นักลงทุนระดับโลกมีสไตล์การลงทุนอย่างไร

รองศาสตราจารย์ ดร.กัลยานี ภาคอัต

นักลงทุนหลายท่านมีมุมมองการลงทุน หรือสไตล์การลงทุนไม่เหมือนกัน  ซึ่งเป็นเรื่องปัจเจกบุคคลที่มีบุคลิกภาพ หรืออุปนิสัยที่แตกต่างกัน  ทำให้ตลาดหลักทรัพย์เป็นศูนย์รวมความคิดเห็นที่แตกต่างกันไป  จึงทำให้ทิศทางของหุ้นแต่ละตัวมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดียวกันกับตลาดหรือเปลี่ยนแปลงในทิศทางตรงกันข้ามกับตลาดก็ได้  ในบทความนี้จะนำเสนอสไตล์การลงทุนของนักลงทุนระดับโลกแต่ละท่านว่าเป็นอย่างไร

ท่านแรกคือ วอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffett) เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงในด้านการลงทุนลำดับต้นๆ ของโลก มีลักษณะการลงทุนที่มีวินัย สุขุมและใจเย็น  โดยเฉพาะรูปแบบการลงทุนจะเน้นคุณค่า หรือ Value Investment (VI) ซึ่งการลงทุนจะเลือกหุ้นโดยวิเคราะห์ภาพรวมของบริษัท และการลงทุนที่มีระยะเวลายาวเปรียบเสมือนเจ้าของกิจการ สำหรับรูปแบบการลงทุนของวอร์เรน บัฟเฟตต์ ทำให้สามารถเอาชนะตลาดมาได้หลายทศวรรษ

ท่านที่สองคือ จอร์จ โซรอส (George Soros)  เป็นอีกท่านหนึ่งที่คนไทยรู้จักและจำกันได้ดีที่เดียวที่เข้ามาเก็งกำไรค่าเงินบาท และหลังจากนั้นประเทศไทยเกิดฟองสบู่แตกในเวลาต่อมา (ปี พ.ศ. 2540)  จอร์จ โซรอสถือได้ว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญในการตีความด้านทิศทางเศรษฐกิจ แล้วนำมาวิเคราะห์เพื่อคาดการณ์ถึงทิศทางของราคาประเภทหลักทรัพย์ที่เลือกลงทุนโดยเฉพาะตราสารหนี้และสกุลเงิน  นอกจากนี้  จอร์จ โซรอส ยังเป็นนักลงทุนระยะสั้นตัวยงทีเดียวที่ชอบความท้าทายกับความเสี่ยงในการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทใดๆ ก็ได้

ท่านที่สามคือ ปีเตอร์ ลินช์ (Peter Lynch) เป็นท่านที่ได้รับการยอมรับและมีชื่อเสียงจากการคิดค้นอัตราส่วน Price-to-Earnings-Growth [PEG : P/E Ratio/Net Profit Growth (%)]  ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ช่วยนักลงทุนสายเน้นคุณค่า หรือวีไอ (VI)  ในการวิเคราะห์ถึงศักยภาพการเจริญเติบโตของหุ้นเทียบกับราคาของหุ้นว่าสูงเกินไปที่จะเลือกลงทุนหรือไม่  โดยการอ่านค่า PEG อธิบายได้ดังนี้ 1) ค่า PEG ควรมีค่าระหว่าง 0 ถึง 1 แสดงว่าราคาหุ้นต่ำหว่าอัตราการเติบโต หรือหุ้นมีราคาถูก  2) ค่า PEG > 1 แสดงว่า P/E Ratio สูงกว่าอัตราการเติบโต หรือหุ้นนั้นมีราคาแพง  3) ค่า PEG < 0 เนื่องมาจากค่าอัตราการเติบโตมีค่าเป็นลบ หรือบริษัทไม่มีกำไร

ท่านสุดท้ายคือ บิลล์ กรอสส์ (Bill Gross)  เป็นบุคคลหนึ่งที่มีชื่อเสียงเป็นยอมรับกันในแวดวงของนักลงทุนด้านตราสารหนี้  โดยรูปแบบการลงทุนในตราสารหนี้เป็นแบบเชิงรุก  หากย้อนกลับไปราวช่วง 1970s เป็นช่วงที่การลงทุนในตราสารหนี้ไม่เป็นที่นิยมเท่ากับการลงทุนในหุ้น  บิลล์ กรอสส์ เป็นผู้ที่เปลี่ยนแปลงการลงทุนในตราสารหนี้อย่างมาก  โดยการเข้าไปบุกเบิกให้มีการซื้อขายกองทุนตราสารหนี้  ซึ่งในเวลาต่อมาได้ขยายไปลงทุนในตราสารหนี้ขยะ (Junk Bond) รวมถึงพันธบัตรของประเทศกำลังพัฒนา  ทำให้นักลงทุนเริ่มหันมาให้ความสนใจในการลงทุนตราสารหนี้มากขึ้น และการลงทุนตราสารในหนี้สามารถสร้างผลตอบแทนที่สูงไม่ต่างจากการลงทุนในหุ้นก็ว่าได้

ดังจะเห็นได้จากนักลงทุนระดับโลกทั้งสี่ท่านข้างต้น  สามารถช่วยในการสร้างแรงบันดาลใจ และการปรับเปลี่ยนแนวคิดของรูปแบบการลงทุนของตนเอง เพื่อให้เหมาะสมกับสไตล์การลงทุนของตนเอง โดยเฉพาะการจัดพอร์ตการลงทุนให้ทันต่อสถานการณ์ในแต่ละช่วงเวลาของทิศทางของตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป  แต่ยังคงได้รับผลตอบแทนรวมตามเป้าหมายที่ต้องการ  นับว่าเป็นสิ่งน่าสนใจไม่ใช่น้อยหากสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้จริง