บทบาทและเป้าหมายของรัฐบาลในทางเศรษฐกิจ

  • Post author:
  • Post category:Uncategorized

บทบาทและเป้าหมายของรัฐบาลในทางเศรษฐกิจ
1. บทบาทของรัฐบาลในทางเศรษฐกิจ โดยหลักการแล้ว ถ้าเชื่อว่าการปล่อยให้กลไกเศรษฐกิจทำงานโดยมีการแข่งขันแบบเสรีจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดแล้ว รัฐบาลควรจะเข้าไปมีบทบาทเกี่ยวกับการจัดสรรการใช้ทรัพยากรของสังคมให้น้อยที่สุดเท่าที่จะน้อยได้ หรืออาจไม่จำเป็นต้องมีรัฐบาลเลยก็ได้ ทั้งนี้เพราะหากปล่อยให้ประชาชนแต่ละคนได้ประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจของตนโดยอิสระแล้วจะทำให้การจัดสรรการใช้ทรัพยากรของสังคมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดโดยใช้กลไกของราคาและปล่อยให้ระบบตลาดทำหน้าที่ของมันเองตามหลักอุปสงค์-อุปทาน และอาศัย “มือที่มองไม่เห็น” หรือ “Invisible hand” มาจัดการให้ตลาดเข้าสู่ระบบดุลยภาพแล้วสังคมจะได้รับความพอใจ หรือได้รับสวัสดิการสูงสุด
อย่างไรก็ตาม ในโลกของความเป็นจริงแล้ว กลไกของตลาดหรือราคานั้นจะไม่สามารถทำหน้าที่ของมันได้อย่างสมบูรณ์เต็มที่และอาจเป็นสาเหตุสำคัญที่สามารถทำลายความสงบสุขของสังคมได้ ดังนั้น รัฐบาลในฐานะที่เป็นองค์การที่ใช้อำนาจอธิปไตยของรัฐทางการบริหารจึงต้องเข้ามามีบทบาททางเศรษฐกิจ โดยเป็นผู้จัดสรรสินค้าและบริการในส่วนที่เอกชนไม่อาจทำได้ดี หรือไม่สามารถทำได้ เพื่อให้ประชาชนได้รับสินค้าและบริการที่ดีโดยการดำเนินมาตรการทางด้านการคลังและมาตรการทางด้านการเงิน สำหรับสาเหตุสำคัญที่ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องยื่นมือเข้าไปมีบทบาทหรือแทรกแซงการประกอบการทางเศรษฐกิจของเอกชนมีดังนี้ (เกริกเกียรติ พิพัฒน์เสรีธรรม 2552)
1. การรักษาตัวบทกฎหมายและการจัดระเบียบภายในสังคม
2. การวางกำหนดกฎเกณฑ์เพื่อช่วยให้กลไกตลาดทำหน้าที่ให้ได้ดียิ่งขึ้น
3. ทำหน้าที่จัดสรรสินค้าและบริการที่กลไกตลาดไม่สามารถทำหน้าที่ได้โดยเฉพาะสินค้า
สาธารณะ (public goods and services)
4. การตัดสินใจเกี่ยวกับการเลือกที่จะบริโภคในปัจจุบันหรือจะเลื่อนการบริโภคไปบริโภคใน
อนาคต
5. การป้องกันการผันผวนในทางเศรษฐกิจ
6. การสร้างความเป็นธรรมในสังคม
2. เป้าหมายทางเศรษฐกิจของรัฐบาล
ไม่ว่ารัฐ / รัฐบาลใดจะใช้ระบบเศรษฐกิจและแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ในรูปแบบไหน รัฐ / รัฐบาล ต่างมีเป้าหมายในทางเศรษฐกิจของรัฐที่คล้ายคลึงกัน เป้าหมายดังกล่าว ได้แก่
1) เป้าหมายเพื่อความเจริญเติบโต / ก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ (economic growth / economic progress) การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจหมายถึง “การเพิ่มขึ้นของผลผลิตทั้งหมดทั้งในแง่ของการลงทุน การผลิต และการบริโภค” ดังนั้น การที่ระบบเศรษฐกิจมีการลงทุน มีการผลิต และมีการบริโภคเพิ่มมากขึ้นได้ย่อมแสดงให้เห็นว่า ระบบเศรษฐกิจของรัฐนั้น ๆ มีการจัดสรรทรัพยากรและการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์แก่สังคมและประเทศชาติ การจะพิจารณาว่าเศรษฐกิจเจริญเติบโตหรือไม่ มากน้อยเพียงใดนั้น สิ่งหนึ่งดูได้จาก ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ หรือ Gross National Product (GNP) ว่าเพิ่มขึ้นในอัตราเท่าใดเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ถ้า GNP มีค่าสูงกว่าแสดงว่ารัฐ / รัฐบาลประสบกับความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ
ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ Gross National Product (GNP) คือมูลค่าสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายที่ผลิตขึ้นโดยใช้ทรัพยากรที่คนของประเทศนั้นๆ เป็นเจ้าของ มีทั้งที่ผลิตในและนอกประเทศในช่วงระยะเวลาหนึ่ง โดยอาจคำนวณเป็นราย 3-6 และ 12 เดือน การคำนวณผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติมีอยู่ 3 วิธี คือ การคำนวณทางด้านผลผลิต ทางด้านรายจ่าย และทางด้านรายได้ การคำนวณทางด้านผลผลิต เป็นการรวมมูลค่าของผลผลิตขั้นสุดท้าย ส่วนการคำนวณทางด้านรายจ่าย เป็นการรวมรายจ่ายต่างๆ ซึ่งประกอบด้วย
(1) รายจ่ายเพื่อการบริโภคของเอกชน
(2) รายจ่ายเพื่อการลงทุนของเอกชน ซึ่งจำแนกเป็นการซื้อเครื่องมือเครื่องจักร สินค้าคงคลัง และค่า
ก่อสร้างสิ่งก่อสร้างใหม่
(3) รายจ่ายเพื่อการบริโภคและการลงทุนของภาครัฐบาล
(4) การส่งออกสุทธิ
สำหรับการคำนวณทางด้านรายได้ เป็นการคำนวณผลรวมของค่าจ้าง ดอกเบี้ยกำไรก่อนเสียภาษี และค่าเสื่อมราคา
โดยสรุปผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ หรือที่เรียกย่อๆ ว่า GNP (Gross National Product ) หมายถึง มูลค่า (value) ของทุกสิ่งอย่างที่ได้ผลิตและขายในช่วงปีหนึ่ง (ทั้งนี้จะรวมถึงมูลค่าของต้นทุนในการบริการสาธารณะด้วย) ซึ่งในเรื่องนี้ จอห์น เคนเนธ กัลเบรธ(John Kenneth Galbreth) เห็นว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติเกือบจะเป็นสิ่งเดียวกับรายได้ประชาชาติ
สำหรับ ดัชนีหรือสิ่งที่ชี้วัดถึงความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ได้แก่ GNP, รายได้ต่อหัวประชากร (per capita income) อัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรและระดับราคาสินค้า (price index number) และอัตราเงินเฟ้อ เป็นต้น
2) เป้าหมายเพื่อความมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ (economic stability) ความมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจเป็นเป้าหมายที่สำคัญในทางเศรษฐกิจอีกเป้าหมายหนึ่งของรัฐบาล การที่จะเกิดเสถียรภาพทางเศรษฐกิจได้นั้นรัฐ / รัฐบาลจะต้องให้ “การดูแลและควบคุมให้ความเจริญเติบโต หรือความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างสม่ำเสมอ” ถ้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วอาจก่อให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ (inflation) ในทางตรงกันข้ามหากเศรษฐกิจชะลอตัวลงอย่างรวดเร็ว อาจก่อให้เกิดการว่างงาน เกิดสภาวะเงินฝืดอันเป็นการแสดงถึงความไร้เสถียรภาพทางเศรษฐกิจอีกเช่นกัน การที่จะรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศและรัฐบาลไว้ให้ได้ จำเป็นต้องมีมาตรการทางด้านการคลังและด้านการเงิน ตลอดจนมาตรการเฉพาะด้านอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่าง เช่น การปรับปรุงอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศหรือการประกาศลอยตัวค่าเงินให้เป็นไปตามกลไกของตลาด ฯลฯ เป็นกลไกที่สำคัญที่สามารถนำมาใช้สร้างความมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศได้
3) เป้าหมายเพื่อความยุติธรรม / ความเท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ (economic justice หรือ economic equity) ความยุติธรรม/ ความเท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นในสังคมได้รัฐ / รัฐบาลจำเป็นต้อง “ดำเนินการจัดสรรทรัพยากรเพื่อการผลิตและการแข่งขันสินค้าและบริการให้ทั่วถึงและเป็นธรรม” แก่สมาชิกในสังคม การจะสร้างความเป็นธรรมหรือความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจจะเกี่ยวข้องกับ
(1) การกระจายรายได้ (รายได้กระจายตัว / กระจุกตัว)
(2) การมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน (มี / ไม่มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน)
(3) การเท่าเทียมกันในโอกาสและการได้รับบริการทางสังคม / บริการสาธารณะอย่างเป็นธรรม ความเท่าเทียมกันนี้จะแตกต่างกันไปในแต่ระบบเศรษฐกิจ กล่าวคือ
– ถ้าเป็นระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม/ capitalism ความเท่าเทียมจะเน้นที่ความสามารถ โดยจะได้ goods and services ซึ่งเป็นผลตอบแทนตามความสามารถ
– ถ้าเป็นระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม ความเท่าเทียมกันจะหมายถึงการมีรายได้เท่าเทียมกันหรือไม่แตกต่างกันมากนัก
– หากเป็นระบบคอมมิวนิสต์ ความเท่าเทียมกันจะพิจารณาจากการที่แต่ละคนได้รับสินค้าและบริการตามที่ตนเองต้องการ
– หากเป็นระบบเศรษฐกิจแบบผสม (mixed economy) ถือว่าการมีรายได้ตามควรแก่อัตภาพและ หรือ มือใครยาวสาวได้สาวเอาถือว่าเป็นความเท่าเทียมกัน
4) เป้าหมายเพื่อเสรีภาพทางเศรษฐกิจ (economic freedom) เสรีภาพในที่นี้หมายถึง “เสรีภาพในการเลือก” ทั้ง (1) การมีเสรีภาพในการที่จะเลือกบริโภค (2) การมีเสรีภาพในการผลิต และ (3) การมีเสรีภาพในทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ เสรีภาพในการเลือกจะแตกต่างกันไปในแต่ละสังคม แล้วแต่ว่าสังคมใด รัฐ / รัฐบาลใด จะมีระบบเศรษฐกิจและระบบการเมืองการปกครองเป็นอย่างไร เช่น
– การมีระบบการเมืองการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย หากเป็นประเทศประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์แบบ เช่น สหรัฐ, อังกฤษ, ฝรั่งเศส ฯลฯ ซึ่งเป็นระบบการเมืองการปกครอง ที่มีกลุ่มผลประโยชน์มีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายระดับสูงแล้ว เอกชนจะมีเสรีภาพทางเศรษฐกิจที่จะเลือกผลิต จำหน่าย บริโภค ฯลฯ ได้เต็มที่รัฐบาลจะไม่เข้าไปบังคับหรือควบคุม แต่จะปล่อยให้เป็นไปตามกลไกของตลาดเสรี
– หากมีระบบการเมืองการปกครองเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ เช่นประเทศจีน กำหนดให้มีพรรคการเมืองพรรคเดียวคือ พรรคคอมมิวนิสต์เป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยของชาติ จะใช้อำนาจในการควบคุมและป้องกันสูง (ป้องกันมิให้เอกชนเข้ามาประกอบธุรกิจ)แต่ในปัจจุบันประเทศจีนได้ปรับเปลี่ยนไปใช้แนวคิด “หนึ่งประเทศ สองระบบ” ซึ่งเป็นแนวคิดที่ริเริ่มเสนอโดย เติ้ง เสี่ยวผิง (Dèng Xiǎopíng) ผู้นำสูงสุดของสาธารณรัฐประชาชนจีนในขณะนั้นเพื่อการรวมประเทศจีนระหว่างต้นคริสต์ทศวรรษ 1980 เขาเสนอว่าจะมีเพียงจีนเดียว แต่เขตจีนอิสระ เช่น ฮ่องกง มาเก๊าและไต้หวัน สามารถมีระบบเศรษฐกิจและการเมืองแบบทุนนิยมได้ ขณะที่ส่วนที่เหลือของจีนใช้ระบบสังคมนิยม ภายใต้ข้อเสนอนี้ แต่ละเขตสามารถคงมีระบบการเมือง กฎหมาย เศรษฐกิจและการเงินของตนได้ รวมทั้งความตกลงด้านพาณิชย์และวัฒนธรรมกับต่างประเทศ และจะมี “สิทธิบางอย่าง” ในการติดต่อระหว่างประเทศ เช่น ไต้หวันสามารถคงมีกำลังทหารของตนได้ และเป็นการหลีกเลี่ยงการรับรองไต้หวันว่าเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐจีน
สำหรับเป้าหมายทางเศรษฐกิจทั้ง 4 ด้านของรัฐ / รัฐบาล ดังกล่าวนี้ รัฐ / รัฐบาลจะให้น้ำหนักความสำคัญไม่เท่ากันในแต่ละช่วงเวลา แต่จะพิจารณาจัดลำดับความสำคัญของเป้าหมายโดยพิจารณาจาก (1) สถานการณ์ทางเศรษฐกิจ (2) สภาวการณ์ทางด้านสังคม (3) สภาวการณ์ทางด้านการเมือง ที่เป็นอยู่ในขณะนั้น ๆ