การศึกษาแผนแม่บท MR – MAP เป็นการปรับปรุงแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ปี 2559 บูรณาการกับแผนพัฒนาระบบราง (มอเตอร์เวย์ – รถไฟทางคู่ – รถไฟความเร็วสูง) โดยวางแผนการพัฒนาพร้อมกันแต่ไม่จำเป็นต้องก่อสร้างพร้อมกัน โดยขึ้นอยู่กับแผนปฏิบัติการของหน่วยงานที่รับผิดชอบแต่ละโครงการ กรมทางหลวงได้มีการกำหนดรูปแบบการพัฒนาโครงการ 3 เส้นทาง
• เส้นทางแนวเหนือ – ใต้ ระยะทางรวม 3,542 กิโลเมตร
• เส้นทางแนวตะวันออก – ตะวันตก ระยะทางรวม 2,747 กิโลเมตร
• เส้นทางเชื่อมต่อกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ระยะทางรวม 588 กิโลเมตร
แนว MR – MAP เป็นแค่แนวเส้นทางเบื้องต้น กรมทางหลวงได้มีการจัดประชุมสรุปร่างแผนดังกล่าว เพื่อรับฟังความคิดเห็นข้อเสนอแนะ รวมทั้งปรึกษาหารือระหว่างหน่วยงานและผู้เกี่ยวข้องต่อการศึกษาโครงการ โดยจะนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆไปประกอบการปรับปรุงแผนแม่บท MR – MAP และการศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้น ในขั้นสุดท้ายของการศึกษาต่อไป
สำหรับในปัจจุบัน มีการสรุปเส้นทางมอเตอร์เวย์ทั่วประเทศ 10 เส้นทาง และได้มีการกำหนดแนวเส้นทางเบื้องต้นที่ควรพัฒนาในระยะเวลา 20 ปีนี้ แบ่งเป็น 3 ระยะ
• แผนพัฒนาระยะสั้น 5 ปี (เริ่มสร้างปี 2566 – 2570)
• แผนพัฒนาระยะกลาง 10 ปี (เริ่มสร้างปี 2571 – 2575)
• แผนพัฒนาระยะยาว 20 ปี (เริ่มสร้างปี 2576 – 2585)
แผนแม่บท MR – MAP มีระยะทางรวมประมาณ 6,877 กม. โดยพัฒนาร่วมกับระบบราง 3,543 กม. มีโครงข่ายมอเตอร์เวย์ที่เปิดให้บริการแล้วและอยู่ระหว่างก่อสร้าง 670 กม. ในแผนพัฒนาโครงการระยะ 20 ปี จะมีจำนวน 23 โครงการ ระยะทาง 1,924 กม. มูลค่าลงทุนรวม 1.63 ล้านล้านบาท คาดการณ์จะได้ข้อสรุปทั้งหมดภายในช่วงปลายปี 2566 ก่อนจะเสนอกระทรวงคมนาคมเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบโครงการตามผลศึกษาต่อไป (กรมทางหลวง, 2566)