รองศาสตราจารย์ ดร.กัลยานี ภาคอัต
การนำเสนอครั้งนี้จะนำทฤษฎีที่ใช้อธิบายผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้น IPO ต่อจากครั้งที่แล้ว โดยจะนำเสนอสองทฤษฎีคือ ทฤษฎีที่ 4 ดังนี้
4. ทฤษฎี Bookbuilding Benveniste and Spindt (1989)ได้พัฒนาทฤษฎีที่นำเสนอการทำ Bookbuilding เพื่อลดปัญหาการมีข้อมูลไม่เท่าเทียมกันระหว่างผู้บริหารของบริษัทกับนักลงทุนที่มีข้อมูลเกี่ยวกับมูลค่าที่แท้จริงของหุ้น IPO การทำ Bookbuilding นั้น จะเริ่มต้นด้วยการที่ผู้ประกันการจำหน่าย (Underwriter) พร้อมด้วยผู้บริหารของบริษัทที่ออกหุ้น IPO ทำการส่งเสริมการขาย (Road Show) หุ้น IPO ของกิจการให้แก่นักลงทุนที่มีแนวโน้มสนใจจองซื้อหุ้นของบริษัท ในช่วงของการส่งเสริมการขายนี้ ทางผู้ประกันการจำหน่ายจะตั้งช่วงราคาที่ควรจะเป็นของหุ้น IPO และทำการสอบถามถึงจำนวนหุ้นที่นักลงทุนสนใจจะซื้อในแต่ละช่วงระดับราคา เมื่อผู้ประกันการจำหน่ายและผู้บริหารของกิจการได้รับข้อมูลเกี่ยวกับอุปสงค์ของตลาดที่จะมีต่อหุ้นของตนแล้ว ก็จะนำไปสู่การตั้งราคาจองเพื่อจัดจำหน่ายให้แก่นักลงทุนต่อไป โดยการตั้งราคาจองต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงที่นักลงทุนยินดีจะจ่ายนั้นเป็นสิ่งจำเป็นภายใต้ทฤษฎีนี้ เพื่อเป็นสิ่งตอบแทนให้กับนักลงทุนในการที่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับราคา และความต้องการหุ้น IPO ในแต่ละระดับราคา เพราะหากนักลงทุนเปิดเผยจำนวนและราคาหุ้น IPO ที่ตนต้องการซื้อแล้วผู้ประกันการจำหน่ายทบทวน และตั้งราคาสูงสุดตามที่นักลงทุนยินดีจะจ่ายนั้น นักลงทุนที่ยินดีเปิดเผยข้อมูลก็จะไม่ได้อะไรเป็นผลตอบแทนก็จะนำไปสู่การไม่ให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูลโดยอาจไม่เข้าร่วมหรือให้ข้อมูลที่เป็นเท็จ
จากทั้งสี่ทฤษฎีได้นำเสนอรายละเอียดที่นักวิชาการและนักวิจัยการเงินได้พยายามนำมาอธิบายปรากฏการณ์ผลตอบแทนสูงผิดปกติจากการลงทุนในหุ้น IPO โดยทฤษฎีที่นำเสนอนี้ได้พัฒนาภายใต้สมมติฐานที่สำคัญคือ การที่ผู้เกี่ยวข้องในการจำหน่ายหุ้น IPO มีข้อมูลข่าวสารไม่เท่าเทียมกัน