ROA VS ROI

  • Post author:
  • Post category:Uncategorized

ROA ย่อมาจาก Return On Assets ในภาษาไทยเรียกว่า อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ ส่วน ROI ย่อมาจาก Return On Investment ในภาษาไทยเรียกว่า อัตราผลตอบแทนจากการลงทุน ทั้ง ROA กับ ROI จัดเป็นอัตราส่วนทางการเงินที่มีหน่วยเป็นเปอร์เซ็นต์ใช้วัดความสามารถในการทำกำไร (profitability) เช่นเดียวกัน แต่มีความแตกต่างกันดังนี้

ROA เป็นตัวชี้วัดประสิทธิภาพที่กิจการสามารถก่อให้เกิดกำไรโดยใช้สินทรัพย์ทั้งหมดที่มีอยู่  ตัวเลข ROA จะช่วยให้นักลงทุน คณะกรรมการบริหารของบริษัท และผู้สนใจทั่วไป ได้ทราบผลการดำเนินงานของบริษัท และประเมินความสามารถของผู้บริหารในการใช้ทรัพยากรของบริษัทว่าเป็นไปอย่างมีประสิทธิผลหรือไม่  ซึ่งสามารถใช้ ROA เพื่อเปรียบเทียบความสามารถในการทำกำไรของกิจการกับกิจการอื่นที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน ทั้งนี้ควรใช้กับกิจการที่มีขนาดและขอบเขตการดำเนินงานใกล้เคียงกันหรือคล้ายคลึงกัน จะทำให้สามารถเปรียบเทียบกันได้เป็นอย่างดี ไม่ควรนำไปเปรียบเทียบข้ามอุตสาหกรรม จะทำให้เข้าใจผิดได้

ส่วน ROI ใช้วัดความสามารถในการทำกำไรของกิจการในแง่ของการลงทุน เพื่อวัดว่าเงินที่ลงทุนไปหรือการจัดสรรทรัพยากรขององค์กรเพื่อการลงทุนนั้นก่อให้เกิดกำไรมากน้อยเพียงใด มีความคุ้มค่าเพียงใด ซึ่งมักใช้ประเมินผลประโยชน์ที่ได้จากการลงทุนในงวดเวลาหนึ่งที่กำหนดโดยทั่วไปคือ 1 ปี และสามารถใช้ ROI เพื่อวัดผลการดำเนินงานของกิจการโดยรวม (as a whole) และใช้วัดในแต่ละหน่วยธุรกิจ (separate business units) เช่น ในการบริหารงานแบบกระจายอำนาจ (decentralization) โดยจัดแบ่งองค์กรออกเป็นหน่วยงานย่อยหรือส่วนงาน ที่เรียกว่า ศูนย์ความรับผิดชอบ (responsibility centers) จะใช้ ROI เพื่อวัดผลการดำเนินงานของศูนย์ความรับผิดชอบประเภทศูนย์ลงทุน (investment center) ซึ่งผู้บริหารต้องรับผิดชอบในการหารายได้ ควบคุมต้นทุนค่าใช้จ่าย และเงินลงทุนในสินทรัพย์ที่ใช้ในการดำเนินงานของหน่วยงานย่อยนั้น นอกจากนี้ ในด้านของผู้ลงทุน (investors) ใช้ ROI เป็นตัวแปรหนึ่งในการตัดสินใจลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงิน (financial assets)  

สูตรการคำนวณ ROA

ROA = กำไรสุทธิ / สินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ย

สินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ย = (สินทรัพย์รวมต้นงวด + สินทรัพย์รวมปลายงวด) หารด้วย 2 (ตัวเลขสินทรัพย์รวมที่นำมาใช้คำนวณจะได้มาจากยอดรวมของสินทรัพย์ที่แสดงในงบแสดงฐานะการเงิน)

สูตรการคำนวณ ROI

ROI = คือ กำไร/เงินลงทุน

กำไรที่นำมาใช้คำนวณอาจใช้ 1) กำไรจากการดำเนินงาน (Operating Income)   ซึ่งเป็นกำไรก่อนดอกเบี้ยและภาษี (Earnings Before Interest and Taxed:  EBIT) หรือ 2) กำไรก่อนภาษี (Earnings Before Taxed:  EBT) หรือ 3) กำไรสุทธิ (net income) ซึ่งเป็นกำไรหลังภาษี (Profit After Tax: PAT)

โดยทั่วไป ในการวัดผลงานของหน่วยงานย่อยที่เป็นศูนย์ลงทุนนิยมใช้ กำไรจากการดำเนินงานหรือ EBIT ในการคำนวณ ROI โดยไม่นิยมใช้กำไรสุทธิ เนื่องจากกำไรสุทธิได้ถูกหักดอกเบี้ยและภาษีเงินได้แล้ว ซึ่งทั้งดอกเบี้ยและภาษีเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้อยู่ในอำนาจการควบคุมได้ของผู้บริหารหน่วยงานย่อย จึงไม่สมควรนำมาวัดความสามารถในการบริหารงานของผู้บริหารหน่วยงานย่อย

แต่ถ้าจะใช้ ROI เพื่อวัดผลงานของผู้บริหารระดับสูง ควรใช้กำไรก่อนภาษี หรือ EBT เนื่องจากได้หักต้นทุนทางการเงินซึ่งเป็นผลมาจากการบริหารการจัดหาเงินทุน และได้ตัดผลกระทบจากภาษีออกไปแล้ว เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับกิจการอื่น โดยเฉพาะในประเทศที่มีการกำหนดอัตราภาษีที่แตกต่างกัน จะทำให้สามารถเปรียบเทียบกันได้ ดังนั้นกำไรก่อนภาษีย่อมแสดงถึงความสามารถของผู้บริหารระดับสูงในการหารายได้ ควบคุมต้นทุนการผลิต และค่าใช้จ่ายทั้งหมดทั้งในการขาย การบริหาร รวมถึงค่าใช้จ่ายทางการเงินหรือที่เข้าใจกันอย่างง่ายๆ ก็คือดอกเบี้ยจ่าย โดยไม่มีผลกระทบจากอัตราภาษีเข้ามาเกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ตาม การใช้กำไรสุทธิในการคำนวณ ROI ก็สามารถนำ ROI ไปใช้ในการประเมินผลความสำเร็จโดยรวม (overall success) ของบริษัท และก็สามารถนำไปใช้เปรียบเทียบกับกิจการอื่นได้ หากกิจการเหล่านั้นใช้อัตราภาษีที่เท่ากัน

ดังนั้น การนำ  ROA หรือ  ROI ไปใช้เป็นเครื่องมือวัดผลการดำเนินงาน จะต้องมั่นใจว่า กิจการต่างๆ เหล่านั้นใช้ตัวแปรเดียวกันในการคำนวณหา ROA และ ROI ดังกล่าวมาข้างต้น