การวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) มีปรัชญาที่อยู่เบื้องหลังการวิจัย 3 องค์ประกอบหลัก ได้แก่
1. ภววิทยา (Ontology) การวิจัยเชิงปริมาณมีฐานคติ (Assumption) ว่า ธรรมชาติของความรู้ความจริงนั้นเป็นวัตถุวิสัย (Objective) ดำรงอยู่ในรูปของสิ่งของที่ไม่แตกต่างจากวัตถุ ดังนั้นความรู้ความจริงจึงสามารถจับต้องและวัดค่าได้ ความรู้ความจริงเป็นสิ่งของหรือวัตถุที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติ มนุษย์เองเป็นผู้ที่แสวงหาและนำความรู้ความจริงที่มีอยู่แล้วนั้นมาใช้ผ่านการวิจัย การค้นพบ และการพิสูจน์ข้อเท็จจริงต่างๆ ดังนั้นความรู้ความจริงจึงมีคุณลักษณะที่เป็นสากล (Generalization) นั้นคือเป็นจริง สามารถใช้ได้ทั่วไป และไม่ถูกจำกัดด้วยขอบเขตของเวลาและบริบทต่างๆ
2. ญาณวิทยา (Epistemology) การแสวงหาและการเข้าถึงความรู้ความจริงนั้น นักวิจัยจะต้องมีความเป็นกลาง และปราศจากค่านิยม (Value Free) หรืออคติ (Bias) ต่างๆ นักวิจัยและผู้ถูกวิจัยต้องไม่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน ไม่ใกล้ชิด และไม่ผูกพัน นักวิจัยต้องไม่นำตนเองเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่ตนกำลังจะศึกษา เพราะจะทำให้เกิดอคติในการแสวงหาความรู้ความจริง
3. วิธีวิทยา (Methodology) เนื่องจากนักวิจัยจะต้องมีความเป็นกลาง ปราศจากค่านิยม และอคติต่างๆในการแสวงหาความรู้ความจริง นักวิจัยและผู้ถูกวิจัยจึงต้องมีการติดต่อสัมพันธ์กันให้น้อยที่สุด ดังนั้นเครื่องมือที่นักวิจัยนิยมใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลจึงได้แก่ แบบสอบถาม ที่ผู้ถูกวิจัยสามารถอ่านแล้วเกิดความเข้าใจตรงกันทั้งหมดทุกคน นอกจากนั้นยังมีการใช้สถิติในการอนุมาน (Inference) ข้อมูล หรือมีการจัดกระทำกับตัวแปร (Manipulate) ในการวิจัยเชิงทดลอง (Experimental Research) ในห้องปฏิบัติการต่างๆ