การประเมินผลโครงการควรประเมินผลจากอะไร[1]

  • Post author:
  • Post category:Uncategorized

                    มักจะเกิดความสงสัยเสมอว่า การประเมินผลโครงการควรจะประเมินจากอะไรกันแน่  เช่นประเมินผลงานที่เป็นผลผลิต(output)ของโครงการ ผลลัพธ์(outcome) หรือผลสัมฤทธิ์(result ultimate หรือ outcome)การดำเนินโครงการดีไหม ประเมินได้ครอบคลุมการดำเนินโครงการได้ทั้งหมดหรือไม่

                   สำหรับการประเมินผลโครงการพัฒนาภาครัฐนั้นจะประกอบด้วย การประเมินผลในเภทต่างๆ ดังต่อไปนี้[2]

                   1) Compliance Auditing ประเมินผลที่มุ่งเน้นการตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎระเบียบต่าง ๆ ด้านการจัดซื้อจัดจ้างและการใช้งบประมาณ

2) Project Performance Auditing: PPA ประเมินผลการดำเนินโครงการภายหลังโครงการสิ้นสุด แบ่งได้เป็น 2 ประเภทย่อย ได้แก่

  (1) Project Completion Report: PCR รายงานผลประเมินหลังสิ้นสุดโครงการ 60 วัน

  (2) Project Performance Audit Report: PPAR รายงานผลประเมินหลังสิ้นสุดโครงการ 1-2 ปี

อะไรบ้างที่ควรประเมินผลโครงการ

                    เป้าหมายสำคัญในการประเมินผลโครงการคือ ความต้องการทราบถึงผลที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานว่าผลผลิต ผลลัพธ์ และผลสัมฤทธิ์โครงการเป็นอย่างไร โดยการนำผลงานที่เกิดขึ้นจริงไปเปรียบเทียบกับเป้าหมายซึ่งจะทำให้ทราบได้ว่าการดำเนินโครงการเป็นไปตามเป้าหมายทั้งในด้านผลการดำเนินงาน ระยะเวลาและค่าใช้จ่ายของโครงการตรงตามเป้าหมายหรือไม่ หากผลงานเบี่ยงเบนไปจากเป้าหมายจำเป็นต้องปรับแก้ เช่น การดำเนินโครงการล่าช้ากว่ากำหนดการ ก็จำเป็นต้องเร่งเวลาการดำเนินโครงการ เป็นต้น

                    สำหรับเกณฑ์ประเมินโครงการนั้นองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency หรือJICA) ประกอบด้วยเกณฑ์ต่างๆ ดังต่อไปนี้[3]

                             1. ความสัมพันธ์ (relevance) ระหว่างแผน การดำเนินงานและผลงาน มีความสอดคล้องกันหรือไม่ มากน้อยเพียงใด เช่น การดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในโครงการนั้นผู้จัดทำแผนได้กำหนดผลผลิต ผลลัพธ์ และผลสัมฤทธิ์ขึ้นไว้ล่วงหน้าว่าคืออะไร อยู่ในระดับใด จากนั้นจะต้องกำหนดเวลา ค่าใช้จ่ายและทรัพยากรอื่นให้สอดคล้อง เหมาะสม และเพียงพอกับผลผลิต ผลลัพธ์ และผลสัมฤทธิ์ที่ต้องการ นอกจากนี้ความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบต่างๆ ของโครงการจะต้องเหมาะสมและเกื้อหนุนกันและกันเพื่อให้การดำเนินงานบรรลุผลเป้าหมาย

                              2.ประสิทธิผล (effectiveness) เป็นการประเมินจากผลงานที่เกิดขึ้นจริงโดยเปรียบเทียบกับเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ของโครงการว่าตรงกันหรือไม่ทั้งในด้านผลผลิต ผลลัพธ์ ผลสัมฤทธิ์ ระยะเวลา และค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการ

3. ประสิทธิภาพ (efficiency) เป็นการประเมินความสามารถในการใช้ทรัพยากรสำหรับการดำเนินโครงการโยวิธีการเปรียบเทียบสัดส่วนระหว่างผลงาน (0utput) กับ โดยคิดเป็นร้อยละ ความมีประสิทธิภาพจะเป็นตัวบ่งชี้ถึงความสามารถในการดำเนินโครงการและศักยภาพในการบริหารของผู้อำนวยการโครงการ รวมทั้งความสามารถในการปฏิบัติงานของผู้ปฏิบัติงานต่างๆ ด้วย

4. ผลกระทบ (impact) เป็นการประเมินผลที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการ ผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจมีผลกระทบได้ทั้งในด้านบวกและด้านลบ เช่น ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment: EIA) และผลกระทบต่อสุขภาพและพลานามัย (Health Impact Assessment: HIA) ของประชาชน เป็นต้น

5.ความยั่งยืน (Sustainability) ของโครงการหลังจากสิ้นสุดโครงการแล้ว โดยเฉพาะโครงการพัฒนาต่างๆ ที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง ระยะเวลาดำเนินการยาวนานมีความจำเป็นที่จะต้องมีความยั่งยืนของผลผลิต ผลลัพธ์ และผลสัมฤทธิ์ของโครงการเพื่อสร้างสรรค์ประโยชน์ตอบแทน (benefit) ให้แก่ผู้คนแลสังคมอย่างคุ้มค่า

5. อื่นๆ เกณฑ์นี้ผู้ประเมินจะเป็นผู้กำหนดแล้วแต่ความต้องการใช้ประโยชน์จากสารสนเทศของผู้ประเมินผล

                             ตัวอย่างเช่น มีความต้องการประเมินประสิทธิผล(effectiveness) โครงการ ผู้ประเมินจะต้องให้นิยามของคำว่าประสิทธิผลเสียก่อนว่า คืออะไร เช่น การประเมินประสิทธิผลเป็นการประเมินจากผลงานที่เกิดขึ้นจริงโดยเปรียบเทียบกับเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ของโครงการว่าตรงกันหรือไม่ทั้งในด้านผลผลิต ผลลัพธ์ ผลสัมฤทธิ์ ระยะเวลา และค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการ จากนั้นแปลงนิยามออกเป็นตัวชี้วัด (Key Performance indicator หรือ KPI) การเกิดขึ้นของผลผลิตว่าคืออะไร จากนั้นจะสร้างข้อคำถามหลักและคำถามย่อยเพื่อใช้เก็บข้อมูล ระบุเกณฑ์ที่ใช้พิจารณาว่าข้อมูลใดเป็นข้อมูลที่บ่งชี้ถึงความมีประสิทธิผล จากนั้นจะต้องระบุว่ามีข้อมูลใดที่เกี่ยวข้องกับประสิทธิผลโครงการที่มีอยู่แล้วบ้าง เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับการรายงานผลการดำเนินงานด้านผลผลิตด้านปริมาณและคุณภาพ ระยะเวลาที่ใช้ในการทำงาน ค่าใช้จ่ายที่ได้ใช้ไปในการทำงาน เป็นต้น ในส่วนของข้อมูลปฐมภูมิซึ่งเป็นข้อมูลใหม่ที่ผู้ประเมินผลก็ต้องการทราบก็จะต้องระแหล่งข้อมูลและวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลไว้ด้วย สำหรับเกณฑ์หรือสิ่งที่ต้องการประเมินในด้านอื่นๆ ก็สามารถกำหนดรายละเอียดของวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลได้ตามตัวอย่างที่กล่าวข้างต้น

                             สำหรับเกณฑ์ประเมินผลโครงการของนักวิชาไทยคือ วรเดช จันทรศร และนัฐฐา วินิจนัยภาค[4] ได้กล่าวถึงเกณฑ์การประเมินผลโครงการพัฒนาภาครัฐไว้ว่าประกอบด้วยการประเมินผลในมิติต่างๆ 3 มิติ ได้แก่

                             มิติที่ 1 เป็นการพิจารณาจากผลการดำเนินงานของโครงการ 3 ระดับได้แก่ ระดับผลผลิต(Output) ระดับผลลัพธ์(Outcome) และระดับผลลัพธ์สุดท้าย(Ultimate Outcome) กล่าวคือ

                                      1) ผลผลิต วัดหรือประเมินในด้านปริมาน คุณภาพ เวลา ค่าใช้จ่าย ความพึงพอใจของผู้รับบริการ

2) ผลลัพธ์ จัดหรือประเมินจากผลที่เกิดต่อเนื่องจากผลผลิต เน้นการนำผลผลิตไปใช้ประโยชน์ หรือผลผลิตให้ประโยชน์แก่กลุ่มเป้าหมายหรือผู้รับบริการ

3) ผลลัพธ์สุดท้าย วัดหรือประเมินจากผลที่เกิดขึ้นต่อเนื่องจากการที่ผลลัพธ์นั้นเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม เช่น พัฒนามาตรฐานการดำรงชีพของประชาชนในโครงการ ฯลฯ

มิติที่ 2 เป็นการพิจารณาจากผลความสำเร็จของโครงการต้องไม่ก่อให้เกิดปัญหาต่อโครงการหรือนโยบายอื่น ๆ ที่ได้ดำเนินการมาก่อนหรือในระหว่างการดำเนินการไปพร้อมๆ กัน กล่าวคือ

1) ผลจากการดำเนินโครงการจะต้องไม่ก่อให้เกิดปัญหาต่อโครงการหรือนโยบายอื่น ๆ

2) ผลจากการดำเนินโครงการต้องไม่ก่อให้เกิดปัญหาความเชื่อถือได้ของผลของโครงการ

3) ผลจากการดำเนินโครงการต้องไม่มีปัญหาทางด้านมาตรการของโครงการที่นำไปใช้ทางปฏิบัติ

4) ผลจากการดำเนินโครงการที่สำเร็จจะต้องไม่มีปัญหาทางด้านมนุษยธรรมหรือศีลธรรม

มิติที่ 3 เป็นการพิจารณาจากผลรวมของโครงการพัฒนาทั้งหมดต้องก่อให้เกิดผลของการพัฒนาประเทศที่พึงปรารถนา กล่าวคือ ผลรวมของความสำเร็จของโครงการแต่ละโครงการจะต้องก่อให้เกิดผลรวมของการพัฒนาประเทศที่พึงปรารถนา       


[1] เฉลิมพงศ์ มีสมนัย cmisomnai@gmail.com  สาขาวิชาวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

[2] ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน เฉลิมพงศ์ มีสมนัย.(2561). การบริหาร การศึกษาความเป็นไปได้ และการประเมินโครงการ.นนทบุรี. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.

[3] องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency( JICA)) “Planning Project Evaluation” ค้นคืนวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2565 จาก https://www.jica.go.jp/english/our_work/evaluation/tech_and_grant/guides/pdf/guideline02-02.pdf

[4]วรเดช จันทรศร และ ณัฐฐา วินิจนัยภาค ( บรรณาธิการ) (2539). 4 ทศวรรษ. รัฐประศาสนศาสตร์. รวมบทความทางวิชาการ 2498-2538. กรุงเทพฯ : โครงการเอกสารและตำราคณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.