การปรับตัวของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีต่อการเปลี่ยนแปลง

  • Post author:
  • Post category:Uncategorized

ในทุกๆ สาขาวิชาชีพมักต้องเผชิญกับสิ่งท้าทายตลอดเวลา วิชาชีพบัญชีก็เช่นกัน ต้องเผชิญกับสิ่งใหม่ ๆ ที่นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงของกระบวนการทางธุรกิจ ทำให้นักบัญชีต้องลดบทบาทจากการทำหน้าที่เป็นเพียงผู้ลงบัญชี (Bookkeeper) กลายมาเป็นนักวิเคราะห์มากขึ้น นักบัญชีจะต้องเพิ่มพูนความรู้และการใช้เครื่องมือเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อผสมผสานเข้ากันได้กับความต้องการของธุรกิจ กระบวนการทำงาน และแม้แต่ความต้องการของลูกค้า ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีจึงต้องสร้างพลังเชิงรุกเพื่อเดินไปข้างหน้าให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง ซึ่งสิ่งที่ต้องปรับตัว ได้แก่

1. การเรียนรู้ทักษะใหม่ (Reskill) ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีควรฝึกอบรมและพัฒนาทักษะใหม่เพื่อให้สามารถทำงานที่แตกต่างไปจากงานเดิมที่ทำอยู่ได้ หรือกล่าวได้ว่าเป็นการเปลี่ยนทักษะโดยเรียนรู้ในเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับสายงานเดิม เพื่อให้ก้าวทันต่อความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น พนักงานที่ทำหน้าที่บันทึกบัญชี ได้รับการฝึกฝนความรู้ใหม่เกี่ยวกับการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Analytics) รวมทั้งความรู้ใหม่เกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ เพื่อใช้ในการตรวจสอบการทุจริตหรือประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดการทุจริต เป็นต้น

2. การยกระดับทักษะเดิมให้สูงขึ้น (Upskilling) ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีจะต้องเพิ่มพูนทักษะเดิมให้มีมากขึ้นด้วยการเสริมเพิ่มเติมองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของตน เพื่อให้ทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น บริษัทได้นำเทคโนโลยี RPA มาใช้ในการทำบัญชี ดังนั้น พนักงานที่ทำหน้าที่บันทึกข้อมูลเข้า (Data Entry) จะต้องเรียนรู้การทำงานของเทคโนโลยี RPA ที่เป็นระบบอัตโนมัติ เป็นต้น การยกระดับทักษะเดิมให้สูงขึ้น นอกจากจะช่วยให้พนักงานมีความภูมิใจในการทำงานแล้วยังก่อให้เกิดประโยชน์เพิ่มแก่องค์กร การยกระดับทักษะเป็นการดำเนินงานในระยะยาว เพราะต้องให้การเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง และช่วยให้พนักงานเติบโตก้าวหน้าในสายงานที่ดำรงอยู่ ทำให้พนักงานมีความสามารถและมีสมรรถนะตามที่ต้องการพัฒนาในงานที่ทำตราบเท่าที่งานนั้นยังมีความเกี่ยวข้องกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ซึ่งจะทำให้องค์กรสร้างคนที่จะช่วยให้องค์กรอยู่รอดด้วย

3. การเพิ่มทักษะด้านความรู้ (Hard Skills) ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีต้องมีทักษะความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการประกอบวิชาชีพ ซึ่งที่สำคัญได้แก่  ความรู้เกี่ยวกับมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ปรับปรุงใหม่อยู่เสมอ ความรู้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงาน ความรู้เกี่ยวกับธุรกิจขององค์กรที่ตนปฏิบบัติงานให้ ความสามารถในการใช้ซอฟต์แวร์ รวมทั้งต้องติดตามเทคโนโลยีสารสนเทศใหม่ ๆ เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงและสามารถใช้ระบบได้อย่างมั่นใจ เพื่อให้สามารถจัดทำงบการเงินได้ถูกต้องและทันเวลา เช่น คลาวด์แอคเคาน์ติ้ง เทคโนโลยี RPA ซอฟต์แวร์ ERP เป็นต้น นอกจากนี้ การให้ความใส่ใจในรายละเอียด เป็นทักษะสำคัญที่จะช่วยให้มั่นใจได้ว่างบการเงินมีความถูกต้องและมีการปฏิบติในการใช้มาตรฐานการรายงานทางการเงินอย่างเดียวกันสำหรับรายการธุรกิจเดียวกันนั้น หรือที่เรียกว่า หลักความสม่ำเสมอ เพราะจะช่วยให้มีการตรวจสอบข้อมูลทางการเงิน และจะช่วยให้โอกาสที่จะเกิดข้อผิดพลาดน้อยลง

  1. การมีทักษะด้านอารมณ์ (Soft Skills) นับว่ามีความสำคัญในการประกอบวิชาชีพบัญชีมากยิ่งขึ้นไม่น้อยไปกว่าการมีทักษะด้านความรู้ในวิชาชีพ  เพราะทักษะด้านอารมณ์ โดยเฉพาะการมีความเห็นอกเห็นใจ (Empathy) มีมนุษยสัมพันธ์ มีความคิดสร้างสรรค์ (Creativity)  จะช่วยให้การทำงาน รวมทั้งการเป็นผู้นำทีมประสบความสำเร็จ  ทักษะด้านอารมณ์ ได้แก่ ทักษะด้านการสื่อสาร การคิดอย่างมีวิจารณญาณ ทักษะในการแก้ปัญหาและทักษะในการให้บริการ