ผลกระทบการท่องเที่ยวจากวัฒนธรรมกระแสนิยมของละคร กรณีศึกษาจังหวัดเชียงใหม่

  • Post author:
  • Post category:Uncategorized

วัฒนธรรมธรรมกระแสนิยม หรือ Pop Culture เป็นที่รู้จักในหลากหลายรูปแบบ เช่น วัฒนธรรมกระแสนิยม วัฒนธรรมประชานิยม วัฒนธรรมสมัยนิยม กระแสป๊อป หรือทับศัพท์คำว่า ป๊อปคัลเจอร์ เป็นต้น วัฒนธรรมกระแสนิยม หมายถึง วัฒนธรรมที่ได้รับการยอมรับหรือได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายจากคนจำนวนมาก โดยเป็นสิ่งที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นมา และถูกเผยแพร่ผ่านทางสื่อมวลชนต่างๆ เช่น เพลง ละคร ภาพยนตร์ นิยายหรือวรรณกรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้คนจะพบเจอได้ในชีวิตประจำวัน วัฒนธรรมกระแสนิยมยังมีผลกระทบต่อรสนิยม ความพึงพอใจ กริยาท่าทางและวิถีการดำเนินชีวิตของผู้คนเป็นจำนวนมาก วัฒนธรรมกระแสนิยมจึงอยู่รอบตัวและเป็นสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวันที่สังคมให้ความนิยม รวมถึงเรื่องราวที่ได้รับการนำเสนอผ่านสื่อมวลชน ศิลปะ ดนตรี ภาพยนตร์ ละคร หนังสือ งานเขียนต่างๆ ที่ได้รับความนิยม รายการโทรทัศน์หรือแม้แต่อาหารที่รับประทานในปัจจุบันได้รับอิทธิพลจากกระแสวัฒนธรรมกระแสนิยมเกือบทั้งสิ้น

ปัจจุบันนโยบายของภาครัฐมีการส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยมีการประชาสัมพันธ์ผ่านตามสื่อต่างๆ เช่น ทางโทรทัศน์ สื่อโซเชียลมีเดีย หรือเว็บไซต์การท่องเที่ยวต่างๆ โดยหนึ่งในเหตุผลที่นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้นคือ การได้รับอิทธิพลมาจากภาพยนตร์ ละคร และรายการโทรทัศน์ เนื่องจากประเทศไทยเป็นสถานที่ที่น่าสนใจสำหรับภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด และโปรดักชั่นของประเทศอื่นๆ ช่วงครึ่งปีแรกของปี 2562 มีภาพยนตร์ต่างประเทศมาถ่ายทำในประเทศไทยทั้งหมด 462 เรื่อง ทำรายได้ให้กับประเทศประมาณ 3,750.31 ล้านบาท

ละครเป็นรายการโทรทัศน์ประเภทหนึ่งที่ผู้คนในปัจจุบันนิยมรับชมเป็นอย่างมากกระแสความนิยม โดยสื่อโทรทัศน์เป็นเครื่องมือที่มีความสามารถในการสื่อสารสูง แม้จะไม่ได้รับชมจากโทรทัศน์โดยตรงแต่ก็รับชมผ่านทางช่องทางอื่น เช่น ช่องทางออนไลน์ ทั้งนี้สื่อละครถือเป็นเครื่องมือที่สามารถให้ความรู้ในทางอ้อมให้แก่ผู้ชม รวมถึงสามารถสร้างกระแสความนิยมได้เพียงชั่วข้ามคืน สำหรับประเทศไทย กระแสความนิยมของละครบุพเพสันนิวาสมีการพูดถึงในสื่อออนไลน์อย่างทวิตเตอร์หลังจากการออกอากาศเมื่อ 7 มี.ค. 2561 จนครองอันดับ 1 ความนิยมบนทวิตเตอร์ในประเทศ ทำให้เกิดปรากฏการณ์การตามกระแสนิยมของคนไทย ที่สามารถกระตุ้นการท่องเที่ยวในจังหวัดพระนครศรีอยุธยามีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยวันละ 15,000 คน และไม่เฉพาะแต่คนไทยเพียงเท่านั้น รวมทั้งยังมีผู้ชมในประเทศจีน ประเทศเวียดนาม และประเทศเกาหลีใต้ที่ให้ความสนใจละครบุพเพสันนิวาส

ในระหว่างปี 2560-2562 มีละคร 5 เรื่องที่ใช้สถานที่ถ่ายทำในเชียงใหม่ ได้แก่ เพลิงพระนาง รากนครา บ่วงบรรจถรณ์ เพลิงพรางเทียน และกลิ่นกาสะลอง เนื่องจากจังหวัดเชียงใหม่เป็นอีกจังหวัดท่องเที่ยวที่สำคัญของภาคเหนือ มีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่สืบทอดยาวนานมากกว่า 700 ปี มีแหล่งท่องเที่ยวทั้งทางธรรมชาติ ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมมากมาย รวมถึงขนมธรรมเนียมประเพณีต่างๆ จึงทำให้ถูกใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำของละครและภาพยนตร์มากมาย เช่น 1) ละครเรื่องเพลิงพรางเทียน ซึ่งสถานที่ที่ใช้ในการถ่ายทำคือ ประตูเมืองทั้ง 5 ด้านของจังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่ ประตูท่าแพ ประตูเชียงใหม่ ประตูสวนปรุง ประตูสวนดอก ประตูช้างเผือก และ 2) ละครเรื่องกลิ่นกาสะลอง ที่ถ่ายทำในวัดเจ็ดยอด อำาเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ วัดเก่าแก่ประจำจังหวัดเชียงใหม่ โดยสถานที่ต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในละคร เป็นที่พูดถึงกันอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบของการท่องเที่ยวจากวัฒนธรรมกระแสนิยม (Pop culture) ของละครที่ถ่ายทำในจังหวัดเชียงใหม่ อาจก่อให้เกิดผลกระทบทั้งเชิงบวกและเชิงลบในด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคมและวัฒนธรรม และด้านสิ่งแวดล้อม ดังนี้

ผลกระทบด้านเศรษฐกิจเชิงบวก ได้แก่ (1) กระตุ้นให้เกิดการค้าขายและกระจายรายได้ในชุมชนที่ดีขึ้น

(2) ก่อให้เกิดรายได้มาสู่ชุมชนท้องถิ่นจากการที่นักท่องเที่ยวเดินมาท่องเที่ยวตามสถานที่ที่มีการถ่ายทำละครและทำให้เศรษฐกิจภายในชุมชนดีขึ้น (3) ทำให้เพิ่มโอกาสในการสร้างอาชีพในชุมชน (4) ช่วยให้ระบบสาธารณูปโภคในชุมชนดีขึ้น ส่วนผลกระทบเชิงลบ ได้แก่ (1) ทำให้คนที่ประกอบอาชีพด้านการท่องเที่ยวมีรายได้แตกต่างกับคนที่ไม่ได้ประกอบอาชีพด้านการท่องเที่ยว (2) ทำให้ราคาสินค้าในชีวิตประจำวันเพิ่มสูงขึ้น (3) ทำให้เกิดแรงงานอพยพเข้ามาในพื้นที่ชุมชนเพิ่มขึ้น (4) ทำให้ที่ดินและทรัพย์สินภายในชุมชนมีมูลค่าสูงขึ้น     

ผลกระทบด้านสังคมและวัฒนธรรมเชิงบวก ได้แก่ (1) ทำให้เกิดการฟื้นฟูและเผยแพร่วัฒนธรรมท้องถิ่น

(2) ทำให้เสริมคุณค่าและให้ความสำคัญกับสถานที่ที่ใช้เป็นฉากถ่ายทำในชุมชนของท่านมากขึ้น (3) ทำให้เกิดความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมท้องถิ่น (4) ช่วยสนับสนุนและฟื้นฟูวิถีชีวิตของคนในชุมชน ส่วนผลกระทบเชิงลบ ได้แก่ (1) ทำให้ชุมชนถูกกำหนดบทบาทให้เป็นผู้ให้บริการมากกว่าเจ้าบ้าน (2) ทำให้เกิดการผสมผสานวัฒนธรรมใหม่จากบุคคลภายนอก (3) ทำให้เกิดการตระหนกทางวัฒนธรรม (Cultural Shock) เกิดความรู้สึก

รับไม่ได้กับพฤติกรรมบุคคลภายนอก (4) การท่องเที่ยวตามกระแสละครทำให้เกิดอาชญากรรมเพิ่มขึ้นส่งผลต่อความปลอดภัยในชุมชน

ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเชิงบวก ได้แก่ (1) ส่งผลให้เกิดการปรับภูมิทัศน์ของแหล่งท่องเที่ยวเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวทำให้สภาพแวดล้อมแหล่งท่องเที่ยวนั้นๆ น่าอยู่ขึ้น (2) ส่งผลให้คนในชุมชนเกิดความรู้สึกรักและหวงแหนทรัพยากรและสภาวะแวดล้อมมากขึ้น (3) ทำให้ชุมชนใส่ใจในการอนุรักษ์สภาพแวดล้อมในชุมชนมากขึ้น (4) ทำให้มีการพัฒนาพื้นที่ว่างเปล่าให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ ส่วนผลกระทบเชิงลบ ได้แก่

(1) ทำให้มีปริมาณขยะมูลฝอยเพิ่มมากขึ้น (2) ทำให้มีการพัฒนามากเกินความจำเป็น เช่น การจราจรติดขัด เนื่องจากการเดินทางมาท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยว (3) ทำให้เกิดมลภาวะทางอากาศและมลพิษทางเสียง ทำให้รบกวนคนในชุมชน (4) ทำให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการทำลายสภาพแวดล้อมในชุมชน ที่มา อรไท ครุธเวโช, ณัฐิกา ทานนท์, ศุภรัตน์ หาญสมบัติ, กุลทิราณี บุญชัย, วรพจน์ ตรีสุข. (2564). วารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนครพนม, 11[1], หน้า 274-287.