ประเทศไทย 4.0 (Thailand 4.0)

ในปี 2558 ภายใต้การบริหารประเทศของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ริเริ่มนโยบายการปฏิรูปขึ้นในหลายๆ ด้าน นโยบายที่ได้รับความสนใจและถือเป็นหนึ่งในนโยบายหลักของรัฐบาลนี้คือ นโยบาย “ประเทศไทย 4.0 (Thailand 4.0)” ซึ่งเป็นโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภายใต้วิสัยทัศน์ “มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” ตามแนวคิดเรื่องอุตสาหกรรม 4.0 (Industry 4.0) จากประเทศเยอรมนี ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาระบบการผลิตอัจฉริยะ โดยใช้ระบบอัตโนมัติและใช้ระบบไร้สายในการควบคุมการผลิตทั้งหมด ปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่ “Value–Based Economy” หรือ “เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม” โมเดลประเทศไทย 4.0 หรือ ประเทศไทยในยุคที่ 4 เป็นการแบ่งยุคแห่งการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยเป็น 4 ยุค ดังนี้

ประเทศไทยในยุคที่ 1 เป็นยุคของการพัฒนาประเทศโดยเน้นการขับเคลื่อนด้วยเกษตรกรรม เนื่องจากประเทศไทยมีความอุดมสมบูรณ์ทางด้านทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจในยุคนี้จึงมีการพึ่งพาการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเป็นหลัก โดยเริ่มมีการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยไปยังต่างประเทศ

ประเทศไทยในยุคที่ 2 เป็นยุคของการพัฒนาอุตสาหกรรมเบา เป็นอุตสาหกรรมที่เน้นการผลิตสินค้าเพื่อทดแทนการนำเข้า เช่น รองเท้า เครื่องหนัง เครื่องดื่ม เครื่องประดับ เครื่องเขียน กระเป๋า เครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น

ประเทศไทยในยุคที่ 3 เป็นยุคที่เน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมหนักและการผลิตเพื่อการส่งออกมากขึ้น เช่น สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเคมี ปูนซีเมนต์ เหล็กกล้า ยานยนต์และชิ้นส่วนต่างๆ เป็นต้น เป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยภาคอุตสาหกรรมที่เน้นการพัฒนาประสิทธิภาพในการผลิตและการให้บริการขั้นพื้นฐานในการสร้างรายได้ให้แก่ประเทศ

ยุคที่ 3 ของประเทศ ถือเป็นช่วงเวลาที่กระแสโลกาภิวัตน์เปิดกว้าง มีการหลั่งไหลของทุนและเทคโนโลยีจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศ ทำให้อุตสาหกรรมไทยมีความซับซ้อนมากขึ้น มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิต จากการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้าเป็นการส่งเสริมการผลิตเพื่อส่งออก อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยสูงถึงร้อยละ 7-8 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการคาดหวังว่าประเทศไทยจะก้าวสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่เฉกเช่นเดียวกับประเทศเกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง และสิงคโปร์ แต่เทคโนโลยีและทุนของต่างชาติที่นำเข้ามาไม่มีกระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยีอย่างจริงจัง ขาดการสะสมทุนโดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาทุนมนุษย์ ประเทศไทยจึงถูกมองว่าเป็นประเทศที่ดูเหมือน “ทันสมัย แต่ไม่พัฒนา” การที่ไม่มีฐานรากที่แข็งแรง ไม่มีภูมิคุ้มกันที่เพียงพอ พึ่งพิงโอกาสของการค้าและการลงทุนจากภายนอก ในที่สุดประเทศไทยจึงต้องเผชิญกับวิกฤตต้มยำกุ้ง ในปี พ.ศ. 2540 ซึ่งหลังจากการเกิดวิกฤตในตอนนั้น อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยได้ตกมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 3-4 มาจนถึงปัจจุบันรวมเป็นเวลากว่า 20 ปี นี่คือภาวะของการติดอยู่ใน “กับดักประเทศรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap)” การติดอยู่ในกับดักประเทศรายได้ขนาดปานกลาง สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยกำลังติดอยู่ใน “Competitive Nutcracker” คือ การแข่งขันจากคู่แข่ง 2 กลุ่ม ซึ่งไทยไม่สามารถที่จะขยับขึ้นไปแข่งขันกับประเทศคู่แข่งขันที่ขับเคลื่อนด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์อย่างอิตาลี ญี่ปุ่น หรือเกาหลีใต้ได้ ในขณะเดียวกันก็ไม่สามารถขยับลงมาแข่งกับประเทศคู่แข่งขันที่ขับเคลื่อนด้วยการผลิตสินค้าต้นทุนต่ำ ด้วยแรงงานจำนวนมหาศาลและราคาถูกอย่างจีนหรือเวียดนามได้เช่นกัน ประเทศไทยจึงติดอยู่ตรงกลางที่เรียกว่า “Stuck in the Middle” (มหาวิทยาลัยพะเยา, 2559, น. 8)

นอกเหนือจากการติดอยู่ในกับดักประเทศรายได้ปานกลางแล้ว ประเทศไทยยังเผชิญกับ “กับดักความเหลื่อมล้ำ (Inequality Trap)” ช่องว่างของรายได้และโอกาสของคนจนและคนรวยถ่างออกมากขึ้น ในปี 2552 ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำทางรายได้สูงเป็นอันดับ 2 ของเอเซีย โดยหากพิจารณาสัดส่วนรายได้ของประชากรและการถือครองทรัพย์สินระหว่างปี 2531-2550 สัดส่วนรายได้ของประชากรร้อยละ 20 ที่รวยที่สุด มีรายได้รวมกันประมาณร้อยละ 55 ของรายได้รวมทั้งประเทศ ในขณะที่กลุ่มที่จนที่สุดร้อยละ 20 มีรายได้รวมเพียงร้อยละ 4 ของรายได้รวมทั้งประเทศเท่านั้น โดยสัดส่วนรายได้ดังกล่าวไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญในระยะเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา และข้อมูลการถือครองทรัพย์สินครัวเรือนในปี 2549 พบว่ากลุ่มประชากรที่รวยที่สุดร้อยละ 20 ของประเทศ มีทรัพย์สินประมาณ 70 เท่าของกลุ่มที่จนที่สุดร้อยละ 20 ของประเทศ และอีกหนึ่งกับดักที่ประเทศไทยเผชิญคือ “กับดักความไม่สมดุล (Imbalance Trap)” โดยในหลายทศวรรษที่ผ่านมาประเทศไทยเน้นความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ แต่ละเลยการรักษ์สิ่งแวดล้อม การสร้างสังคมที่อยู่ดีมีสุข และการยกระดับศักยภาพและภูมิปัญญามนุษย์ จนส่งผลกระทบเชิงลบในมิติต่างๆ มากมาย (มหาวิทยาลัยพะเยา, 2559, น. 8)

ดังนั้นในการที่จะก้าวข้ามปัญหาดังกล่าวจำเป็นต้องมีการปฏิรูปประเทศด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วนโดยใช้โมเดลประเทศไทย 4.0 เป็นเครื่องมือในการนำประเทศให้ก้าวไปสู่การเป็นประเทศที่มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน พัฒนาจากประเทศรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศรายได้สูง โดยจะต้องมีการปรับเปลี่ยนจากการขับเคลื่อนด้วยประสิทธิภาพเป็นการขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม และปรับเปลี่ยนจากการให้บริการพื้นฐานเป็นบริการที่ต้องใช้ทักษะขั้นสูง

นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้จัดทำ “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” ขึ้น โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2560-2579 เพื่อเป็นเป้าหมายการพัฒนาในระยะยาว และสอดคล้องกับนโยบายประเทศไทย 4.0 ซึ่งภายใต้ยุทธศาสตร์ชาตินี้ จะมีการกำหนดวิสัยทัศน์ เป้าหมายอนาคตของประเทศ และทิศทางในการขับเคลื่อนประเทศให้สอดคล้องกับประเด็นการเปลี่ยนแปลง และความท้าทายต่างๆ ของบริบทโลก และบริบทการพัฒนาภายในประเทศ เพื่อมุ่งสู่การบรรลุอนาคตของประเทศที่ตั้งไว้ (รัฐบาลไทย, 2560, น. 13)

จากการที่ในปี 2560 ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในการนำพาประเทศไปสู่ยุคประเทศไทย 4.0 ซึ่งในทุกภาคส่วนของรัฐได้รับถ่ายทอดนโยบายนี้และนำมาจัดทำยุทธศาสตร์ของตน เช่น ยุทธศาสตร์ปฏิรูปการศึกษา ของกระทรวงศึกษาธิการ ยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี ด้านสาธารณสุข ของกระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น หนึ่งในบรรดายุทธศาสตร์ต่างๆ เหล่านั้นคือ ยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมไทย 4.0 ซึ่งจัดทำขึ้นโดยกระทรวงอุตสาหกรรม มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นกรอบแนวทางในการขับเคลื่อนการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทยให้ก้าวไปสู่การเป็นอุตสาหกรรม 4.0 (Industry 4.0) สอดคล้องกับนโยบายประเทศไทย 4.0 ภายใต้วิสัยทัศน์ “มุ่งสู่อุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญาและเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลก” โดยตั้งเป้าหมายในระยะ 20 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2560 – 2579) ให้ภาคอุตสาหกรรมไทยมีอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือ GDP เฉลี่ยไม่น้อยกว่าร้อยละ 4.5 ต่อปี การลงทุนเติบโตเฉลี่ยไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ต่อปี มูลค่าการส่งออกขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 8 ต่อปี และผลิตภาพรวม หรือ TFP เติบโตเฉลี่ยไม่น้อยกว่าร้อยละ 2.0 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่จะส่งผลให้ประเทศไทยสามารถขยับสู่การเป็นประเทศรายได้สูงภายในปี 2579 ตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ (กระทรวงอุตสาหกรรม, 2559)