หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน

  • Post author:
  • Post category:Uncategorized

                หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน ถูกนำมาใช้ในการจัดหาเงินทุนโดยธนาคารพาณิชย์ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในปี 2540 เพื่อรองรับกับภาระการกันสำรองสินทรัพย์จัดชั้นที่เพิ่มขึ้นและเพื่อรองรับกับธุรกรรมการดำเนินงานของสถาบันการเงิน รวมทั้งต้องดำรงเงินกองทุนตามอัตราที่กำหนดของธนาคารแห่งประเทศไทย

                หลังจากผ่านช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ พ.ศ.2540 มาแล้วมีบริษัทหลายแห่งใช้ตราสารหนี้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน (Hybrid Bond) หรือ หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน (Perpetual Bond) กลับมาใช้ในการจัดหาเงินทุนอีกครั้ง ปี พ.ศ.2559 ยอดคงค้างหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนรวม 4 รุ่น มูลค่ารวม 22,440 ล้านบาท และมีการเพิ่มขึ้นอย่างมากโดยในเดือนกันยายน พ.ศ.2562 มียอดคงค้างของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนมูลค่ารวม 7.7 หมื่นล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 2 ของยอดคงค้างตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาว (สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย, 2562)

                ลักษณะสำคัญของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนคือ ไม่มีอายุครบกำหนด ผู้ออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิสามารถเลื่อนจ่ายดอกเบี้ยได้ และสามารถเรียกไถ่ถอนหุ้นกู้คืนก่อนกำหนดได้ และโดยทั่วไปอันดับเครดิตของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน จะต่ำกว่าอันดับเครดิตบริษัท ประมาณ 2 ระดับ

                ทางบัญชีจะบันทึกมูลค่าหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน เป็นทุนทั้งหมด แต่สำหรับบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ จะนับเป็นทุน 50% และนับเป็นหนี้ 50% ในช่วง 5 ปีแรก ทำให้อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E Ratio) ของบริษัทลดลง ดังนั้น ภายหลัง 5 ปี หลังจากปีที่ 5 มูลค่าทั้งหมดจะถูกนับเป็นหนี้สินของบริษัท ซึ่งจะทำให้ D/E Ratio สูงขึ้นอย่างมากภายหลังจากออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนครบ 5 ปี สำหรับการจัดอันดับเครดิตของผู้ออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิคล้ายทุน ดังนั้นบริษัทจึงมีแนวโน้มจะออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนรุ่นใหม่เพื่อไถ่ถอนคืนหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนรุ่นเก่าหลังจากที่หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนรุ่นเก่ามีอายุครบ 5 ปีแล้ว

                เนื่องจากการลงทุนในหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนมีความเสี่ยงสูงกว่าการลงทุนในหุ้นกู้ทั่วไป จึงมักมีการลงทุนเฉพาะในกลุ่มนักลงทุนสถาบันเป็นส่วนใหญ่ และผู้ออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนก็มักจะเสนอขายให้นักลงทุนสถาบันเป็นสำคัญ

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย. (2562). Perpetual bond คึกคักส่งท้ายปี 62. ค้นเมื่อ 4 มกราคม 2563; ค้นจาก: http://www.thaibma.or.th/EN/Investors/Individual/Blog/2019/09102019.aspx

________________________ . (2562). Perpetual bond กับมาตรฐานบัญชีใหม่. ค้นเมื่อ 4 มกราคม 2563; ค้นจาก: http://www.thaibma.or.th/EN/Investors/Individual/Blog/2019/01112019.aspx

________________________ . (2561). Perpetual bond หุ้นกู้ไม่มีอายุ. ค้นเมื่อ 4 มกราคม 2563; ค้นจาก: http://www.thaibma.or.th/EN/Investors/Individual/Blog/2018/Perpetual_Bond_16102018.aspx