ต้นทุนผลิตภัณฑ์ : จำแนกประเภทตามพฤติกรรมของต้นทุน (EP. 3)

ต้นทุนผลิตภัณฑ์ : จำแนกประเภทตามพฤติกรรมของต้นทุน
ต้นทุนผลิตภัณฑ์ (Product Costs) คือรายจ่าย หรือทรัพยากรที่ถูกใช้ไป เพื่อก่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ ต้นทุนผลิตภัณฑ์แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ตามพฤติกรรมของต้นทุน (Cost Behavior) ได้แก่ 1) ต้นทุนคงที่ 2) ต้นทุนผันแปร และ 3) ต้นทุนผสม (ประไพพิศ สวัสดิ์รัมย์, 2567: น. 34)

ต้นทุนคงที่
มีนักวิชาการได้ให้ความหมาย หรือคำจำกัดความของ “ต้นทุนคงที่” (Fixed Cost) ไว้ดังนี้
ธัญญรัศม์ วศวรรณรัตน์ (2561: น. 8-34) กล่าวว่า ต้นทุนคงที่ เป็นต้นทุนที่จำนวนรวมของต้นทุนไม่เปลี่ยนแปลงในช่วงที่กำลังพิจารณา แม้ว่าปริมาณของกิจกรรมที่ทำจะเปลี่ยนไปก็ตาม ต้นทุนคงที่ต่อหน่วยจะเพิ่มขึ้นเมื่อปริมาณกิจกรรมที่ทำลดลง ในทางตรงกันข้ามตาม ต้นทุนคงที่ต่อหน่วยจะลดลงเมื่อปริมาณกิจกรรมที่ทำเพิ่มขึ้น
วีรวรรณ พูลพิพัฒน์ และสุชาดา สถาวรวงศ์ (2561: น. 11-5) กล่าวว่า ต้นทุนคงที่ หมายถึง ต้นทุนที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามระดับของกิจกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป กล่าวคือ เมื่อระดับของกิจกรรมเพิ่มขึ้นหรือลดลง ก็ไม่มีผลทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นหรือลดลง ต้นทุนยังคงมีจำนวนเท่าเดิมหรือคงที่ สำหรับคำว่า “กิจกรรม” (Activity) ในที่นี้ หมายถึง สิ่งที่นำมาใช้กำหนดต้นทุน ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะเป็นปริมาณผลิต หรือปริมาณขาย เช่น โรงงานผลิตรถยนต์ กิจกรรมที่ทำให้เกิดต้นทุนคือจำนวนรถยนต์ที่ผลิต ส่วนธุรกิจโรงแรม กิจกรรมที่ทำให้เกิดต้นทุนคือจำนวนห้องที่ลูกค้าเข้าพัก
ประไพพิศ สวัสดิ์รัมย์ (2567: น. 34) กล่าวว่า ต้นทุนคงที่ หมายถึง ต้นทุนที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามระดับของกิจกรรมการดำเนินงานของธุรกิจ โดยที่ “ระดับกิจกรรมการดำเนินงานของธุรกิจ” คืองานที่ธุรกิจทำเพื่อให้เกิดสินค้าและบริการ เช่น จำนวนชั่วโมงเครื่องจักร จำนวนหน่วยสินค้าที่ผลิต และจำนวนหน่วยสินค้าที่ขาย
สรุปได้ว่า “ต้นทุนคงที่” หมายถึง ต้นทุนที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามระดับของกิจกรรมการดำเนินงานของธุรกิจ แม้ว่าระดับของกิจกรรมการดำเนินงานของธุรกิจจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงก็ตาม “ต้นทุนคงที่รวม” จะยังคงที่ดังเดิมไม่เปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาที่ “ต้นทุนคงที่ต่อหน่วย” จะพบว่า ต้นทุนคงที่ต่อหน่วยจะเพิ่มขึ้นเมื่อระดับของกิจกรรมการดำเนินงานของธุรกิจลดลง และต้นทุนคงที่ต่อหน่วยจะลดลงเมื่อระดับของกิจกรรมการดำเนินงานของธุรกิจเพิ่มขึ้น ตัวอย่างต้นทุนคงที่ ได้แก่ ค่าเช่าอาคาร และค่าเช่าโรงงาน ธุรกิจผลิตและขายสินค้าได้มากหรือน้อยก็ยังคงต้องจ่ายค่าเช่าอาคารและโรงงานคงที่ดังเดิม

ต้นทุนผันแปร
มีนักวิชาการได้ให้ความหมาย หรือคำจำกัดความของ “ต้นทุนผันแปร” (Variable Cost) ไว้ดังนี้
ธัญญรัศม์ วศวรรณรัตน์ (2561: น. 8-34) กล่าวว่า ต้นทุนผันแปร หมายถึง ต้นทุนที่มีจำนวนรวมเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางและเป็นสัดส่วนโดยตรงกับการเปลี่ยนแปลงของปริมาณกิจกรรมที่ทำ แต่ต้นทุนผันแปรต่อหน่วยจะคงที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามปริมาณกิจกรรมที่ทำในช่วงที่กำลังพิจารณา
วีรวรรณ พูลพิพัฒน์ และสุชาดา สถาวรวงศ์ (2561: น. 11-8) กล่าวว่า ต้นทุนผันแปร หมายถึง ต้นทุนที่เปลี่ยนแปลงไปตามระดับของกิจกรรม โดยเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดียวกัน กล่าวคือ เมื่อระดับของกิจกรรมเพิ่มขึ้นจะมีผลทำให้ต้นทุนผันแปรรวมเพิ่มขึ้น และเมื่อระดับของกิจกรรมลดลงจะมีผลทำให้ต้นทุนผันแปรรวมลดลง
ประไพพิศ สวัสดิ์รัมย์ (2567: น. 34) กล่าวว่า ต้นทุนผันแปร หมายถึง ต้นทุนที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามระดับของกิจกรรมการดำเนินงานของธุรกิจ
สรุปได้ว่า “ต้นทุนผันแปร” หมายถึง ต้นทุนที่เปลี่ยนแปลงไปตามระดับของกิจกรรมการดำเนินงานของธุรกิจ โดยที่หากระดับของกิจกรรมการดำเนินงานของธุรกิจเพิ่มขึ้น ต้นทุนผันแปรรวมจะเพิ่มขึ้น และหากระดับของกิจกรรมการดำเนินงานของธุรกิจลดลง ต้นทุนผันแปรรวมจะลดลง ส่วนต้นทุนผันแปรต่อหน่วยนั้นจะไม่เพิ่มขึ้นหรือลดลงตามระดับของกิจกรรมการดำเนินงานของธุรกิจ

ต้นทุนผสม
มีนักวิชาการได้ให้ความหมาย หรือคำจำกัดความของ “ต้นทุนผสม” (Mixed Cost) ไว้ดังนี้
ธัญญรัศม์ วศวรรณรัตน์ (2561: น. 8-34) กล่าวว่า ต้นทุนผสม หรือต้นทุนกึ่งผันแปร (Semi- Variable Cost) หมายถึง ต้นทุนที่มีลักษณะของต้นทุนคงที่ และต้นทุนผันแปรรวมกัน โดยมีต้นทุนจำนวนหนึ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามปริมาณกิจกรรมที่ทำในช่วงที่กำลังพิจารณา และมีต้นทุนอีกจำนวนหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงไปตามปริมาณกิจกรรมที่ทำ
วีรวรรณ พูลพิพัฒน์ และสุชาดา สถาวรวงศ์ (2561: น. 11-9) กล่าวว่า ต้นทุนผสม หรืออาจเรียกว่า “ต้นทุนกึ่งผันแปร” หมายถึง ต้นทุนที่มีทั้งต้นทุนคงที่ และต้นทุนผันแปรรวมกันอยู่ กล่าวคือ จะมีต้นทุนอยู่จำนวนหนึ่งที่คงที่ และมีต้นทุนอีกจำนวนหนึ่งที่ผันแปรตามการเปลี่ยนแปลงของกิจกรรม ในการวิเคราะห์ต้นทุนผสมนั้นต้องแยกส่วนที่เป็นต้นทุนคงที่ไปรวมกับต้นทุนคงที่อื่น และแยกส่วนที่เป็นต้นทุนผันแปรไปรวมกับต้นทุนผันแปรอื่น ผมรวมของต้นทุนคงที่รวม และต้นทุนผันแปรรวม ก็คือ “ต้นทุนรวม” นั่งเอง ต้นทุนผสม อาจแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ ได้แก่ ต้นทุนผสมที่สามารถแยกได้ทันที และต้นทุนผสมที่ไม่สามารถแยกได้ทันที
ประไพพิศ สวัสดิ์รัมย์ (2567: น. 34) กล่าวว่า ต้นทุนผสม หมายถึง ต้นทุนที่มีทั้งต้นทุนคงที่ และต้นทุนผันแปรอยู่รวมกัน
สรุปได้ว่า “ต้นทุนผสม” หมายถึง ต้นทุนที่มีทั้งต้นทุนคงที่ และต้นทุนผันแปร ผสมอยู่รวมกัน ตัวอย่างเช่น บริษัท มีสุโข จำกัด เช่าเครื่องถ่ายเอกสารเพื่อใช้ในงานสำนักงาน โดยต้องเสียค่าเช่าเครื่องถ่ายเอกสารในอัตราเดือนละ 3,000 บาท และค่าถ่ายเอกสารต่างหากในอัตราแผ่นละ 0.25 บาท การเช่าเครื่องถ่ายเอกสารในลักษณะนี้เป็นต้นทุนผสม เพราะมีต้นทุนคงที่คือค่าเช่า 3,000 บาทต่อเดือน และต้นทุนผันแปรคือค่าถ่ายเอกสาร 0.25 บาทต่อแผ่น ดังนั้นหากเดือนธันวาคม บริษัท มีสุโข จำกัด ถ่ายเอกสารจำนวนรวม 5,000 แผ่น จะต้องจ่ายค่าเช่าเครื่องถ่ายเอกสารรวมทั้งสิ้น 4,250 บาท มาจาก 3,000 + (5,000 x 0.25)

เอกสารอ้างอิง
1) ธัญญรัศม์ วศวรรณรัตน์. (2561). ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับการบัญชีเพื่อการจัดการ. ใน เอกสารการสอนชุดวิชาการบัญชีต้นทุนและการบัญชีเพื่อการจัดการ (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4, หน่วยที่ 8, น. 8-1 – 8-52). นนทบุรี: สำนักพิมพ์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
2) ประไพพิศ สวัสดิ์รัมย์. (2567). การคำนวณต้นทุนผลิตภัณฑ์และการกำหนดราคาขาย. เอกสารประกอบการฝึกอบรม หลักสูตรการคำนวณต้นทุนผลิตภัณฑ์และการกำหนดราคาขาย รุ่นที่ 2. ชลบุรี: ศูนย์บูรณาการทางธุรกิจ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. (อัดสำเนา).
3) วีรวรรณ พูลพิพัฒน์ และสุชาดา สถาวรวงศ์. (2561). การวิเคราะห์ต้นทุน ปริมาณ กำไร. ใน เอกสารการสอนชุดวิชาการบัญชีต้นทุนและการบัญชีเพื่อการจัดการ (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4, หน่วยที่ 11, น. 11-1 – 11-59). นนทบุรี: สำนักพิมพ์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.