The Nature of Planning: ธรรมชาติของการวางแผน
ธรรมชาติของการวางแผนนั้น มีลักษณะเป็นกระบวนการ โดยจุดเริ่มต้นของกระบวนการวางแผนเริ่มจากการกำหนดวัตถุประสงค์ กลยุทธ์และรายละเอียดของแผน เพื่อการบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว ภายใต้กระบวนการนี้จะต้องทำการจัดตั้งองค์การขึ้นมาสำหรับรับผิดชอบการตัดสินใจ การนำแผนไปปฏิบัติ รวมทั้งการทบทวนผลจากการปฏิบัติตามแผน และผลกระทบนี้เกิดขึ้นเพื่อประโยชน์ในการวิเคราะห์ปัญหา อุปสรรค และการปรับปรุงวงจรการวางแผนใหม่
ซุนวู กล่าวว่า “ไม่รู้เขา ไม่รู้เรา ร้อยรบ ก็จักพ่าย รู้เขา รู้เรา ร้อยรบ ก็จักชนะ” นับว่าเป็นแนวคิดที่อมตะในการนำมาใช้ในการบริหารองค์การทุกประเภท เนื่องจากเป็นต้นกำเนิดเกี่ยวกับแนวคิดการวางแผนเพื่อกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนขององค์การทั้งภาครัฐและเอกชน
การวางแผน ไม่ใช่การตัดสินใจในอนาคต แต่การวางแผนเป็นการตัดสินใจในปัจจุบันที่มีผลต่ออนาคต ดังนั้น ในการดำรงชีวิตอยู่ของมนุษย์ย่อมเกี่ยวข้องกับการวางแผนทั้งเรื่องส่วนตัวหรือเรื่องงาน ซึ่งเป็นการเตรียมกิจกรรมไว้ล่วงหน้า โดยในการทำงานหรือการบริหารงานขององค์การนั้น จะให้ความสำคัญกับการวางแผน เพื่อให้องค์การดำรงอยู่ได้ ดังนั้นการศึกษาเกี่ยวกับการวางแผนจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ
คำว่า “การวางแผน” มาจากภาษาอังกฤษว่า “Planning” มีรากศัพท์มาจากภาษาละตินว่า Plamum แปลว่า แบนหรือราบ (Flat) ซึ่งเป็นคำที่นำมาใช้ในภาษาอังกฤษ ในศตวรรษที่ 17 โดยใช้ในความหมายในวงแคบเกี่ยวกับการวาดภาพหรือการสเก็ตภาพวัตถุลงบนพื้นผิวราบ ลักษณะเดียวกับการเขียนภาพบนพิมพ์เขียว แต่ในปัจจุบันถูกนำมาใช้ในความหมายที่กว้างขวางมากขึ้น ทั้งในเรื่องการวางแผนส่วนบุคคล การวางแผนของกลุ่มกิจกรรมทางสังคม การวางแผนขององค์การเอกชน รวมทั้งการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของรัฐบาลโดยทั่วไป
การวางแผน หมายถึง การกำหนดเป้าประสงค์ (Goals) หรือวัตถุประสงค์ (Objectives) ขององค์การ รวมทั้งการกำหนดกลยุทธ์ (Strategies) เพื่อบรรลุเป้าประสงค์ของวัตถุประสงค์ดังกล่าว ตลอดจนการพัฒนาลำดับขั้นของการวางแผนอย่างครอบคลุม (Comprehensive) เพื่อที่จะบูรณาการและประสานกิจกรรมที่เกี่ยวข้องให้เป็นเอกภาพเดียวกัน ดังนั้น การวางแผนจึงเกี่ยวข้องกับทั้งเป้าหมาย (Ends) และวิธีการ (Means)
กล่าวโดยสรุป การวางแผน เป็นกระบวนการวิเคราะห์ ซึ่งครอบคลุมการประเมินสิ่งที่คาดว่า จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยมีความมุ่งมั่นที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ที่ต้องการภายใต้บริบทของอนาคตที่คาดหมายไว้ รวมทั้งการพัฒนาทางเลือกหรือชุดของการกระทำเพื่อการบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว ในการเลือกทางเลือกสำหรับการวางแผนที่จะนำไปปฏิบัตินั้น อาจเลือกทางเลือกใดทางเลือกหนึ่งหรือหลายๆ ทางเลือกจากทางเลือกที่มีอยู่ทั้งหมดก็ได้