การคลังรัฐวิสาหกิจถือเป็นแหล่งที่มาสำคัญของรายได้ของแผ่นดินอีกรูปแบบหนึ่งนอกเหนือจากการจัดเก็บภาษีอากรประเภทต่าง ๆ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจเป็นหน่วยงานภาครัฐที่มีลักษณะประกอบกิจการในเชิงธุรกิจ มุ่งแสวงหากำไร หรือเรียกเก็บค่าบริการจากประชาชนผู้รับบริการในฐานะรัฐพาณิชย์ จึงมีบทบาทสำคัญและมีประโยชน์ในด้านการคลังและเสริมรายได้ให้แก่รัฐ รายได้จากการดำเนินงานของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจเป็นกลไกที่สำคัญในการรักษาเสถียรภาพด้านการเงินการคลังของประเทศ โดยรัฐบาลใช้รัฐวิสาหกิจเป็นเครื่องมือในการกำกับฐานะดุลการคลังโดยรวมของภาครัฐด้วยการกำกับการเบิกจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจให้สอดคล้องกับรายได้ที่สามารถจัดหาได้เพื่อให้มีฐานะดุลงบประมาณที่เหมาะสมกับเป้าหมายในการรักษาเสถียรภาพด้านการคลังของประเทศ โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจเป็นกลไกสำคัญในการช่วยกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจ
ข้อมูลทางการเงินปีงบประมาณ 2562 รัฐวิสาหกิจไทยมีจำนวน 56 แห่ง มีสินทรัพย์รวมจำนวน 15,807,000 ล้านบาท ใกล้เคียงกับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศที่มีมูลค่า 16,000,000 ล้านบาท อย่างไรก็ดี รัฐวิสาหกิจไทยมีหนี้สินรวมกันสูงถึง 12,604,000 ล้านบาท ทำให้คงเหลือส่วนของทุนสำหรับการดำเนินกิจการในแต่ละปีเพียงประมาณ 3,203,000 ล้านบาท โดยผลการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2562 ในภาพรวมรัฐวิสาหกิจไทยสามารถสร้างรายได้รวมจำนวนทั้งสิ้น 4,169,000 ล้านบาท เมื่อหักค่าใช้จ่ายรวม 3,857,000 ล้านบาท ทำให้มีผลกำไรรวมจำนวน 312,000 ล้านบาท คิดเป็นอัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์รวมอยู่ที่ร้อยละ 1.97 มีการนำส่งส่วนของกำไรหรือรายได้อื่นเข้าคลังเป็นรายได้แผ่นดินจำนวน 169,159 ล้านบาทจากรัฐวิสาหกิจจำนวน 36 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 54.22 ของกำไรสุทธิ โดนรายได้ดังกล่าวคิดเป็นร้อยละ 6.63 ของรายได้สุทธิรัฐบาล (2,550,000 ล้านบาท) (สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร,2563 หน้า 2)
ความเป็นมานั้น รัฐวิสาหกิจเริ่มมีขึ้นภายหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา คณะราษฎรได้เป็นชนชั้นปกครองใหม่ที่ควบคุมอำนาจทางการเมืองทางการทหารและทรัพยากรทั้งหมดของรัฐ ในฐานะที่เป็นผู้ควบคุมทุนของรัฐ และเป็นผู้ที่ออกกฎหมายต่างๆ เพื่อสนับสนุนให้เกิดความชอบธรรมแก่การจัดสรรทรัพยากรเหล่านั้น คณะราษฎรได้นำทุนของรัฐไปสร้างรัฐวิสาหกิจ และบริษัทกึ่งราชการขึ้นจำนวนหนึ่ง โดยรัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ และอยู่ภายใต้การบริหารงานของข้าราชการที่มาจากคณะราษฎร หรือบุคคลที่ใกล้ชิดกับคณะราษฎร
การใช้ทรัพยากรทางการเงินของรัฐมาสร้างรัฐวิสาหกิจขึ้นนี้ โดยการจัดตั้งรัฐวิสาหกิจครั้งแรกในปี พ.ศ. 2494 คือการท่าเรือและการรถไฟแห่งประเทศไทย ต่อมามีการตรากฎหมายสำคัญฉบับหนึ่งในปี พ.ศ.2496 เพื่อเปิดโอกาสให้ฝ่ายบริหารจัดตั้งองค์การหรือหน่วยงานขึ้นมาทำหน้าที่จัดทำบริการสาธารณะ พระราชบัญญัติจัดตั้งองค์การหรือหน่วยงานขึ้นมาทำหน้าที่จัดทำบริการสาธารณะ พระราชบัญญัติองค์การของรัฐบาล พ.ศ.2496 ที่ได้จัดตั้งหน่วยงานต่างๆ ขึ้นมาหลายแห่งซึ่งมีสถานภาพเป็นรัฐวิสาหกิจ ได้แก่ องค์การการขนส่งมวลชนกรุงเทพ องค์การแบตเตอรี่ องค์การแก้วองค์การกำจัดน้ำเสีย เป็นต้น
นอกจากนี้ คณะราษฎรยังได้จัดตั้งรัฐวิสาหกิจเพื่อบูรณะฟื้นฟูเศรษฐกิจ และสังคมให้เจริญก้าวหน้า เพื่อจัดทำกิจการที่เป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน และกิจการที่มีผลโดยตรงต่อความมั่นคงของประเทศ เพื่อดำเนินการด้านอุตสาหกรรม และพาณิชยกรรม เพื่อตอบสนองความต้องการในด้านอุปโภคบริโภคของประชาชนให้เพียงพอ เพื่อประกอบกิจการที่เกี่ยวข้องกับสงคราม เช่น เชื้อเพลิง เป็นต้น ตัวอย่างรัฐวิสาหกิจทางการเงิน ได้แก่ ธนาคารเอเซีย ธนาคารมณฑล และบริษัทไทยเศรษฐกิจประกันภัย รัฐวิสาหกิจทางอุตสาหกรรม ได้แก่ บริษัทข้าวไทย บริษัทประมงไทย บริษัทเดินเรือไทย และบริษัทไทยเดินเรือทะเล ส่วนรัฐวิสาหกิจทางด้านพาณิชยกรรม ได้แก่ บริษัท ค้าพืชผลไทยและบริษัท พืชกสิกรรม เป็นต้น หลังจากนั้น ก็มีรัฐวิสาหกิจเกิดขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก และได้ดำเนินการจริงจังมากยิ่งขึ้นก็เมื่อมีการตราพระราชบัญญัติการพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ ในช่วงปี พ.ศ. 2502
การบริหารงานและพัฒนารัฐวิสาหกิจและหลักทรัพย์ของรัฐ มีหน่วยงานชื่อว่า “สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ” มีฐานะเทียบเท่ากรม สังกัดกระทรวงการคลัง ทำหน้าที่บริหารและพัฒนารัฐวิสาหกิจและหลักทรัพย์ของรัฐ โดยการเสนอแนะนโยบายและมาตรการกำกับดูแล การประเมินผล และการพัฒนารัฐวิสาหกิจ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพรัฐวิสาหกิจและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ทรัพย์สินของรัฐ พร้อมทั้ง ส่งเสริมและสนับสนุนการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ
ความเป็นมาในอดีตนั้น ภาครัฐได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนารัฐวิสาหกิจให้มีประสิทธิภาพอันจะนำไปสู่การเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้แก่รัฐวิสาหกิจ เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ทรัพย์สินของรัฐ และพัฒนารัฐวิสาหกิจให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล เดิมนั้นคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติให้กรมบัญชีกลางยกฐานะแผนกรัฐวิสาหกิจในกองรายได้เป็นกองรัฐวิสาหกิจตามพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง พ.ศ. 2520 เพื่อรับผิดชอบดูแลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจต่างๆ ได้กว้างขวางและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยเน้นการควบคุมและกำหนดนโยบายด้านการเงินการบัญชี และการบริหารงานบุคคลของรัฐวิสาหกิจ
ต่อมาเนื่องจากกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลังได้ปรับเปลี่ยนภารกิจจากการควบคุมและปฏิบัติการ มาเป็นการกำกับดูแลให้คำปรึกษา แนะนำส่งเสริมและสนับสนุน ตลอดจนกระจายอำนาจด้านการเงินการคลังไปให้ส่วนราชการต่าง ๆ และส่วนภูมิภาคมากขึ้น นอกจากนี้ ได้รวมหน่วยงานที่มีภารกิจความรับผิดชอบในลักษณะใกล้เคียงกันเป็นส่วนราชการเดียวกันโดยมีฐานะสูงกว่ากอง จึงปรับปรุงการแบ่งส่วนราชการภายในกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลังเสียใหม่ เพื่อให้การปฏิบัติราชการเกิดความคล่องตัวมีประสิทธิภาพ เหมาะสม และสอดคล้องกับสภาพงานดังกล่าว และเนื่องจากการแบ่งส่วนราชการภายในกรมให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกาตามนัยมาตรา 8 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัตระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 “กองรัฐวิสาหกิจ” จึงเปลี่ยนฐานะเป็น “สำนักรัฐวิสาหกิจและหลักทรัพย์ของรัฐ” และต่อมาอีกครั้ง ตามพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง พ.ศ. 2538 จึงได้ยกฐานะ “สำนักรัฐวิสาหกิจและหลักทรัพย์ของรัฐ” เป็น “สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ” มีฐานะเป็นหน่วยงานระดับกรม ตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2545 ดำเนินการมาจนถึงปัจจุบัน
ข้อมูลล่าสุดในปี 2563 ประเทศไทยมีหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในการกำกับดูแลของกระทรวงการคลังลดลงเหลือเพียง 53 แห่งใน 9 สาขา (www.sepo.go.th) ดังนี้
- สาขาขนส่ง (9 แห่ง) ประกอบด้วย การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย (บวท.) สถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.)
- สาขาพลังงาน (4 แห่ง) ประกอบด้วย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟผ.) บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) (ปตท.)
- สาขาสื่อสาร (4 แห่ง) ประกอบด้วย บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (กสท.) บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท.) บริษัท อสมท จำกัด (อสมท.)
- สาขาสาธารณูปการ (6 แห่ง) ประกอบด้วย การประปานครหลวง (กปน.) การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) องค์การจัดการน้ำเสีย (อจน.) การเคหะแห่งชาติ (กคช.) บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)
- สาขาอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม (8 แห่ง) ประกอบด้วย การยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) โรงงานไพ่ กรมสรรพสามิต (โรงงานไพ่) องค์การสุรา กรมสรรพสามิต (อส.) สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล (สลาก) บริษัท สหโรงแรมไทยและการท่องเที่ยว จำกัด (สหโรงแรม) โรงพิมพ์ตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (โรงพิมพ์ตำรวจ) บริษัท อู่กรุงเทพ จำกัด (บอก.) องค์การตลาด (อต.)
- สาขาเกษตร (5 แห่ง) ประกอบด้วย องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อสค.) องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อตก.) องค์การสะพานปลา (อสป.) การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) องค์การคลังสินค้า (อคส.)
- สาขาทรัพยากรธรรมชาติ (3 แห่ง) ประกอบด้วย องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) องค์การสวนพฤกษศาสตร์ (อสพ.) องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (อสส.)
- สาขาสังคมและเทคโนโลยี (5 แห่ง) ประกอบด้วย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) องค์การเภสัชกรรม (อภ.)