เงินได้พึงประเมินหมายถึงเงินได้อันเข้าลักษณะพึงต้องเสียภาษี ทั้งนี้ตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดเงินได้พึงประเมินไว้ 8 ประเภท
อย่างไรก็ดี มีการกำหนดเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้น เช่น ตามมาตรา 42 (7) กำหนดเบี้ยประชุมกรรมาธิการหรือกรรมการหรือค่าสอน ค่าสอบที่ทางราชการหรือสถานศึกษาของทางราชการจ่ายให้เป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้น ไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้
ในทางปฏิบัติ มีประเด็นที่ขอหารือดังนี้ หน่วยงาน A ขอหารือเกี่ยวกับการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย สำหรับค่าเบี้ยประชุมที่จ่ายให้แก่กรรมการ อนุกรรมการ หรือผู้ทำงาน ตามระเบียบคณะกรรมการ ว่าต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายไว้หรือไม่ อย่างไร โดยหน่วยงาน A เห็นว่า ค่าเบี้ยประชุมที่หน่วยงาน A ได้จ่ายให้แก่ กรรมการ อนุกรรมการ หรือผู้ทำงานนั้นเป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 42 (7) แห่งประมวลรัษฎากร เนื่องจากหน่วยงาน A เป็นหน่วยงานที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีเช่นเดียวกับส่วนราชการทั่วไป ดังนั้น หน่วยงาน A จึงไม่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย สำหรับค่าเบี้ยประชุมดังกล่าวแต่อย่างใด แนววินิจฉัยตามข้อกฎหมายมาตรา 40 (2) มาตรา 42 (7) และมาตรา 50 (1) แห่งประมวลรัษฎากร เนื่องจากหน่วยงาน A ไม่มีฐานะเป็นส่วนราชการ ด้วยเหตุนี้ ค่าเบี้ยประชุมที่หน่วยงาน A จ่ายให้แก่คณะกรรมการจึงไม่ใช่เบี้ยประชุมที่ทางราชการเป็นผู้จ่าย ซึ่งไม่เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้น ไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 42 (7) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น ค่าเบี้ยประชุมดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) แห่งประมวลรัษฎากร หน่วยงาน A ในฐานะผู้จ่ายเงินได้เงินได้พึงประเมินมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย สำหรับค่าเบี้ยประชุมดังกล่าว ตามมาตรา 50 (1) แห่งประมวลรัษฎากร (เลขที่หนังสือ กค 0702/1389, มีนาคม 2566)