การบริหารการคลังท้องถิ่น
การบริหารการคลังถือเป็นหัวใจสำคัญในการบริหารงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีศักยภาพทางการคลังย่อมสามารถจัดบริการสาธารณะที่ตอบสนองต่อความต้องการและความจำเป็นของประชาชนในพื้นที่บริการได้ รวมทั้งยังสามารถสร้างสรรค์บริการสาธารณะในรูปแบบใหม่ๆ หรือนวัตกรรมในการบริการสาะรณะเพื่อพัฒนาคุณภาพการบริการให้มากยิ่งขึ้น กล่าวได้ว่า การมีศักยภาพทางการคลังเป็นเงื่อนไขสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถจัดบริการสาธารณะได้สำเร็จลุล่วงและมีคุณภาพ นอกจากนี้การที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีศักยภาพทางการคลังที่เข้มแข็ง ยังแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของการกระจายอำนาจทางการคลัง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีศักยภาพทางการคลังที่เข้มแข็งจะสามารถบริหารการคลังได้อย่างอิสระและสามารถพึ่งพาตนเองได้ กล่าวคือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะมีอำนาจในการตัดสินใจ (Local Sovereignty) ใช้จ่ายงบประมาณจากแหล่งรายได้ของท้องถิ่นได้อย่างเต็มที่และมิต้องพึ่งพิงงบประมาณอุดหนุนจากรัฐบาลเป็นหลัก[1] การบริหารการคลังท้องถิ่นของไทย มีการดำเนินการตามกรอบกฎหมาย ระเบียบ และแนวทางการปฏิบัติที่สามารถอธิบายกระบวนการบริหารการคลังได้เป็น 4 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ การบริหารรายได้ของท้องถิ่น การบริหารรายจ่ายของท้องถิ่น การบริหารเงินคงคลังและเงินสะสม และการจัดทำงบประมาณท้องถิ่น ซึ่งกรอบกระบวนการและมีรายละเอียดดังนี้ การบริหารรายได้ท้องถิ่น ปัจจุบันองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของไทยมีรายได้มาจากภาษีอากร (Tax…