การประกันสังคม (Social Security) เป็นการสร้างหลักประกันพื้นฐานให้แก่ลูกจ้างที่ประสบเคราะห์ภัยที่ไม่ได้เกิดจากการปฏิบัติงาน ทั้งนี้เพื่อให้ลูกจ้างได้รับการรักษาพยาบาลและมีรายได้ต่อเนื่อง โดยที่ลูกจ้างต้องร่วมเป็นผู้ประกันตนและบังคับใช้แก่นายจ้างที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป นายจ้างและลูกจ้างต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนฝ่ายละเท่าๆกัน เงินที่จ่ายสมทบเข้ามานั้นจะถูกนำไปจัดตั้งเป็นกองทุน และจ่ายเป็นผลประโยชน์ทดแทนหรือให้ความคุ้มครองแก่ผู้ประกันตน ลูกจ้างหรือผู้ประกันตนนั้นมีสิทธิประโยชน์และความคุ้มครองรวม 7 กรณี ได้แก่ 1) เจ็บป่วย 2) คลอดบุตร 3) ทุพพลภาพ 4) ตาย 5) สงเคราะห์บุตร 6) ชราภาพ และ 7) ว่างงาน ทั้งนี้สิทธิประโยชน์และความคุ้มครองดังกล่าวขึ้นอยู่กับมาตราในการประกันตน และหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการเกิดสิทธิที่สำนักงานประกันสังคมประกาศกำหนด (ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, ม.ป.ป.; สิริพันธ์ พลรบ, 2555; สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน, 2564)
เอกสารอ้างอิง
1) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย. (ม.ป.ป.). ประกันสังคม. สืบค้นเมื่อ 7 พฤษภาคม 2566 จาก https://member.set.or.th/set/financialplanning/glossary.do?contentId=35
2) สิริพันธ์ พลรบ. (2555). กฎหมายประกันสังคม. ใน เอกสารการสอนชุดวิชากฎหมายแรงงาน (หน่วยที่ 7 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2). นนทบุรี: สำนักพิมพ์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
3) สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน. (2564). กองทุนประกันสังคม [แผ่นพับ]. ม.ป.ท.: ม.ป.พ..