบจากสื่อที่เป็นที่นิยมต่างๆ เช่น สิ่งตีพิมพ์ สื่อออนไลน์ รายการข่าว นิตยสาร รายการโทรทัศน์ แล้ววิเคราะห์ทำความเข้าใจเกี่ยวกับแนวโน้มและจับตามองปรากฎการณ์ทางวัฒนธรรมที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้น สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้องค์การสามารถสร้างนวัตกรรมที่เชื่อมต่อกับกระแสวัฒนธรรมได้ ขั้นตอนการตรวจตราสื่อยอดนิยมมีดังนี้

          – ระบุหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับโครงการ

          – หาข้อมูลที่สัมพันธ์กับหัวข้อ

          – มองหารูปแบบหรือแบบแผน

          – ให้ความสนใจในหัวข้อที่ใกล้เคียง

          – สรุปผลและอภิปราย

          3) ข้อเท็จจริงที่สำคัญ (Key Facts) เป็นการรวบรวมข้อมูลที่สำคัญ ทั้งข้อมูลเชิงสถิติ ข้อคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ จากนั้นนำมารวบรวมเพื่ออภิปรายต่อไป การรวบรวมข้อมูลนี้จะช่วยให้ทีมงานสามารถสร้างหลักการและเหตุผลที่อิงจากความจริง ให้ตรงกับเจตนารมณ์ในการสร้างนวัตกรรม รวมทั้งเป็นจุดตั้งต้นของการค้นหาข้อมูลอื่นๆ ต่อไป ขั้นตอนการหาข้อเท็จจริงที่สำคัญมีดังนี้

          – กำหนดหัวข้อทั่วไป

          – ระบุแหล่งที่มาของข้อมูลที่เชื่อถือได้

          – หาข้อมูลให้กว้างและครอบคลุม เพื่อนำไปใช้ในการวิจัย

          – จัดกลุ่มข้อมูลแยกตามประเภท

          – สรุปข้อเท็จจริงที่สำคัญตามเหตุผลที่สอดคล้องกัน

          4) แหล่งที่มาของนวัตกรรม (Innovation Sourcebook) เป็นการสร้างแรงบันดาลใจโดยศึกษาจากการนำเสนอนวัตกรรมจากแหล่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นประชาชนทั่วไป หรือ บริษัท  ซึ่งแหล่งที่มาของนวัตกรรมจะทำให้ทราบว่า สามารถไปเก็บรวบรวมข้อมูลเชิงโครงสร้างที่รวมเอาวิธีปฏิบัติที่ดีที่สุดได้จากแหล่งไหน และสามารถนำไปใช้เป็นแหล่งอ้างอิงตลอดกระบวนการสร้างนวัตกรรมและนำมาใช้เป็นแนวนโยบายแก้ปัญหาได้ด้วย ขั้นตอนการใช้แหล่งที่มาของนวัตกรรมมีดังนี้

          – กำหนดนิยามของคำว่า “นวัตกรรม” ให้ตรงกัน

          – ค้นหาตัวอย่างนวัตกรรมที่ประสบความสำเร็จ

          – สร้างตารางแหล่งที่มาของนวัตกรรม

          – ทบทวนดูตัวอย่างในตารางแหล่งที่มาของนวัตกรรม

          – ใช้ข้อมูลในตารางแหล่งที่มาของนวัตกรรมเป็นแรงบันดาลใจ

          5) สัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญด้านแนวโน้ม (Trends Expert Interview) เป็นการพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านแนวโน้มเพื่อเรียนรู้และนำไปพัฒนาให้ก้าวทันโลก ตัวอย่างผู้เชี่ยวชาญ เช่น นักเศรษฐกิจ  ศาสตราจารย์ นักเขียน และนักวิจัย การสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญด้านแนวโน้มถือเป็นการย่นระยะเวลาในการเรียนรู้และทำความเข้าใจในเรื่องแนวโน้ม อีกทั้งยังเป็นการชี้แนะแนวทางเพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติมต่อไปได้ ขั้นตอนการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญด้านแนวโน้มมีดังนี้

          – กำหนดหัวข้อที่ต้องการทำความเข้าใจ

          – ระบุตัวผู้เชี่ยวชาญ

          – เตรียมตัวสำหรับการสัมภาษณ์

          – ดำเนินการสัมภาษณ์

          – ฟัง จับประเด็น และติดตามผล

          – ถอดความและสรุป     

          6) ดัชนีคำสำคัญ (Keyword Bibliometrics) เป็นการใช้คำสำคัญเพื่อการค้นหาสาระต่างๆ ผ่านสื่อสิ่งพิมพ์และฐานข้อมูล วิธีนี้เป็นวิธีที่ประยุกต์มาจากห้องสมุดและงานสารสนเทศ  ส่วนใหญ่จะถูกใช้ในงานวิจัยและการเผยแพร่ความคิด เพื่อให้การค้นหาได้ผลลัพธ์ที่ตรงกับความสนใจ จึงควรสร้างฐานข้อมูลเฉพาะ ขั้นตอนการใช้ดัชนีคำสำคัญ มีดังนี้

                – กำหนดคำสำคัญที่จะใช้ค้นหา

          – พิจารณาระยะเวลาที่จะใช้ค้นหา

          – รวบรวมคำที่ซ้อนทับกับคำสำคัญ

          – ตรวจสอบผลลัพธ์ที่ค้นหาและทำซ้ำหากจำเป็น

          – สรุปผลการค้นหา7) กรอบงานนวัตกรรม 10 ประเภท (10 Types of Innovation Framework) เป็นการทำความเข้าใจธรรมชาติของประเภทนวัตกรรมที่อยู่ในอุตสาหกรรมต่างๆ โดยบริษัทด็อปลิน (Doblin) เป็นผู้ที่พัฒนากรอบงานนวัตกรรม 10 ประเภทนี้ ซึ่งได้อธิบายว่า นวัตกรรมสามารถเกิดขึ้นได้ใน 4 ด้าน และแต่ละด้านจะพบนวัตกรรมที่แตกต่างกันออกไป 10 ประเภท ตามภาพ

กรอบงานนวัตกรรม 10 ประเภท เป็นวิธีที่ใช้สำรวจอุตสาหกรรม เพื่อทำความเข้าใจและกำหนดประเภทของนวัตกรรม  ช่วยให้รู้ว่าอะไรที่ควรให้ความสนใจมากขึ้น มีแนวโน้มอะไรเกี่ยวกับนวัตกรรม และชี้ทิศทางการวิจัยเพิ่มเติม ตามภาพที่ 7.3 ชี้ให้เห็นว่า นวัตกรรมที่สามารถเกิดขึ้น 4 ด้าน ประกอบด้วย ด้านการเงิน นวัตกรรมที่สามารถเกิดขึ้นในด้านนี้ ได้แก่ นวัตกรรมที่เกี่ยวกับรูปแบบธุรกิจ และการสร้างเครือข่าย  ด้านกระบวนการ นวัตกรรมที่สามารถเกิดขึ้นในด้านนี้ ได้แก่ นวัตกรรมที่เกี่ยวกับกระบวนการหลักและกระบวนการเสริม ด้านข้อเสนอ นวัตกรรมที่สามารถเกิดขึ้นในด้านนี้ ได้แก่ นวัตกรรมที่เกี่ยวกับประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ ระบบการผลิต และบริการ และสุดท้ายด้านการส่งมอบ นวัตกรรมที่สามารถเกิดขึ้นในด้านนี้ ได้แก่ นวัตกรรมที่เกี่ยวกับช่องทางการกระจายสินค้า ตราสินค้า และประสบการณ์จากลูกค้า ซึ่งกรอบงานนวัตกรรม 10 ประเภทมีขั้นตอนดังนี้

          – รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับอุตสาหกรรม เพื่อให้ทราบว่า คู่แข่งขันที่สำคัญในอุตสาหกรรมมีใครบ้าง

          – ค้นหานวัตกรรมในอุตสาหกรรม เช่น ด้านการเงิน องค์การต่างๆมีรูปแบบธุรกิจใดบ้าง รูปแบบใดที่ประสบความสำเร็จ ด้านกระบวนการ มีกระบวนการหลักใดที่สร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน กระบวนการเสริมสามารถทำให้เกิดนวัตกรรมใดได้บ้าง ด้านข้อเสนอ ประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นคืออะไร ระบบผลิตใดที่ประสบความสำเร็จ และการส่งมอบ องค์การมีช่องทางการกระจายสินค้าไปยังลูกค้าได้อย่างไร มีการสร้างประสบการณ์สุดพิเศษให้ลูกค้าอย่างไร

          – สร้างแผนภาพภาพของนวัตกรรม เพื่อแสดงให้เห็นถึงจำนวนความถี่ของกิจกรรมที่ก่อให้เกิดนวัตกรรมแต่ละด้านภายในอุตสาหกรรม           – ทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง แบ่งปัน และอภิปรายถึงโอกาสของนวัตกรรมที่จะเกิดขึ้น

จากภาพเป็นตัวอย่างการการนำกรอบงานนวัตกรรรม 10 ประเภท 4 ด้านไปประยุกต์ใช้ โดยบริษัทด็อปลินได้เข้าร่วมงานกับบริษัทรถเช่าเพื่อคิดค้นนวัตกรรมที่ต้องการให้ลูกค้าเป็นศูนย์กลางในการดำเนินธุรกิจ บริษัทจึงได้ทำกรอบงานนวัตกรรม 10 ประเภทสำหรับธุรกิจรถเช่าขึ้นมาและพบว่า ธุรกิจนี้มุ่งความสนใจไปที่ด้านข้อเสนอ เช่น การรับประกันประสิทธิภาพของรถเช่า การให้บริการรับส่งรถเร็ว และจากกรอบงานนวัตกรรม 10 ประเภทนี้ ทำให้บริษัทด็อบลินเห็นโอกาสในการจัดทำนวัตกรรมที่เกี่ยวกับตราสินค้าและประสบการณ์จากลูกค้า บริษัทด็อบลินจึงได้เปลี่ยนภาพลักษณ์จากตราสินค้าราคาถูกให้เป็นตราสินค้าที่พร้อมจะเสนอประสบการณ์แปลกใหม่ให้กับลูกค้า โดยมอบข้อเสนอพิเศษที่ลูกค้าไม่เคยได้รับมาก่อน

          8) แผนภาพภูมิทัศน์นวัตกรรม (Innovation Landscape) เป็นการสร้างแผนภาพภูมิประเทศ 3 มิติ โดยให้แกน X เป็นประเภทนวัตกรรม แกน Z เป็นเวลา และแกน Y เป็นจำนวนการเกิดของนวัตกรรม แผนภาพภูมิทัศน์นวัตกรรมจะแสดงให้เห็นถึงความหนาแน่น ความหลากหลาย และอัตราการเปลี่ยนแปลงของนวัตกรรม ทำให้เห็นว่า พื้นที่ใดมีนวัตกรรมเกิดขึ้นมากที่สุด และองค์การควรมุ่งความสนใจไปยังพื้นที่ที่ยังมีโอกาสในการสร้างนวัตกรรมได้ และเห็นแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงอนาคตที่น่าจะเกิดขึ้น การสร้างแผนภาพภูมิทัศน์นวัตกรรมมีขั้นตอนดังนี้

          – เลือกอุตสาหกรรมและกำหนดฐานข้อมูลเพื่อการค้นหา

          – กำหนดคำสำคัญและช่วงเวลาที่จะค้นหา

          – ค้นหาในฐานข้อมูลและรวบรวมผลลัพธ์

          – แสดงผลลัพธ์เป็นแผนภาพภูมิทัศน์นวัตกรรม         

  – อภิปรายและสำรวจโอกาส

9) เมตริกซ์แนวโน้ม (Trends Matrix) เป็นการสรุปเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดในปัจจุบัน ซึ่งนำไปสู่ทิศทางในอนาคต นอกจากนี้แล้วยังแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มและอิทธิพลของการเปลี่ยนแปลงซึ่งจะส่งผลต่อเทคโนโลยี ธุรกิจ ประชากร วัฒนธรรม และนโยบาย โดยเมตริกซ์แนวโน้มจะช่วยทำให้เข้าใจได้ทันทีว่า แนวโน้มนั้นส่งผลต่อโครงการอย่างไร และแสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในพื้นที่หนึ่งๆ เช่น เทคโนโลยีอาจมีอิทธิพลต่อด้านอื่นๆ เช่น วัฒนธรรม หรือ ธุรกิจ เป็นต้น ขั้นตอนการสร้างเมตริกซ์แนวโน้มดังนี้

          – สร้างมิติให้กับเมตริกซ์แนวโน้ม โดยแกน Y จะประกอบด้วย เทคโนโลยี ตลาด ประชากร วัฒนธรรม และธุรกิจ ส่วนแกน X จะเป็นลักษณะของโครงการที่กำลังสนใจติดตาม เช่น เป็นเวลา อดีต ปัจจุบัน และอนาคต

          – ใส่ข้อมูลแนวโน้มที่เกี่ยวข้องลงไปในเมตริกซ์

          – ถอยกลับมาพิจารณาและอภิปรายในภาพรวม

          – นำข้อมูลที่ได้มาใส่ในเมตริกซ์

 อดีตปัจจุบันอนาคต
เทคโนโลยี: การนำทางแผนที่กระดาษGPSไกด์ทัวร์เสมือนจริง
ตลาด: ช่วงเวลาท่องเที่ยววันหยุดยาววันหยุดเสาร์-อาทิตย์ท่องเที่ยวเป็นระยะ
นักท่องเที่ยวเน้นความหรูหราเน้นเรียบง่ายเน้นความมีชีวิตชีวา
วัฒนธรรมเน้นวัฒนธรรมใกล้เคียงกับตนเองเน้นวัฒนธรรมแบบผสมผสานเน้นที่วัฒนธรรมแปลกใหม่ไม่คุ้นเคย
ธุรกิจตัวแทนการขายจองผ่านออนไลน์ด้วยตนเองใช้พนักงานส่วนบุคคล

ตัวอย่างเมตริกซ์แนวโน้มในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

จากตารางเป็นตัวอย่างเมตริกซ์แนวโน้มในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยเมตริกซ์แนวโน้มนี้ชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลง และความเกี่ยวข้องของด้านต่างๆ ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ทั้งในด้านเทคโนโลยี ตลาด ประชากร วัฒนธรรม และธุรกิจ ทำให้มองเห็นแนวโน้มและโอกาส เช่น การนำแอปพลิเคชันที่เป็นคู่มือการท่องเที่ยวเสมือนจริงบนสมาร์ตโฟนมาใช้สร้างประสบการณ์ที่น่าจดจำให้กับลูกค้า อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นความสนใจจากลูกค้า เพราะมีความแตกต่างจากธุรกิจท่องเที่ยวรายอื่นๆ อีกด้วย