New Public Governance (NPG) หรือที่เรียกกันว่า การจัดการปกครองสาธารณะแนวใหม่ นั้น Stephen P. Osborne นักวิชาการชาวสก๊อตแลนด์ได้เสนอว่าเป็นกระบวนทัศน์ (Paradigm) ล่าสุดของรัฐประศาสนศาสตร์ โดย Osborne (2010) ได้ทำการจัดกลุ่มความหมายของคำว่า การจัดการปกครอง (Governance) ออกเป็น 3 สำนักคิดเพื่อให้เข้าใจ New Public Governance (NPG) มากขึ้น ดังนี้
1.การบริหารปกครองแบบบรรษัท (Corporate Governance) เป็นรูปแบบการจัดการปกครองที่เน้นการบริหารจัดการระบบภายในและกระบวนการ รวมทั้งการแสวงหาแนวทางและการตรวจสอบที่เป็นไปได้ขององค์การทางการจัดการปกครอง ซึ่งเป็นวิธีการที่ภาครัฐจะเน้นความสำคัญระหว่างผู้กำหนดนโยบายและ/หรือคณะกรรมการบริหาร และผู้บริหารระดับสูงในการทำให้นโยบายเป็นรูปธรรมชัดเจนขึ้น
2.การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี (Good Governance) เป็นรูปแบบการจัดการปกครองที่เป็นปทัสถาน (normative model) ทางด้านสังคม การเมือง และการบริหารโดยองค์การระดับโลกบาล (Global governance organization) เช่น ธนาคารโลก (World Bank) ซึ่งให้ความสำคัญกับแนวคิดของกลไกการตลาดในการบริหารจัดการทรัพยากรสาธารณะที่เกิดขึ้นตามบริบทสังคมที่นำไปบริหาร
3. การจัดการปกครองสาธารณะ (Public Governance) ซึ่งเป็นตัวแบบและความหมายที่มีความเกี่ยวข้องกับรัฐประศาสนศาสตร์มากที่สุด และสามารถสรุปแบ่งออกเป็น 5 ตัวแบบ ได้แก่
3.1 การจัดการปกครองเชิงการเมืองและสังคม (Socio – political governance) เป็นเรื่องของความสัมพันธ์เชิงสถาบันภายในสังคมซึ่งมีความจำเป็นที่จะมองเป็นองค์รวมเพื่อที่จะเข้าใจในเรื่องของการกำหนดและการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ รัฐบาลไม่ได้เป็นศูนย์กลางและมีความชอบธรรมเพียงฝ่ายเดียวในการกำหนดนโยบายอีกต่อไปแต่ต้องขึ้นอยู่กับตัวแสดงทางสังคมอื่นๆ ด้วย
3.2 การจัดการปกครองเชิงนโยบายสาธารณะ (Public policy governance) ให้ความสำคัญกับชนชั้นนำที่มีบทบาทต่อการกำหนดนโยบายและเครือข่ายมีปฏิสัมพันธ์ในการสร้างและปกครองกระบวนการนโยบายสาธารณะ กล่าวคือเป็นการกำหนดนโยบายในเชิงชุมชนนโยบายและเครือข่าย
3.3 การจัดการปกครองเชิงการบริหาร (Administrative governance) เป็นการเน้นการใช้เครื่องมือทางรัฐประศาสนศาสตร์ที่มีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาที่สลับซับซ้อนของรัฐสมัยใหม่ โดยใช้คำว่าการจัดการปกครอง (Governance) แทนการนำนโยบายไปปฏิบัติ (Implementation)
3.4 การจัดการปกครองทางสัญญา (Contract governance) เป็นระบบการทำงานแบบการจัดการภาครัฐแนวใหม่ (New Public Management : NPM) กล่าวคือ การบริหารปกครองในความหมายนี้เน้นความสัมพันธ์เชิงสัญญาในการจัดบริการสาธารณะโดยที่ภาครัฐมีบทบาทน้อยลง โดยที่การบริหารแบบนี้ภาครัฐต้องรับผิดชอบในการจัดบริการสาธารณะโดยสามารถควบคุมได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น
3.5 การจัดการปกครองแบบเครือข่าย (Network governance) ตัวแบบนี้เป็นไปตามแนวคิดเครือข่ายระหว่างองค์การและการจัดการตนเอง (Self organizing interorganizational networks) ซึ่งเป็นแนวคิดของ Rhodes (1997) ซึ่งอาศัยเครือข่ายในการนำนโยบายไปปฏิบัติและการจัดบริการสาธารณะ ซึ่งการจัดการปกครองในความหมายนี้มีความหมายที่ตรงข้ามกับการบริหารปกครองเชิงนโยบายสาธารณะ (Public policy governance) เพราะเป็นการเน้นที่เครือข่ายในการนำนโยบายไปปฏิบัติและจัดบริการสาธารณะ
จากความเข้าใจข้างต้นชี้ให้เห็นว่าแนวคิดนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความร่วมมือแบบเครือข่ายการจัดการสาธารณะ (Network collaborative as a public management) ซึ่งเป็นวิธีการใช้กันอย่างแพร่หลายในกระบวนทัศน์การจัดการภาครัฐตามแนวทางการจัดการปกครอง (Governance) ที่เกิดขึ้น โดย New Public Governance หรือ NPG ได้จัดวางตำแหน่งของกระบวนทัศน์ตนที่เกิดขึ้นใหม่นี้ว่าเป็นการบริหารจัดการในพหุรัฐ (Plural state) ซึ่งหมายถึง รัฐต่างมีตัวแสดงที่ต้องพึ่งพาอาศัยกันเป็นจำนวนมากในการนำมาซึ่งการบริการสาธารณะ และลักษณะของรัฐที่เป็นพหุนิยม (Pluralism state) ซึ่งประกอบด้วยกระบวนการที่หลากหลายเพื่อให้ได้ข้อมูลในการกำหนดนโยบายและการนำนโยบายไปปฏิบัติจากอณูส่วนต่างๆของรัฐเพื่อให้นโยบายสาธารณะของรัฐที่เกิดขึ้นสามารถใช้แก้ไขปัญหาและตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งลักษณะดังกล่าวนำไปสู่ความสัมพันธ์ระหว่างองค์การทำให้เกิดประสิทธิผลและผลลัพธ์ที่ขึ้นอยู่กับปฏิสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานภาครัฐและสภาพแวดล้อม
รายการอ้างอิง
Osborne P. S, (2010). “Introduction the (New) Public Governance : a suitable case for treatment?”, In S. P. Osborne (Eds.) The New Public Governance : Emerging Perspective on the Theory and Practice of Public Governance. London and New York : Routledge.
Osborne, D. and Ted, G. (1992). Reinventing Government?: How the Entrepreneurial Spirit Is Transforming Government. Reading, MA: Addison-Wesley.