ทบทวนวรรณกรรมงานวิจัยเกี่ยวกับการเลือกตั้งในจังหวัดชลบุรี (1)
การทบทวนงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจังหวัดชลบุรี พบว่า การกำหนดนโยบายการพัฒนาในพื้นที่ดำเนินการผ่านกลุ่มบุคคลซึ่งเป็นผู้นำซึ่งมีอิทธิพลทางการเมืองกลุ่มเดิมผ่านเครือข่ายระบบอุปถัมภ์ ทำให้นโยบายและผลประโยชน์ถูกจำกัดอยู่ที่เครือข่ายชนชั้นนำของจังหวัด ซึ่งสอดคล้องกับผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจังหวัดชลบุรี พ.ศ. 2544 – 2562 ซึ่งพบว่า ผลการเลือกตั้งของจังหวัดชลบุรีเป็นการเลือกตั้งที่ยึดติดกับตัวบุคคลมากกว่าสถาบันพรรคการเมือง ดังข้อสรุปของงานวิจัยที่เกี่ยวข้องดังนี้ ธนณัฏฐ์ ศรีโอษฐ์ (2556) ได้ฉายภาพพัฒนาการของโครงสร้างอำนาจทางการเมืองในจังหวัดชลบุรีใน 3 ช่วงเวลา โดยมีนโยบายกระจายอำนาจจากส่วนกลางสู่ท้องถิ่น และบริบททางการเมืองในระดับชาติเป็นเงื่อนไขของการเปลี่ยนแปลง กล่าวคือ ในช่วง พ.ศ. 2509 – 2540 โครงสร้างอำนาจทางการเมืองพัฒนาขึ้นจากโครงสร้างระบบอุปถัมภ์ของเครือข่ายกำนันผู้ใหญ่บ้าน (เครือข่ายของท้องที่) ที่มี “นายสม”…