ปัจจุบันปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ว่าจะเป็นภาวะโลกร้อน ฝุ่น PM 2.5 หรือการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากโรงงานอุตสาหกรรมการผลิตและผู้จัดจำหน่ายสินค้าในกระบวนการต่างๆ ล้วนแต่เป็นที่มาสำคัญในการสร้างมลภาวะให้กับโลกใบนี้ ส่งผลให้สังคมออกมาเรียกร้องความรับผิดชอบจากทั้งผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายเหล่านั้นโดยมักนำเรื่องดังกล่าวมาใช้ประกอบในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าและบริการ ในขณะเดียวกันคู่ค้าจากหลายประเทศก็ได้เรียกร้องให้ผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายเหล่านั้นปฏิบัติตามมาตรฐานสากลว่าด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเช่นกัน
ด้วยเหตุนี้หลายองค์การจึงตระหนักถึงศักยภาพด้านโอกาสและความเสี่ยงจากการจัดการห่วงโซ่อุปทานในตลาดโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากระบบดั้งเดิมเป็นระบบการจัดการสมัยใหม่ที่มีแบบแผนพฤติกรรม บทบาทลูกค้าที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้น มีนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ถูกนํามาใช้ การแลกเปลี่ยนความรู้และข่าวสารกันอย่างรวดเร็วจากสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งจะนําไปสู่ปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อการดําเนินธุรกิจคือ การลดต้นทุน การเพิ่มมูลค่า การสร้างสรรค์นวัตกรรม และการส่งเสริมการตลาด
องค์การจึงได้นําแนวปฏิบัติการพัฒนาอย่างยั่งยืนและอุดมการณ์ในการดําเนินธุรกิจอย่างมีคุณธรรมภายใต้หลักบรรษัทภิบาลมาใช้เป็นกลไกและกลยุทธ์ในการพัฒนาการจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืนภายใต้แนวคิดห่วงโซ่อุปทานเพื่อสิ่งแวดล้อม (Green Supply Chain) คือ การบริหารในมิติที่เกี่ยวกับการลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการดำเนินกิจกรรมโลจิสติกส์ตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่แหล่งที่มาและกระบวนการจัดหาวัตถุดิบ การออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการ กระบวนการผลิต การจัดการสินค้าคงคลัง การบริหารคลังสินค้า กระบวนการขนส่งทั้งภายในและภายนอกองค์การ การบริการลูกค้า รวมถึงการจัดการตลอดวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์และปัจจัยการผลิตอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องให้บรรลุวัตถุประสงค์สำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพของกิจกรรมโลจิสติกส์ตลอดห่วงโซ่อุปทาน การลดต้นทุนโลจิสติกส์ และความสามารถในการตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างทันเวลา มีคุณภาพและเชื่อถือได้ เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงของการดําเนินงานในแต่ละส่วนและกําหนดเป็นนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่ต้องดําเนินการเพื่อการนำไปปฏิบัติจริง (Heizer et al., 2020) ซึ่งเป็นกลยุทธ์หนึ่งในการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม และถือเป็นการสร้างชื่อเสียงให้แก่องค์การและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีลูกค้าที่ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ
ตัวแปรที่นำไปสู่การจัดการห่วงโซ่อุปทานสีเขียว คือ การจัดการด้านวัตถุดิบ การจัดการด้านพลังงาน และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี เนื่องจากทั้งวัตถุดิบและพลังงานต่างเป็นทรัพยากรการผลิตที่สำคัญ การดำเนินงานควรเน้นที่การวางแผนและการบริหารจัดการใช้วัตถุดิบอย่างคุ้มค่ามากที่สุด ลดการสูญเสีย ร่วมกับการวางแผนด้านการลดปริมาณมาณใช้พลังงานหรือใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยอำนวยความสะดวก ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวจะเกิดผลสัมฤทธิ์สูงสุดจากความร่วมมือกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทานในรูปแบบของพันธมิตร หากการดำเนินการดังกล่าวเป็นเพียงองค์การใดองค์การหนึ่งแล้ว อาจเป็นไปในลักษณะของการผลักปัญหาสิ่งแวดล้อมให้กับผู้อื่นที่เกี่ยวข้องกันในห่วงโซ่อุปทาน ทั้งนี้การร่วมมือกันจะทำให้เกิดการค้นพบแนวทางการปฏิบัติที่เหมาะสมผ่านใช้เทคโนโลยีเข้าช่วยเพื่อให้เกิดการพัฒนาได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
กรอบในการวิเคราะห์การจัดการห่วงโซ่อุปทานเพื่อสิ่งแวดล้อมขององค์การแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ซึ่งเป็นการจัดการที่เน้นการสร้างเครือข่ายและความร่วมมือเพื่อควบคุม จัดการ และปรับปรุงประสิทธิภาพ ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ กระบวนการผลิต และการขนส่งไปยังลูกค้า เพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยการใช้วัตถุดิบ พลังงาน แรงงาน และทรัพยากรการผลิตอื่นๆ อย่างยั่งยืน เพื่อลดของเสียที่อยู่ในรูปก๊าซ ของแข็ง หรือของเหลวในทุกขั้นตอนช่วงผลิตภัณฑ์ (Bowersox et al., 2020) ดังรูปภาพซึ่งสามารถอธิบายได้ดังนี้
ส่วนต้นน้ำ : การยกระดับซัพพลายเออร์ทางธุรกิจ การสร้างความเข้มแข็งและเพิ่มโอกาสทางการแข่งขันให้กับคู่ธุรกิจไม่ใช่เรื่องใหม่ องค์การชั้นนำมีการพัฒนาซัพพลายเออร์ผ่านโครงการ Greening the Supply Chain ซึ่งเป็นโครงการสนับสนุนการจัดหาซัพพลายเออร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งพิจารณาสินค้าที่ได้รับการรับรองฉลากเขียวหรือได้มาตรฐานตามเกณฑ์ที่กําหนด ประกอบด้วย การปฏิบัติตามกฎหมาย การใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างคุ้มค่า การควบคุมการผลิต และการจัดการของเสีย ด้วยการเข้าไปให้ความรู้ ให้คําปรึกษา และสร้างแรงจูงใจเพื่อให้เกิดการพัฒนาระบบการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ส่วนกลางน้ำ : การปรับปรุงภายในกระบวนการผลิต องค์การได้ปรับปรุงประสิทธิภาพ วิเคราะห์กระบวนการตั้งแต่รับวัตถุดิบไปตลอดจนถึงเป็นสินค้า ซึ่งครอบคลุมไปถึงการขนส่ง เพื่อเป็นองค์การต้นแบบเทียบเท่ามาตรฐานระดับสากลด้วยการบริหารคุณภาพทั่วทั้งองค์การ (Total Quality Management) และการบํารุงรักษาทวีผล (Total Productive Maintenance) เช่น การปรับเปลี่ยนกระบวนการและการควบคุมการผลิตเพื่อใช้เชื้อเพลิงชีวมวลและเชื้อเพลิงทดแทนโดยสามารถเพิ่มได้กว่าร้อยละ 11 ในปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังมีการนําเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการทําเครื่องผลิตน้ำร้อน (Heat Recovery) เพื่อลดการใช้ไอน้ำและชะลอการก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกได้กว่าร้อยละ 20 เป็นต้น
ส่วนปลายน้ำ : การสร้างคุณค่าเพิ่มสู่ลูกค้า การที่องค์การจะยั่งยืนอยู่ได้นั้นต้องเข้าใจความต้องการที่แท้จริงของลูกค้าที่มีความคาดหวังโดยไม่ได้จํากัดขอบเขตเฉพาะในส่วนที่เป็นผลกระทบโดยตรงจากการดําเนินธุรกิจ แต่ได้ขยายบทบาทในการสนับสนุนเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน องค์การจึงได้กําหนดให้มีช่องทางรับรู้ความต้องการของลูกค้าที่สามารถนําไปสู่การตอบสนองได้สอดคล้องกับความพึงพอใจและทันที ซึ่งจะนําข้อต่างๆ ที่ได้ไปสู่การปรับปรุงพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ สู่สินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังช่วยสร้างให้เกิดความภาคภูมิใจและความซื่อสัตย์ต่อสินค้าขององค์การอีกด้วย
สุดท้ายนี้การจัดการห่วงโซ่อุปทานเพื่อสิ่งแวดล้อมนั้นองค์การต้องมุ่งเน้นการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบโลจิสติกส์สีเขียวภายในองค์การ ไม่ว่าจะเป็นด้านการจัดซื้อจัดหา การผลิต สินค้าคงคลัง คลังสินค้า บรรจุภัณฑ์ การขนส่งและกระจายสินค้า ต่อเนื่องไปยังการเจรจากับคู่ค้าและการให้บริการลูกค้า ซึ่งจะประสบความสำเร็จได้ด้วยความร่วมมือของทุกหน่วยงานภายในองค์การตลอดห่วงโซ่อุปทาน หน่วยงานที่ออกแบบผลิตภัณฑ์ต้องคำนึงถึงกระบวนการการเคลื่อนย้ายสินค้าที่ก่อให้เกิดประสิทธิภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น ไม่สั่งวัตถุดิบเกินจำเป็น สามารถลำเลียงสินค้าได้เต็มคันยานพาหนะ ลดจำนวนยานพาหนะหรือเที่ยวเปล่าที่ไม่จำเป็น ใช้พลังงานสะอาด นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ เป็นต้น จึงเป็นความท้าทายของทุกหน่วยงานที่จะช่วยให้องค์การมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนในอนาคต เพื่อมอบการทำงานที่มีคุณภาพและความพึงพอใจสูงสุดให้แก่ลูกค้าและพนักงานทุกคน รวมทั้งการรักษาสิ่งแวดล้อมให้กับสังคม แล้วองค์การของคุณพร้อมหรือยังกับการเปลี่ยนแปลงการบริหารไปสู่ห่วงโซ่อุปทานสีเขียวแบบเต็มตัวเพื่อสังคมและโลกใบนี้
ที่มา: SCG, 2017.