The Planning Nuances: ความแตกต่างของการวางแผน
ความแตกต่างของการวางแผนโดยเฉพาะความแตกต่างระหว่างแผนยุทธศาสตร์ แผนปฏิบัติงานระยะยาว และแผนปฏิบัติราชการ 4 ปี ของหน่วยงาน นั้น หากพิจารณาในรายละเอียด หน่วยงานที่ไม่ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์มาก่อน มักจะมีความเข้าใจผิดว่าแผนปฏิบัติงานระยะยาวที่เคยทำมาแต่เดิมหรือแผนปฏิบัติราชการ 4 ปี ตามนโยบายของรัฐบาลที่จัดทำขึ้น ก็คือ แผนยุทธศาสตร์ของหน่วยงาน ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ยังคลาดเคลื่อน ดังนั้น จึงควรมีการพิจารณาลักษณะของการวางแผนในรายละเอียดเพื่อจะได้ทราบถึงลักษณะเฉพาะในแต่ละประเภท ดังนี้
1. แผนยุทธศาสตร์ของหน่วยงาน
แผนยุทธศาสตร์ของหน่วยงาน มีลักษณะสำคัญ ดังนี้
1.1 แผนยุทธศาสตร์ให้ความสำคัญต่อความสัมพันธ์ของสภาพแวดล้อมในเชิงโอกาส และภัยคุกคามที่เปลี่ยนแปลงไปกับศักยภาพที่เป็นจุดแข็งและจุดอ่อนของหน่วยงาน เพื่อการกำหนดยุทธศาสตร์ของหน่วยงาน หากสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป ยุทธศาสตร์จะต้องปรับไปด้วย
1.2 แผนยุทธศาสตร์เน้นความเชื่อมโยงจากนโยบายลงมาที่ผลลัพธ์ และต่อลงมายังผลผลิตระยะยาวซึ่งเป็นตัวเชื่อมไปสู่การจัดทำแผนปฏิบัติการและการกำหนดกิจกรรม
1.3 แผนยุทธศาสตร์ให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholders) ในการจัดทำยุทธศาสตร์
2. แผนปฏิบัติงานระยะยาว
แผนปฏิบัติงานระยะยาวแบบดั้งเดิมของหน่วยงาน มีลักษณะสำคัญ ดังนี้
2.1 แผนปฏิบัติงานระยะยาวให้ความสำคัญต่อความสัมพันธ์ของสภาพปัญหากับสาเหตุของ ปัญหา เพื่อกำหนดโครงการและกิจกรรมของหน่วยงาน เพื่อแก้ไขปัญหา
2.2 แผนปฏิบัติงานระยะยาวเน้นความเชื่อมโยงระหว่างกิจกรรมกับงบประมาณ
2.3 แผนปฏิบัติงานระยะยาวให้ความสำคัญกับการกำหนดกิจกรรมโดยผู้ปฏิบัติงาน
3. แผนปฏิบัติราชการ 4 ปีของหน่วยงาน
แผนปฏิบัติราชการ 4 ปีของหน่วยงาน มีลักษณะสำคัญ ดังนี้
3.1 ให้ความสำคัญต่อความสัมพันธ์ของยุทธศาสตร์หลักของแผนบริหารราชการแผ่นดินกับผลผลิตของหน่วยงานที่ของบประมาณแผ่นดินแต่ไม่แสดงความเชื่อมโยงจากยุทธศาสตร์ของรัฐบาลผ่านผลลัพธ์ลงมายังผลผลิตระยะยาว
3.2 แสดงสภาพแวดล้อมในเชิงโอกาสและภัยคุกคาม รวมทั้ง ศักยภาพที่เป็นจุดแข็งและจุดอ่อนแบบแยกส่วน แต่ไม่ได้แสดงความสัมพันธ์ระหว่างกัน และไม่ได้แสดงว่าแผนการจัดทำผลผลิตจะสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ อย่างใด 3.3 ให้ความสำคัญกับการกำหนดผลผลิตโดยผู้บริหารของหน่วยงาน