การพัฒนาชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)

  • Post author:
  • Post category:Uncategorized

การพัฒนาชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ถือเป็นกระบวนการหนึ่งที่มีส่วนในการขับเคลื่อนสังคมไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เนื่องจากฐานคิดของการพัฒนาชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม มาจากแนวความคิดของการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ซึ่งได้มีพัฒนาการไปเป็นการท่องเที่ยวทางเลือกในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การท่องเที่ยวโดยชุมชน เป็นต้น จนนำไปสู่การจัดการท่องเที่ยวทางเลือกที่มีรูปแบบเฉพาะมากขึ้นในปัจจุบัน เช่น ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เมื่อนำการพัฒนาชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม มาวิเคราะห์เปรียบเทียบกับ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs จะพบว่าชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม มีส่วนในการขับเคลื่อนสังคมไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน จำนวน 11 เป้าหมาย จากทั้งหมด 17 เป้าหมาย ดังนี้

เป้าหมาย SDGs ที่ 1: ขจัดความยากจนทุกรูปแบบในทุกพื้นที่

แนวทางของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน: สร้างหลักประกันว่าจะมีการระดมทรัพยากรอย่างมีนัยสำคัญจากแหล่งที่หลากหลาย รวมไปถึงการยกระดับความร่วมมือเพื่อการพัฒนา เพื่อที่จะจัดให้มีแนวทางที่เพียงพอและคาดเดาได้แก่ประเทศกำลังพัฒนา เฉพาะอย่างยิ่งประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ในการดำเนินงานตามแผนงานและนโยบายเพื่อยุติความยากจนในทุกมิติ

การพัฒนาชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม: ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมมีการจัดการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมและทรัพยากรในท้องถิ่นอย่างมีส่วนร่วมที่นำไปสู่การต่อยอดให้เกิดเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ มีการกระจายรายได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม

เป้าหมาย SDGs ที่ 2: ยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหารและยกระดับโภชนาการและส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน

แนวทางของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน: 1) เพิ่มผลิตภาพทางการเกษตรและรายได้ของผู้ผลิตอาหารรายเล็ก โดยเฉพาะผู้หญิง คนพื้นเมือง เกษตรกรแบบครอบครัว คนเลี้ยงปศุสัตว์ ชาวประมง ให้เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า โดยรวมถึงการเข้าถึงที่ดินและทรัพยากรและปัจจัยนำเข้าในการผลิต ความรู้ บริการทางการเงิน ตลาด และโอกาสสำหรับการเพิ่มมูลค่าและการจ้างงานนอกฟาร์มอย่างปลอดภัยและเท่าเทียม 2) คงความหลายหลายทางพันธุกรรมของเมล็ดพันธุ์พืชที่ใช้เพาะปลูก สัตว์ในไร่นาและที่เลี้ยงตามบ้านเรือน และชนิดพันธุ์ตามธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับพืชและสัตว์เหล่านั้น รวมถึงให้มีธนาคารเมล็ดพันธุ์และพืชที่มีการจัดการที่ดีและมีความหลากหลายทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติ

การพัฒนาชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม: 1) ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเป็นกลไกหนึ่งของการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทรัพยากร ผลผลิต และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เปิดโอกาสให้คนทุกกลุ่ม รวมถึงก่อให้เกิดการจ้างงานและการสร้างอาชีพในท้องถิ่นเพิ่มขึ้น 2) กระบวนการในการจัดการวัฒนธรรมของชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมครอบคลุมถึงการอนุรักษ์ฐานอาหารและพันธุกรรมพืชท้องถิ่น รวมถึงวิถีชีวิตการทำมาหากินจากฐานทรัพยากรธรรมชาติ

เป้าหมาย SDGs ที่ 4: สร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต

แนวทางของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน: สร้างหลักประกันว่าผู้เรียนทุกคนได้รับความรู้และทักษะที่จำเป็นสำหรับส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมไปถึงการศึกษาสำหรับการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการมีวิถีชีวิตที่ยั่งยืน สิทธิมนุษยชน ความเสมอภาคระหว่างเพศ การส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งความสงบสุขและไม่ใช้ความรุนแรง การเป็นพลเมืองของโลก และความนิยมในความหลากหลายทางวัฒนธรรมและในส่วนร่วมของวัฒนธรรมต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

การพัฒนาชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม: ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมให้ความสำคัญต่อการเคารพสิทธิและความหลากหลายทางวัฒนธรรม การส่งเสริมองค์ความรู้ทางวัฒนธรรม ในรูปแบบการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่เปิดโอกาสให้ผู้สนใจทุกกลุ่ม

เป้าหมาย SDGs ที่ 5: บรรลุความเท่าเทียมระหว่างเพศ และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่สตรีและเด็กหญิง

แนวทางของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน: ยุติการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบที่มีต่อผู้หญิงและเด็กหญิงในทุกที่สร้างหลักประกันว่าผู้หญิงจะมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่และมีประสิทธิผลและมีโอกาสที่เท่าเทียมในการเป็นผู้นำในทุกระดับของการตัดสินใจในทางการเมือง เศรษฐกิจ และภาคสาธารณะ  

การพัฒนาชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม: ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมให้ความสำคัญต่อกระบวนการมีส่วนร่วม และเปิดโอกาสให้เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ได้แสดงความสามารถ และมีบทบาทในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น

เป้าหมาย SDGs ที่ 8: ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน การจ้างงานเต็มที่ มีผลิตภาพ และการมีงานที่เหมาะสมสำหรับทุกคน

แนวทางของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน: 1) ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจต่อหัวประชากรมีความยั่งยืนตามบริบทของประเทศ 2) ส่งเสริมนโยบายที่มุ่งการพัฒนาที่สนับสนุนกิจกรรมที่มีผลิตภาพ การสร้างงานที่สมควร ความเป็นผู้ประกอบการ ความสร้างสรรค์และนวัตกรรม และส่งเสริมการเกิดและการเติบโตของวิสาหกิจรายย่อยขนาดเล็กและขนาดกลาง 3) ออกแบบและใช้นโยบายที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนที่จะสร้างงานและส่งเสริมวัฒนธรรมและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น  

การพัฒนาชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม: ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเป็นกระบวนการที่ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการรายย่อย ผู้ประกอบการในท้องถิ่นเข้าถึงโอกาสทางการตลาด และการสร้างสรรค์ ต่อยอดผลิตภัณฑ์เชิงนวัตกรรม ส่งผลต่อการสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานราก การสร้างงานสร้างอาชีพในท้องถิ่น

เป้าหมาย SDGs ที่ 10: ลดความไม่เสมอภาคภายในประเทศและระหว่างประเทศ

แนวทางของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน: ให้อำนาจและส่งเสริมความครอบคลุมด้านสังคม เศรษฐกิจและการเมืองสำหรับทุกคน โดยไม่คำนึงถึงอายุ เพศ ความบกพร่องทางร่างกาย เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ แหล่งกำเนิด ศาสนา หรือสถานะทางเศรษฐกิจหรืออื่น ๆ  

การพัฒนาชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม: ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมให้ความสำคัญต่อการเคารพสิทธิและความหลากหลายทางวัฒนธรรม เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ ศาสนา เป็นกระบวนการที่สร้างการเรียนรู้ความแตกต่างในสังคม การให้คุณค่ากับความเป็นมนุษย์ที่มีศักยภาพและความสมารถในด้านต่าง ๆ มากกว่าการให้คุณค่าจากสถานะทางเศรษฐกิจหรืออื่น ๆ

เป้าหมาย SDGs ที่ 11: ทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความครอบคลุม ปลอดภัย มีภูมิต้านทานและยั่งยืน

แนวทางของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน: 1) ยกระดับการพัฒนาเมืองและขีดความสามารถให้ครอบคลุมและยั่งยืน เพื่อการวางแผนและการบริหารจัดการการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์อย่างมีส่วนร่วม บูรณาการและยั่งยืนในทุกประเทศ 2) เสริมความพยายามที่จะปกป้องและคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติของโลก  

การพัฒนาชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม: 1)ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเป็นกระบวนการที่นำไปสู่การพัฒนาชุมชนและเมืองอย่างมีทิศทาง ซึ่งมีส่วนช่วยในการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนท้องถิ่น

2) เป็นกลไกสำคัญที่ทำให้เกิดการปกป้องและคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ

เป้าหมาย SDGs ที่ 12: สร้างหลักประกันให้มีรูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน

แนวทางของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน: 1) บรรลุการจัดการที่ยั่งยืนและการใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ 2) สร้างหลักประกันว่าประชาชนในทุกแห่งมีข้อมูลที่เกี่ยวข้องและความตระหนักถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนและวิถีชีวิตที่สอดคล้องกับธรรมชาติ

การพัฒนาชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม: ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ให้ความสำคัญต่อการรักษาสิ่งแวดล้อม การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าซึ่งมีส่วนช่วยในการสร้างความตระหนักและสร้างจิตสำนึกให้กับคนในสังคมผ่านกระบวนการทางการท่องเที่ยว

เป้าหมาย SDGs ที่ 14: อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

แนวทางของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน: จัดให้มีการเข้าถึงทรัพยากรทางทะเลและตลาดสำหรับชาวประมงพื้นบ้านรายเล็ก

การพัฒนาชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม: ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเป็นกระบวนการที่ช่วยส่งเสริมวิถีชีวิต การทำประมงพื้นบ้าน ภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้านการจัดการทรัพยากรและการแปรรูปผลผลิตจากทะเล เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายย่อยในท้องถิ่นได้เข้าถึงตลาดและโอกาสในการพัฒนาผลิตภัณฑ์มากขึ้น

เป้าหมาย SDGs ที่ 15: ปกป้อง ฟื้นฟู และสนับสนุนการใช้ระบบนิเวศบนบกอย่างยั่งยืน จัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน ต่อสู้กับการกลายสภาพเป็นทะเลทราย หยุดการเสื่อมโทรมของที่ดินและฟื้นสภาพกลับมาใหม่ และหยุดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ

แนวทางของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน: 1) สร้างหลักประกันว่าจะมีการอนุรักษ์ระบบนิเวศภูเขาและความหลากหลายทางชีวภาพของระบบนิเวศเหล่านั้น เพื่อจะเพิ่มพูนขีดความสามารถของระบบนิเวศเหล่านั้นที่จะให้ผลประโยชน์อันสำคัญต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน 2) บูรณาการมูลค่าของระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพเข้าไปสู่การวางแผน กระบวนการพัฒนา ยุทธศาสตร์การลดความยากจน และบัญชีทั้งระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ

 การพัฒนาชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม: ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า โดยคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อระบบนิเวศ รวมทั้งมีส่วนช่วยในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับฐานทรัพยากรในท้องถิ่น

เป้าหมาย SDGs ที่ 16: ส่งเสริมสังคมที่สงบสุขและครอบคลุมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้ทุกคนเข้าถึงความยุติธรรมและสร้างสถาบันที่มีประสิทธิผลรับผิดชอบและครอบคลุมในทุกระดับ

แนวทางของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน: สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม และมีความเป็นตัวแทนที่ดีในทุกระดับการตัดสินใจ  

การพัฒนาชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม: ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เกิดขึ้นจากกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง มีกลไกการบริหารจัดการในรูปแบบองค์กร ซึ่งมีความเป็นประชาธิปไตยที่เปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็น และเข้ามาเป็นตัวแทนในการบริหารจัดการการท่องเที่ยวตามความสามารถของตนเอง

ที่มา วรพงศ์ ผูกภู่ (2564) การพัฒนาชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) โครงการวิจัย รูปแบบการพัฒนาชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม กรณีศึกษาพื้นที่ต้นแบบชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม

https://www.randdcreation.com/content/6832/การพัฒนาชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน-sdgs