ทางเลือกในการลงทุน

ผู้คนมักคุ้นเคยกับการออมเงินโดยวิธีการฝากเงินไว้กับธนาคารซึ่งถือว่าเป็นวิธีการเก็บออมที่ปลอดภัยที่สุด แม้ว่าจะได้ผลตอบแทนต่ำก็ตาม อย่างไรก็ตามการคุ้มครองเงินฝากตาม พ.ร.บ. สถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ. 2551 จะลดการคุ้มครองเงินฝากเหลือ 1 ล้านบาท/คน/สถาบันการเงิน ตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ.2563 เป็นต้นไป ซึ่งทำให้ผู้ที่มีเงินออมจำนวนมากมีความเสี่ยเพิ่มงมากขึ้นสำหรับเงินฝากส่วนที่เกิน 1 ล้านบาท แต่ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นนี้ไม่ได้ให้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้นเพื่อชดเชยความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นเลย ดังนั้นผู้ออมจึงต้องการช่องการการเก็บออมอื่นที่แม้จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นแต่ควรให้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้นในระดับที่ผู้ลงทุนยอมรับได้ ซึ่งอาจมีทางเลือกดังต่อไปนี้

  1. การลงทุนในตราสารหนี้ เป็นการลงทุนที่คล้ายกับการฝากเงินในระยะยาวกับธนาคารพาณิชย์กล่าวคือผู้ลงทุนจะมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ของผู้ออกตราสารหนี้ซึ่งจะได้รับดอกเบี้ยและเงินต้นหรือมูลค่าที่กำหนดของตราสารหนี้คืนเมื่อครบกำหนดไถ่ถอน เพียงแต่ตราสารหนี้โดยทั่วไปมักมีอายุครบกำหนดยาวนานกว่าการฝากเงินประจำกับธนาคาร ดังนั้นหากมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องใช้เงินในกรณีฉุกเฉิน ผู้ลงทุนจะไม่สามารถขอไถ่ถอนคืนมูลค่าตราสารหนี้ได้ อย่างไรก็ตามถ้าตราหนี้ที่ลงทุนมีการจดทะเบียนกับตลาดรองอย่างเป็นทางการ ผู้ลงทุนก็จะสามารถขายตราสารหนี้นั้นในตลาดรองได้แต่มูลค่าที่ขายได้จะขึ้นอยู่กับอัตราดอกเบี้ยตลาด และคุณภาพของตราสารหนี้ในขณะนั้น นอกจากนี้ตราสารหนี้ที่ไม่ได้รับความนิยมจากนักลงทุนอาจขาดสภาพคล่องในตลาดรอง ทำให้ผู้ลงทุนมีความเสี่ยงด้านสภาพคล่องได้เช่นกัน นอกจากนี้หากผู้ออกตราสารหนี้ประสบปัญหาในการดำเนินกิจการไม่สามารถชำระดอกเบี้ยและเงินต้นคืนได้ ผู้ลงทุนจะมีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับชำระคืนดอกเบี้ยและเงินต้นตามที่กำหนด (Default Risk) ซึ่งตราสารหนี้ที่ถือว่าไม่มีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับชำระคืนดอกเบี้ยและเงินต้นตามที่กำหนดคือตราสารหนี้ของรัฐบาลซึ่งให้อัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าตราสารหนี้ของเอกชน ส่วนตราสารหนี้ภาคเอกชนที่เสนอขายให้นักลงทุนทั่วไปต้องมีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือก่อนเสนอขายให้นักลงทุน ซึ่งตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำจะให้อัตราดอกเบี้ยต่ำ ส่วนตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงในระดับที่สูงขึ้นก็จะมีอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นเพื่อชดเชยความเสี่ยงที่มากขึ้น ดังนั้นผู้ลงทุนจะต้องศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วนก่อนตัดสินใจเลือกลงทุนในตราสารหนี้ให้สอดคล้องกับความต้องการของตนเอ
  2. การลงทุนในหุ้น เป็นการลงทุนซื้อหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งหุ้นส่วนใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นหุ้นสามัญ โดยผู้ลงทุนในหุ้นสามัญจะมีฐานะเป็นเจ้าของบริษัท ดังนั้นหากบริษัทขาดทุนอาจจะไม่จ่ายเงินปันผลเลยก็ได้ นอกจากนี้หุ้นสามัญไม่มีอายุครบกำหนดไถ่ถอน ผู้ลงทุนไม่สามารถเรียกร้องให้บริษัทชำระคืนมูลค่าที่ลงทุนเหมือนการไถ่ถอนคืนมูลค่าของตราสารหนี้ได้ แต่ผู้ลงทุนสามารถนำหุ้นทุนไปขายในตลาดรองได้ ทว่าราคาหุ้นในตลาดรองจะเปลี่ยนแปลงขึ้นลงได้อย่างรวดเร็ว และอาจเปลี่ยนแปลงไปจากราคาที่ผู้ลงทุนซื้อมาได้อย่างมาก ดังนั้นผู้ลงทุนจึงมีโอกาสทั้งกำไรและขาดทุนจากการลงทุนในหุ้นเป็นจำนวนมาก็ได้ นอกจากนี้การลงทุนในหุ้นอาจจะได้รับผลตอบแทนในรูปต่างๆ เช่น เงินปันผล หุ้นปันผล การแจกใบสำคัญแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นเพิ่มทุน (warrant) รวมทั้งโอกาสที่จะได้เยี่ยมชมกิจการตามเงื่อนไขที่ประกาศของบริษัทได้ จะเห็นได้ว่าการลงทุนในหุ้นมีความเสี่ยงมากกว่าการลงทุนในตราสารหนี้เป็นอย่างมากโดยเฉพาะหากบริษัทล้มละลายผู้ลงทุนอาจจะไม่ได้รับชำระคืนมูลค่าหุ้นเลยก็ได้ ดังนั้นผู้ลงทุนต้องศึกษาข้อมูลอย่างรอบคอบและใช้วิจารณญาณในการตัดสินใจให้ดีเพราะผลตอบแทนและความเสี่ยงจากการลงทุนในหุ้นเกิดจากผลประกอบการในอนาคตของบริษัทจดทะเบียนซึ่งได้รับผลกระทบจากปัจจัยหลายอย่างจึงมีความซับซ้อนและยากที่จะคาดการณ์ได้อย่างถูกต้อง แม้แต่นักเคราะห์หลักทรัพย์เองที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านในหลายครั้งที่เห็นว่าแต่ละคนมีความเห็นขัดแย้งกันในการแนะนำการลงทุนในหุ้นเดียวกัน ดังนั้นผู้ที่กลัวความเสี่ยงจึงอาจหลีกเลี่ยงการลงทุนในหุ้นไปลงทุนในช่องทางอื่นก็ได้
  3. การลงทุนทางเลือกอื่น เช่น ทองคำ อสังหาริมทรัพย์ อัญมณี เช่าพระเครื่อง หรือของสะสมต่างๆเป็นต้น การลงทุนในทางเลือกอื่นนี้ ผู้ลงทุนควรเป็นผู้ที่รู้จักวิธีการเลือกสินทรัพย์ที่จะลงทุน และวิธีการประเมินมูลค่าของสินทรัพย์ลงทุนนั้นเป็นอย่างดี นอกจากนี้สินทรัพย์ในกลุ่มนี้เป็นสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องค่อนข้างต่ำยกเว้นทองคำ การลงทุนในทางเลือกอื่นนี้ จึงเหมาะสมสำหรับคนที่มีความชอบและมีความคุ้นเคย หรือมีความสามารถที่จะสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนได้มากกว่าที่บุคคลทั่วไปจะเลือกลงทุน
  4. กองทุนรวม เป็นการออกหน่วยลงทุนเสนอขายเพื่อนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ที่กำหนดไว้ เช่น กองทุนรวมตราสารทุน กองทุนรวมตราสารหนี้ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวมทองคำ กองทุนรวมน้ำมัน เป็นต้น กองทุนรวมจะมีผู้จัดการกองทุนเป็นผู้บริหารการลงทุนมืออาชีพทำหน้าที่นำเงินทุนของกองทุนรวมไปลงทุนตามนโยบายการลงทุนของกองทุนรวม จึงมีโอกาสที่จะได้ผลตอบแทนจากการลงทุนสูงว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหรือใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของตลาดภายใต้ระดับความเสี่ยงที่ใกล้เคียงกับตลาด ดังนั้นผู้ที่ต้องการจะลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ เช่น ตราสารหนี้ หุ้นสามัญ ทองคำ หรือ อสังหาริมทรัพย์ แต่ไม่มีความรู้ความเข้าใจเพียงพอที่จะลงทุน หรือไม่มีเวลาติดตามข่าวสารในตลาดที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อาจจะเลือกลงทุนในกองทุนรวมแทนได้ อย่างไรก็ตาม กองทุนรวมแต่ละกองทุนก็มีความสามารถในการบริหารจัดการกองทุนแตกต่างกัน ผู้ลงทุนความศึกษาเปรียบเทียบข้อมูลผลการลงทุนในอดีตของกองทุนรวมหลายแห่งเปรียบเทียบกันแล้วเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยของตลาดในอดีต รวมทั้งควรศึกษานโยบายการลงทุน และเงื่อนไขอื่นๆ ของแต่ละกองทุนให้เข้าใจก่อนตัดสินใจลงทุน

           โดยสรุปแล้ว การลงทุนในทุกทางเลือกล้วนมีความเสี่ยง และผลตอบแทนมากหรือน้อยแตกต่างกัน ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลให้เข้าใจอย่างชัดเจนก่อนตัดสินใจลงทุนในทางเลือกที่สอดคล้องกับความต้องการลงทุนของตนเอง

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

สถาบันคุ้มครองเงินฝาก กระทรวงการคลัง. (2563). 11 ส.ค. 63 ปรับเกณฑ์ใหม่ ‘คุ้มครองเงินฝาก’ จาก 5 ล้านบาทต่อคนต่อธนาคาร เหลือ 1 ล้าน จริงหรือ?. สืบค้นจาก: https://www.antifakenewscenter.com/11-%E0%B8%AA-%E0%B8%84-63-%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%93%E0%B8%91%E0%B9%8C%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B9%88-%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B9%89%E0%B8%A1%E0%B8%84/

         สืบค้นเมื่อ 11 มีนาคม 2564