ในวาระเฉลิมฉลองขึ้นปีใหม่ไทยและกรุงเทพฯครบ 240 ปี ได้มีโอกาสมาเยือนสงขลาอีกคราหนึ่ง ซึ่งก็นับไม่ถ้วนว่าเป็นครั้งที่เท่าไรเพราะหาดใหญ่/สงขลาเป็นจุดหมายปลายทางหนึ่งที่คนทั่วไปนิยมเดินทางไปท่องเที่ยวและสมัยหนึ่งเป็นแหล่งจับจ่ายสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้านำเข้าอีกมากมายหลายประเภท ตัวผู้เขียนเองเมื่อเรียนจบปริญญาโทใหม่ ๆ ก็เคยสมัครไปเป็นอาจารย์คณะวิทยาการจัดการมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ แม้ทางมหาวิทยาลัยจะตอบรับและให้เดินทางไปรายงานตัวได้ก็ได้ปฎิเสธไปเนื่องจากยังติดภาระการเรียนปริญญาโทอีกใบที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ทำให้ไม่อาจไปทำงานได้เนื่องจากการเดินทางสมัยนั้นที่เหมาะสมก็คงเป็นทางรถไฟ ซึ่งหากเดินทางเดือนหนึ่งขึ้นล่อง 4 เที่ยว เงินเดือนอาจารย์ C4 สมัยนั้นคงไม่พอเป็นแน่
เมื่อมารับราชการเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ก็เคยไปราชการสอนเสริมที่สงขลาหลายครั้ง ซึ่งการสอนเสริมระดับปริญญาตรีแต่เดิมสอนที่โรงเรียนวิชราวุธ สงขลา เคยมีประสบการณ์การเดินทางลำพังมาลงรถไฟที่หาดใหญ่ แล้วต่อแท๊กซี่จากหาดใหญ่ไปสงขลา เป็นประสบการณ์ที่ระทึกมากเพราะแท๊กซี่โดยสารสาธารณะเป็นรถอเมริกันคันใหญ่ เก้าอี้ข้างคนขับต้องรับผู้โดยสารสองคน ผู้เขียนสมัยนั้นยังตัวเล็กเอวประมาณ 21 นิ้วจึงได้เลือกนั่งหน้าข้างคนขับ ความระทึกเกิดขึ้นเมื่อเห็นคนขับรถหลับตาขับรถเป็นเวลานานเนื่องจากถนนเป็นทางตรงยาว ทำให้รู้สึกหวาดกลัวอย่างมากไม่ไปสอนเสริมที่สงขลาอีกเลย แต่หลังจากที่มหาวิทยาลัยเปิดการสอนระดับบัณฑิตศึกษาและเปลี่ยนสถานที่สัมมนาเสริมมาอยู่ที่หาดใหญ่จึงได้กลับมาสอนอีกหลายครั้ง
การเดินทางมาสงขลาครั้งนี้ เดินทางสนองนโยบายของรัฐในโครงการเราเที่ยวด้วยกัน จึงเดินทางโดยเครื่องบินมาลงที่สนามบินหาดใหญ่ สนามบินหาดใหญ่วันนี้แปลกตาจากเดิมมาก มีบริการฉีดวัคซินป้องกันโควิดฟรีที่เจ้าหน้าที่ต้อนรับดีมากไม่มีแถวคอยเลยแต่สมาชิกกลุ่มเราก็ไม่มีใครใช้บริการเลยสักคน ที่สนามบินร้านอาหาร และของฝากมีหลากหลายร้าน มีร้านโกไข่เจ้าดังด้วย สถานที่แรกที่เราไปเยี่ยมชมคือสวนสาธารณะเขาคอหงส์ซึ่งมีพื้นที่กว้างขวางมีบริการรถรางขึ้นไปนมัสการพระพุทธมงคลมหาราช และชมทัศนียภาพเมืองหาดใหญ่ รวมทั้งการแวะสักการระเจ้าแม่กวนอิม อาหารกลางวันคณะของเราไปร้านหนานหยวน ที่ข้างมอ. ไปฟินกับบะหมี่หมูแดง เกี้ยวกุ้งทอด ลูกชิ้นปลา และเคราหยกสุดอร่อยในตำนาน
ในช่วงบ่ายคณะของเราเดินทางไปเมืองสงขลา โดยทางรถยนต์ผ่านสะพานเปรม ติณสูรานนท์ แวะเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์คติชนวิทยา OTOP กลุ่มทอผ้าเกาะยอ จอดรถแวะซื้อเค้กจำปาดะมาชิม แล้วมุ่งไปเมืองเก่าสงขลายุคที่ 1 ที่เขาแดง ปรากฎว่าเมื่อถึงทางขึ้นเขาแดงเป็นเวลาสีโมงกว่าแล้ว พวกลุงๆป้าๆ คะเนแล้วว่าน่าจะเดินกันไม่ไหว เวลาไม่พอเลยไปแวะชมวัดบ่อทรัพย์ ซึ่งเป็นสถานที่สำคัญของศาสนาพุทธในเมืองเก่าสงขลานี้ ซึ่งมีการอยู่ร่วมกันของสามศาสนาอย่างน่าอัศจรรย์มาเนิ่นนาน
หลังจากวัดบ่อทรัพย์ตามแผนเดิมว่าจะเดินทางข้ามแพขนานยนต์กลับมาฝั่งเมืองสงขลาบ่อยาง แต่ปริมาณรถที่รอข้ามฟากมีมาก คณะจึงต้องกลับทางเดิม การวนรถกลับทางเดิมทำให้มีการตัดโปรแกรมที่จะไปชมเขาตังกวนซึ่งเป็นเขตเมืองเก่ายุคที่สองแหลมสนออกไปด้วย เราเดินทางไปเข้าพักที่ Wsote ที่ถนนกาญจนวนิชย์ซอย 27 ที่พักใหม่ สะอาดดี แต่ย่านนี้เป็นย่านหน้ามหาลัยทักษิณ และ มรภ สงขลา มีผู้คนพลุกพล่าน จราจรคับคั่ง ช่วงค่ำและเช้าที่ต้องออกไปทานอาหารข้ามถนนแต่ละครั้งดูหวาดเสียวไม่น้อยน่าจะมีสะพานข้ามถนนสักแห่งจะช่วยได้ไม่น้อยทีเดียว อย่างไรข้อดีอีกอย่างของการไปทานอาหารคือร้านค้าย่านนี้เข้าโครงการเราเที่ยวด้วยกันทำให้พวกเราอิ่มหมีพีมันกันถ้วนหน้า เย้……
เช้าวันที่สอง จุดมุ่งหมายคือศาลหลักเมืองสงขลา ซึ่งมีหลักเมืองถึงสองเสาคือสมัยรัชการที่ 3 และ 6 หลังจากการสักการะศาลหลักเมืองแล้วเราก็เริ่มเดินชมเมืองเก่าสงขลาที่ถนนนครนอก นครใน และนางงามและโชคดีที่ได้แวะไปที่โรงสีแดง ได้ฟังบรรยายเรื่องสงขลาสู่เมืองมรดกโลกที่ห้องนิทรรศการที่โรงสีแดงแห่งนี้ ทำให้ได้เห็นศักยภาพของเมืองสงขลาในการพัฒนาสู่การเป็นเมืองมรดกโลกในวันข้างหน้า ไม่ว่าจะเป็นอีก 5 ปีหรือ 10 ปีข้างหน้าเราก็เห็นในการพัฒนาเมืองสงขลาสู่มรดกโลก และขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเอาใจช่วยให้เมืองเก่าสงขลาได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกด้วยเถิด อย่างไรก็อดที่จะคิดถึงบทความที่ได้อ่านเมื่อคืนที่โรงแรม Wsotel คือบทความเรื่อง “การตั้งเป้าหมายไม่สำคัญเท่ากับการสร้างระบบ” การตั้งเป้าหมายการพัฒนาสงขลาสู่การเป็นเมืองมรดกโลกจะไม่สำเร็จลงได้หากมีแต่เป้าหมายหากไร้กิจกรรมการขับเคลื่อนพัฒนาสงขลาให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานของ UNESCO ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เป็นหน้าที่ของคนสงขลาและชาวไทยทุกคนที่จะให้ความร่วมมือกันอย่างเป็นระบบในการขับเคลื่อนสงขลาสู่เมืองมรดกโลก
บรรณานุกรม
ประชาชาติธุรกิจ สงขลาสู่เมืองมรดกโลก ในhttps://www prachachat.net>news2 (9 พ.ย. 2561)
พรสรัญ รุ่งเจริญกิจกุล (2021) “การตั้งเป้าหมายไม่สำคัญเท่ากับการสร้างระบบ” นิตยสาร Gourmet & Cuisine Issue 257 December, p.1