Strategic Leadership of the Mayor of Yala City Municipality

จากการศึกษาของดาวนภา  เพชรจันทร์และ จิรวัฒน์ เมธาสุทธิรัตน์ พบว่านายกเทศมนตรีนครยะลา   (นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ) มีลักษณะภาวะผู้นำเชิงกลยุทธ์ที่โดดเด่น 8 ประการ ดังนี้

              1) เป็นผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกล นายกเทศมนตรีเป็นผู้ที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล ในการบริหารจัดการเมืองยะลา โดยบริหารจัดการในรูปแบบองค์รวมครอบคลุมพื้นที่ทั้งจังหวัดยะลา มิใช่มองแค่พื้นที่ของเทศบาลนครยะลา เป็นผู้มองอนาคตของจังหวัดยะลาในระยะยาว มีความสามารถในการพัฒนาต่อยอดโครงการและผลงานต่าง ๆ จนทำให้เทศบาลนครยะลามีชื่อเสียงได้รับการยอมรับจากประชาชน องค์กรภาครัฐ ภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ โดยได้รับรางวัลการันตีมากมายที่เป็นผลงานประจักษ์

              2) เป็นผู้บริหารที่เป็นต้นแบบให้กับบุคลากร นายกเทศมนตรีนครยะลาเป็นผู้มีความสามารถพิเศษ ในการจูงใจให้ผู้ใต้บังคับบัญชาให้ปฏิบัติตาม ทุ่มเทกับการทำงานมีศิลปะในการโน้มน้าวใจ อีกทั้งยังใช้ความสามารถที่ตนมีอยู่ในการเพิ่มขีดความสามารถของผู้ใต้บังคับบัญชาหรือบุคคลอื่น ทำให้บุคลากรในองค์การมีความเชื่อมั่นในการบริหารจัดการ มีความเข้มแข็งและมีความสามารถเพิ่มมากขึ้นพร้อมในการปฏิบัติงาน นายกเทศมนตรีนครยะลาเป็นเหมือนพี่เลี้ยงคอยดูแลแนะนำส่งเสริมการปฏิบัติงานของฝ่ายปฏิบัติ โดยการเปิดโอกาสให้พนักงานมีความเจริญเติบโตในหน้าที่การงาน รวมถึงการพัฒนาศักยภาพตนเองมุ่งที่จะสร้างคนเก่งเพื่อทำงานในองค์กร โดยใช้ตนเองเองเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติตนจนกลายเป็นแบบอย่างให้กับบุคลากร 

              3) เป็นผู้มีความเข้าใจบริบทของเมืองและการบริหารงานท้องถิ่น นายกเทศมนตรีนครยะลาเป็นผู้มีความรู้ความเข้าใจบริบทพื้นที่ยะลา มีการคิดและการพัฒนาในด้านต่าง ๆ ให้กับเมืองที่เกิดขึ้นด้วยความรัก ความผูกพันและความหวงแหนในความเป็นอัตลักษณ์ของเมือง มีความรู้ความใจในการบริหารงานท้องถิ่นเป็นอย่างดี การบริหารงานถูกกำหนดและวางแผนไว้อย่างเป็นระบบ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการปกครองท้องถิ่น เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดนโยบายและแผน เน้นการให้ความสำคัญไปที่การพัฒนาความรู้ความสามารถของบุคลากรในองค์กรสร้างวัฒนธรรมให้ข้าราชการ พนักงานมีความรักในยะลาและยึดโยงกับประชาชนเพื่อให้การทำงานเกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชนในท้องถิ่น มีความสามามารถในการบริหารงบประมาณของท้องถิ่น เน้นการตรวจสอบจากภาคประชาชน

              4) เป็นผู้ที่มีองค์ความรู้และทักษะในการสื่อสาร นายกเทศมนตรีนครยะลาเป็นผู้มีองค์ความรู้หลักในการบริหารงานภาครัฐ และองค์ความรู้ด้านอื่น ๆ ที่นำมาปรับใช้กับการบริหารจัดการได้เป็นอย่างดี ในด้านทักษะในการสื่อสาร เป็นคนที่พูดด้วยความชัดเจน ถ้อยคำ น้ำเสียง การออกเสียง สีหน้าและแววตา รวมถึงภาษาทางกายมีความเหมาะสมช่วยทำให้ผู้ฟังเก็บรายละเอียดของข้อมูลที่ส่งออกมาได้เป็นอย่างดีด้วยความสามารถเหล่านี้ประกอบกับประสบการณ์ในการบริหารงานและวิสัยทัศน์ที่โดดเด่น ทำให้นายกเทศมนตรีนครยะลาถูกเชิญไปเป็นวิทยากรและร่วมเสวนา บนเวทีระดับประเทศในหลากหลายเวที

              5) เป็นนักพัฒนาและใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการบริหารจัดการนายกเทศมนตรีนครยะลาเป็นผู้นำยุคใหม่ที่มีการปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลามีความรู้และมีวิสัยทัศน์มุ่งการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรมในการบริหารจัดการ ในการพัฒนาเมืองนายกเทศมนตรีนครยะลา เริ่มต้นจากการพัฒนาคน ในท้องถิ่นซึ่งการดำเนินการถูกถ่ายทอดผ่านโครงการหลากหลายโครงการเพื่อสร้างความรู้ ส่งเสริมความสามารถให้กับเด็กและเยาวชนในพื้นที่ โดยการเชื่อมโยงความรู้และประสบการณ์จากการศึกษาดูงานในประเทศและต่างประเทศมาพัฒนาเมือง 

              6) เป็นผู้ที่มีทักษะในการจัดการแบบมีส่วนร่วม นายกเทศมนตรีนครยะลาเน้นส่งเสริมและปลูกจิตสำนึกของประชาชนในท้องถิ่นให้เกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของเมืองมากที่สุดภายใต้หลัก    ธรรมาภิบาลโดยสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ตั้งแต่การร่วมคิด ร่วมวางแผน        ร่วมทำร่วมตัดสินใจ และร่วมตรวจสอบผ่านกิจกรรมและเวทีรับฟังความคิดเห็นที่หลากหลายและสามารถเข้าถึงได้ทุกกลุ่มวัย นายกเทศมนตรีนครยะลายังมีความสามารถโดดเด่นในการสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมจากภายนอก ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคส่วนอื่น ๆ ที่จะเข้ามาช่วยขับเคลื่อนนโยบายและโครงการต่าง ๆให้ประสบความสำเร็จ

              7) เป็นผู้มีความสามารถในการประสานความขัดแย้ง นายกเทศมนตรีนครยะลามีบทบาทสำคัญในการประสานความขัดแย้งและสร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นภายในองค์กรและในพื้นที่ มีการหลอมรวมในเรื่องของพหุวัฒนธรรม การออกแบบโครงการที่มีบริบทร่วมของทุกภาคส่วน เน้นให้การอยู่ร่วมกันของสังคมอย่างมีความสุขบนพื้นฐานของวัฒนธรรม ให้ความสำคัญกับโอกาสมากกว่าปัญหา ซึ่งจะมองย้อนกลับภายใต้สถานการณ์วิกฤติจะพลิกให้เป็นโอกาสในการสร้างเมือง

              8) เป็นผู้บริหารที่เข้าถึงและแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ นายกเทศมนตรีนครยะลาเป็นผู้บริหารที่ปฏิบัติงานเชิงรุก มีการลงพื้นที่ เข้าไปสัมผัสปัญหาคลุกคลีกับประชาชนโดยการประสานงานกับประธานชุมชน รวมถึงกลุ่มตัวแทนจากเครือข่ายต่าง ๆ เพื่อเป็นสื่อกลางในการเชื่อมโยงถึงประชาชนในทุกพื้นที่ ซึ่งประเด็นปัญหาของประชาชนต้องมาก่อนแนวนโยบายอื่น ๆ   การดำเนินการแก้ไขปัญหาถูกกำหนดผ่านการดำเนินงานยุทธศาสตร์และกำหนดเป็นแผนงานโครงการ เพื่อมุ่งแก้ไขปัญหา มุ่งพัฒนาพื้นที่ยะลา โดยมีเป้าหมายให้ประชาชนในพื้นที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยการใช้หรือสร้างนวัตกรรมมาช่วยเสริมในการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาเมืองยะลา

References

Metasuttirat, J. (2020). Leadership and Strategic Management in the Public Sector.Teaching Document for Strategic Management in Public Sector Management Science Sukhothai Thammathirat Open University.      Nonthaburi: Sukhothai Thammathirat Open University Press. [In Thai]

Sasithonsaowapha, N. (2017). Leadership and local government. Bangkok: Suan           Sunandha Rajabhat University. [In Thai]

Rattanasermphong, R. (2014). Concepts and principles of local administration.                     A collection of local academic programs Management Science Sukhothai    Thammathirat Open University. Nonthaburi: Sukhothai Thammathirat Open        University Press. [In Thai]

Andrew J. DuBrin (1998). Leadership: Research Findings, Practice, and Skills,   Eaglewood Cliff, NJ: Houghton Miffln.