1. ความรู้เกี่ยวกับโลกเพื่อการดำรงอยู่ในอนาคต โลกมีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาไปอย่างรวดเร็วในศตวรรษที่ 21 ทั่วทุกมุมโลกเชื่อมโยงถึงกันอย่างง่ายดาย มีการรวมกลุ่มกันทางเศรษฐกิจทั้งระดับภูมิภาค และระดับโลก การย้ายฐานพื้นที่ทางเศรษฐกิจและการลงทุน การเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ ความมั่นคงทางการเมืองการปกครอง ความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องเผชิญและรับมือ ดังนั้น มัคคุเทศก์จึงควรมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาตนเองให้มีคุณลักษณะดังต่อไปนี้
1.1 จิตสำนึกต่อโลก (Global Awareness) มัคคุเทศก์ควรสร้างความรู้ความเข้าใจเพื่อให้เกิดลักษณะของความเป็นสังคมโลก มีการเรียนรู้วิถีชีวิตที่อยู่ร่วมกันได้อย่างเหมาะสมในบริบททางสังคมที่แตกต่างกัน และมีความเข้าใจความเป็นมนุษย์ด้วยกันทั้งด้านเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรมและภาษา
1.2 ความรู้พื้นฐานด้านการเงิน เศรษฐกิจ ธุรกิจ และการเป็นผู้ประกอบการ (Financial Economic Business and Entrepreneurial Literacy) มัคคุเทศก์ควรมีความเข้าใจในบทบาทของเศรษฐศาสตร์ที่มีต่อบุคคลและสังคม รู้วิธีที่เหมาะสมสำหรับการสร้างตัวเลือกเชิงเศรษฐศาสตร์/เศรษฐกิจ และการใช้ทักษะของผู้ประกอบการในการยกระดับและเพิ่มประสิทธิผลด้านอาชีพ
1.3 ความรู้พื้นฐานด้านความเป็นพลเมือง (Civic Literacy) มัคคุเทศก์ควรตระหนักถึงการนำวิถีแห่งความเป็นประชาธิปไตยไปสู่สังคมในระดับต่าง ๆ มีส่วนร่วมทางสังคมผ่านวิธีการสร้างองค์ความรู้และความเข้าใจในกระบวนการทางการเมืองการปกครองที่ถูกต้อง และมีความเข้าใจต่อวิถีการปฏิบัติทางสังคมแห่งความเป็นพลเมืองทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับสากล
1.4 ความรู้ด้านสุขภาพอนามัย (Health Literacy) มัคคุเทศก์ควรมีความรู้ความเข้าใจขั้นพื้นฐานด้านข้อมูลสารสนเทศเกี่ยวกับภาวะสุขภาพอนามัยและนำไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต ใช้ประโยชน์จากสารสนเทศในการเสริมสร้างความเข้มแข็งทางด้านสุขภาพอนามัยได้อย่างเหมาะสมกับบุคคล เข้าใจวิธีการป้องกันแก้ไขรวมทั้งการเสริมสร้างภูมิคุมกันที่มีต่อสุขภาวะอนามัย ห่างไกลจากภาวะเสี่ยงจากโรคภัยไข้เจ็บที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกาย เฝ้าระวังทางด้านสุขภาพอนามัยทั้งส่วนบุคคลและครอบครัวให้เกิดความเข้มแข็ง เรียนรู้และเข้าใจประเด็นสำคัญการสร้างเสริมสุขภาวะทั้งในระดับชาติและระดับสากล
1.5 ความรู้พื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อม (Environment Literacy) มัคคุเทศก์ควรมีภูมิความรู้และความเข้าใจขั้นพื้นฐานและมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และป้องกันสภาพแวดล้อม มีความรู้ความเข้าใจในผลกระทบที่เกิดจากธรรมชาติที่ส่งผลต่อสังคม ทั้งในด้านการพัฒนาประชากร การเจริญเติบโตของสรรพสิ่ง และแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ วิเคราะห์ประเด็นสำคัญด้านสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติและกำหนดวิธีการป้องกัน แก้ไข รวมทั้งอนุรักษ์สภาพแวดล้อมเหล่านั้น และสร้างสังคมโดยรวมให้เกิดความร่วมมือในการอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรสิ่งแวดล้อม
2. ทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม (Learning and Innovation Skills) ทักษะด้านนี้มีจุดเน้นด้าน การคิดแบบมีวิจารณญาณและการแก้ปัญหา การสื่อสารและการร่วมมือทำงาน การคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม ซึ่งประกอบด้วย
2.1 การคิดแบบมีวิจารณญาณและการแก้ปัญหา (Critical Thinking & Problem Solving) เป็นทักษะที่เน้นด้านประสิทธิภาพของการใช้เหตุผลทั้งในเชิงนิรนัย (Inductive) และอุปนัย (Deductive) ได้เหมาะสมกับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น สามารถใช้วิธีคิดเชิงระบบ โดยคิดจากส่วนย่อยไปหาส่วนใหญ่อย่างเป็นองค์รวม และเป็นระบบครบวงจรในวิธีการคิดนั้น และเกิดประสิทธิภาพในการตัดสินใจ สำหรับการแก้ปัญหา สามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้หลากหลายเทคนิควิธีการตามสถานการณ์ที่เหมาะสมที่สุด
2.2 การคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม (Creatively and Innovation) โดยสร้างสรรค์สิ่งแปลกใหม่และเสริมสร้างคุณค่าทางความคิดและสติปัญญา มีความละเอียดรอบคอบต่อการคิดวิเคราะห์ และประเมินแนวความคิดเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงและพัฒนางานในเชิงสร้างสรรค์ สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างสร้างสรรค์ สามารถใช้วิกฤติสร้างให้เป็นโอกาส เข้าใจวิธีการสร้างสรรค์นวัตกรรมและสามารถนำข้อผิดพลาดมาปรับปรุงแก้ไขและพัฒนางานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2.3 การสื่อสารและการทำงานร่วมกับผู้อื่น (Communication and Collaboration) โดยสามารถสื่อสารได้ถูกต้อง ชัดเจน และมีประสิทธิภาพ ทั้งการพูด การฟังและการเขียน และสามารถใช้สื่อที่หลากหลายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนการทำงานร่วมกับผู้อื่นโดยมีความสามารถในการเป็นผู้นำในการทำงานและเป็นที่ยอมรับในทีมงาน มีความรับผิดชอบในงานและทำงานบรรลุผลตามที่มุ่งหวัง สร้างการมีส่วนร่วมในความรับผิดชอบและมองเห็นคุณค่าของการทำงานเป็นทีม
3. ทักษะด้านสารสนเทศ สื่อ และเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Media and Technology Skills) ประกอบด้วย
3.1 ความรู้พื้นฐานด้านสารสนเทศ มัคคุเทศก์ควรมีความสามารถในการเข้าถึงสารสนเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล รวมทั้งสามารถใช้วิจารญาณในการประเมินสารสนเทศเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานได้อย่างสร้างสรรค์
3.2 ความรู้พื้นฐานด้านสื่อ มัคคุเทศก์ควรมีความรู้ความเข้าใจในการผลิตสื่อให้ตรงกับวัตถุประสงค์ และสามารถใช้ให้ตอบสนองกับความต้องการของแต่ละคนภายใต้กรอบแห่งคุณธรรมจริยธรรม
3.3 ความรู้พื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) มัคคุเทศก์ควรมีความสามารถในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการสื่อสาร การเข้าถึงข้อมูลสารสนเทศ และการสร้างเครือข่ายได้อย่างเหมาะสม
4. ทักษะชีวิตและการทำงาน (Life and Career Skills) ประกอบด้วย
4.1 ความยืดหยุ่นและความสามารถในการปรับตัว มัคคุเทศก์ควรมีความสามารถในปรับตัวเพื่อการเปลี่ยนแปลงตามบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบและเกิดความยืดหยุ่นในการทำงาน สามารถสร้างความสมดุลในการทำงานและก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงสร้างสรรค์
4.2 ความคิดริเริ่มและการชี้นำตนเอง มัคคุเทศก์ควรมีความสามารถในการจัดการที่ดีด้านเป้าหมายและเวลา สามารถสร้างงานอิสระ และเป็นผู้นำที่มีประสิทธิภาพในตนเอง เป็นผู้นำในการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life Long Learning)
4.3 ทักษะทางสังคมและการเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรม มัคคุเทศก์ควรมีทักษะที่เน้นประสิทธิผลเชิงปฏิสัมพันธ์ร่วมกับผู้อื่น และการสร้างทีมงานที่มีคุณค่า
4.4 การเสริมสร้างผลิตภาพ มัคคุเทศก์อาจใช้แนวคิดของการเสริมสร้างผลิตภาพ (Productivity) ตามมุมมองของธุรกิจในการจัดการโครงการต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพนำมาเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จในการทำงานของตนเอง
4.5 ภาวะผู้นำและความรับผิดชอบ มัคคุเทศก์ควรพิจารณาถึงความสามารถในการเป็นต้นแบบและเป็นผู้นำที่มีความรับผิดชอบ (Responsibility) เพื่อการตัดสินใจในการจัดการกับปัญหาต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์ให้ผู้อื่นได้เรียนรู้อีกด้วย
ที่มา เบญจวรรณ ถนอมชยธวัช และคณะ (2559) อ้างใน วรรณา ศิลปอาชา (2565) การพัฒนาตนเองสำหรับอาชีพมัคคุเทศก์ (หน่วยที่ 7) ในเอกสารการสอนชุดวิชาความรู้เฉพาะอาชีพมัคคุเทศก์และการบริการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวนนทบุรี: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช