ตามที่ Michael Gelb ได้รวบรวมข้อมูลจากบันทึกของลีโอนาโด ดาวินชี ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในอัจริยะบุคคลของโลก และจากแหล่งต่างๆ โดย เขาได้ตั้งชื่อแนวทางต่างๆ เป็นภาษาอิตาเลียน เพื่อเป็นเกียรติแก่ดาวินชี และเรียกแนวทางทั้งเจ็ดว่า Seven Da Vincian Principles ได้แก่
1-Curiosita – ความสนใจใคร่รู้ ถ้าเป็นภาษาอังกฤษก็คือ Curious ตามแนวทางของดาวินชีเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ และเป็นธรรมชาติที่อยู่คู่มนุษย์ มนุษย์ทุกคนมีความอยากรู้อยากเห็น อยู่กับตัวทุกคน เพียงแต่เราจะนำมันมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไร ถ้าใช้ในทาง ที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ก็จะเป็นการ “สอดรู้สอดเห็น” แต่ถ้าใช้ในทางที่ดีก็จะเป็นความอยากจะแสวงหา และพัฒนาความรู้ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องเวลา
ดาวินชีเองเป็นผู้ที่มีความสนใจ ใคร่อยากจะรู้ในสิ่งต่างๆ รอบตัวตลอดเวลา โดยการตั้งคำถามตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสิ่งที่เขาถนัดหรือแม้กระทั่งสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัว ความอยากรู้อยากเห็น อยากจะทำความเข้าใจ ต่อสิ่งต่างๆ ทำให้ดาวินชีไม่หยุดที่จะแสวงหาความรู้ใหม่ใส่ตัวตลอดเวลา ดาวินชีเองจะคอยตั้งคำถามต่อสิ่งต่างๆ รอบตัว ซึ่งเราก็รู้อยู่แล้วว่า การตั้งคำถามที่ดี จะช่วยพัฒนากระบวนการในการคิด ซึ่งถ้าเรานำหลักประการนี้ของ ดาวินชีมาใช้ใน การบริหารจัดการ แล้ว เราก็จะพบว่า นวัตกรรม และสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นมานั้น ส่วนใหญ่จะมีจุดเริ่มต้นมาจาก คำถามที่ผู้บริหาร อยากจะรู้ โดยเฉพาะคำถาม ที่ฝรั่งเขาเรียกว่า ‘What if.?’ ซึ่งคำถามนี้เองได้ช่วยกระตุ้นให้เกิด นวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ใหม่มากมาย จะเป็นสิ่งที่กระตุ้นกระบวนการในการคิด และทำให้มองสิ่งรอบตัวในมุมมองใหม่
2-Dimostrazione – การแสวงหาประสบการณ์ เพื่อก่อให้เกิดการเรียนรู้จากประสบการณ์ และความผิดพลาด ที่เกิดขึ้น เป็นที่รับทราบกันโดยทั่วไปว่า ประสบการณ์เป็นบ่อเกิดที่สำคัญต่อปัญญา และความฉลาดของคน
ดาวินชีเป็นผู้ที่ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์เป็นอย่างมาก โดยไม่ยอมรับหลักการหรือ ทฤษฎีที่เป็นที่ยอมรับกันในสมัยนั้นจนกว่าจะได้ทดลองหรือประสบการณ์ด้วยตัวเอง ดาวินชียอมรับได้ว่าการเรียนรู้จากประสบการณ์มีโอกาสได้พบเจอความผิดพลาด แต่ถึงจะผิดพลาดอยู่หลายครั้ง แต่เขาเองก็ไม่เคย หยุดที่จะเรียนรู้ เสาะแสวงหาสิ่งใหม่ และทดลองในสิ่งต่างๆ
3-Sensazione– การเรียนรู้จากประสาทสัมผัส ดาวินชีเป็นผู้หนึ่งที่ให้ความสำคัญต่อประสาทสัมผัสทั้งห้า (การมองเห็น ได้ยิน สัมผัส รสชาติ และกลิ่น) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การมองเห็น (ผ่านทางการวาดภาพ) ตามมาด้วยการได้ยิน (ดนตรี) นอกจากนี้ดาวินชี ก็ยังให้ความสำคัญต่อประสาทสัมผัสด้านอื่น ไม่ว่าจะเป็นการสวมเสื้อผ้า ที่มีเนื้อผ้า ที่ดีที่สุด ในห้องทำงานของดาวินชีจะอบอวลด้วยกลิ่นดอกไม้ และน้ำหอมตลอดเวลา ส่วนในด้านอาหารนั้น ดาวินชีเป็นผู้ที่ให้ความสำคัญ ต่อการออกแบบ และรสชาติของอาหาร เราอาจจะไม่ทราบว่า ดาวินชีเป็นคนแรกที่สร้างสรรค์แนวคิดของการนำเสนออาหารที่คำเล็ก แต่อุดมด้วยสุขภาพสำหรับงานเลี้ยงต่างๆ โดยคำกล่าวหนึ่งของดาวินชีคือ คนเราส่วนใหญ่แล้ว มองโดยไม่เห็น ฟังโดยไม่ได้ยิน สัมผัสโดยไม่รู้สึก กินโดยไม่รู้รสชาติ หายใจเข้าโดยไม่ตระหนักถึง กลิ่นหอม และ พูดโดยไม่คิด
ดาวินชีให้ความสำคัญต่อการปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการทำงานให้เหมาะสมต่อประสาทสัมผัสของเรา และดาวินชีเองก็ยอมรับว่า สิ่งที่ประสาทสัมผัสเรา ได้รับรู้นั้นเปรียบเสมือนกับเป็น อาหารให้กับสมองด้วย หลักการข้อนี้ของดาวินชีสามารถนำมาปรับใช้ในการบริหารได้เช่นกัน ปัจจุบันเราเรียกร้องให้ พนักงาน มีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น พัฒนานวัตกรรมมากขึ้น รวมทั้งการบอกให้พนักงานต้องช่วยกันคิดนอกกรอบ แต่ในขณะเดียวกันกลับไม่ได้สร้าง สภาพแวดล้อม ในการทำงานให้เหมาะสมต่อความคิดสร้างสรรค์และการคิดนอกกรอบ ในอดีตเป็นที่ยอมรับว่า ในตอนที่เราเป็นเด็กนั้น ถ้าเราได้รับ การกระตุ้นที่เหมาะสมจากสภาวะแวดล้อม ก็จะส่งผลต่อพัฒนาการของสมอง แต่ในปัจจุบันมีการค้นพบอีกแล้วครับว่า การกระตุ้นจากสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสม ก็มีผลต่อการกระตุ้นพัฒนาการของสมองผู้ใหญ่เช่นเดียวกัน
4-Sfumato- การยอมรับความขัดแย้ง ขุ่นมัว คงต้องมองย้อนกลับไปที่หลักการทั้ง 3 ประการแรกของดาวินชี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ การสืบเสาะแสวงหาความรู้ใหม่ การพร้อมที่จะเรียนรู้จาก ประสบการณ์ และจากประสาทสัมผัส ทำให้เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ดาวินชีจะต้องเผชิญกับความคลุมเครือ ความไม่แน่นอน รวมถึงความขัดแย้งใน แนวคิดต่างๆ อยู่ตลอดเวลา ทำให้ดาวินชีเองจะต้องเป็นผู้ที่มีความสามารถอย่างมากมายในการยอมรับ และเผชิญต่อ ความไม่แน่นอนดังกล่าว และถ้ามองย้อนมาที่ปัจจุบันเราก็คงยอมรับว่าความไม่แน่นอน คลุมเครือ ความขัดแย้งต่างๆ เป็นสิ่งที่เราจะต้องเผชิญมากขึ้น
ดาวินชีถือเป็นบุคคลมีความสามารถที่จะคิดสร้างสรรค์และจินตนาการในสิ่งใหม่ ภายใต้ความไม่แน่นอน ได้จากการไม่หมกมุ่น อยู่กับงานมากเกินไป ดาวินชีเคยพูดไว้ว่า “อัจฉริยะที่แท้จริงนั้นในบางครั้งสามารถทำงานให้สำเร็จได้มากขึ้น โดยการทำงานที่น้อยลง” ดาวินชีจะมีการสลับระหว่าง การทำงานและการพักผ่อน อยู่ตลอดเวลา ในหลายๆ ครั้งความคิดชั้นเยี่ยมจะออกมาจาก สมองของดาวินชีในช่วงที่เขาพักผ่อนจากงาน ผู้อ่านลองสังเกตดู จะพบว่าในหลายๆ สถานการณ์เรา จะคิดสิ่งที่ดีๆ หรือสร้างสรรค์ออกมาได้ในช่วงที่เราผ่อนคลายหรือพักผ่อน อาจจะเป็นช่วงที่นอนเล่นอยู่บนเตียง ขับรถฟังเพลง อาบน้ำ คงจะพบสรุปได้ว่าคนเราส่วนใหญ่จะคิดสิ่งดีๆ ออกมาได้ในช่วงที่เราพักผ่อน และอยู่กับตัวเอง เราอาจจะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการทำงานใหม่ คนทำงานจำนวนหนึ่งมักจะใช้เวลาตลอดวันนั่งทำงานอย่างเคร่งเครียด และหมกมุ่น จนเกินพอดี เราสามารถเพิ่มประสิทธิผลในการทำงาน และความสนุกในการทำงานได้ด้วยการทำงานติดต่อกันประมาณชั่วโมงหนึ่ง จากนั้นจะต้องพักผ่อน สักระยะ งานวิจัยทางด้านจิตวิทยาระบุว่า เมื่อเราทำงานประมาณชั่วโมงหนึ่งและหลังจากนั้นให้พักผ่อนอย่างจริงจังประมาณสิบนาที เราจะสามารถจดจำงาน หรือสิ่งที่เราทำได้ดีกว่าทำงานติดต่อกันไปเรื่อยๆ นักจิตวิทยาเรียกปรากฏการณ์ดังกล่าวว่าเป็น Reminiscence Effect Imagen de Archivo ดาวินชีกล่าวไว้ว่า “จะเป็นการดีถ้าเราหยุดพักจากการทำงานเป็นระยะๆ เนื่องจากเมื่อกลับมาแล้วจะทำให้ตัดสินใจได้ดีขึ้น” ดังนั้น เราต้องหาโอกาสและเวลาพักจากการทำงานบ้าง
5-Arte/Scienza– การพัฒนาสมองสองฝั่ง สมองเรามี 2 ด้าน ดาวินชีเองถือเป็นอัจฉริยะ ที่ใช้สมองทั้งซีกซ้ายและขวาในการคิด สังเกตได้ว่า ดาวินชีเป็นทั้งนักคิด นักวิทยาศาสตร์เอกของโลก และในขณะเดียวกัน ก็เป็นศิลปินเอกของโลก (หาได้ไม่กี่คนที่จะใช้สมองทั้งสองข้างได้เก่งเท่าดาวินชี) ประเด็นที่น่าสนใจ ก็คือดาวินชีไม่ได้แยกวิทยาศาสตร์และศิลปะ ออกจากกันชัดเจน ดาวินชีเองยอมรับในหลายโอกาสว่า ในการสร้างสรรค์งานศิลปะนั้น เขาได้นำเอาหลักการทางวิทยาศาสตร์เข้ามาผสมผสาน ทำให้ดาวินชีเป็นคนที่สามารถมองเห็นทั้งภาพรวม (ใช้สมองข้างขวาเป็นหลัก) และรายละเอียดของสิ่งต่างๆ (ใช้สมองข้างซ้ายเป็นหลัก) ได้พร้อมกัน พวกที่ชอบใช้สมองด้านขวา มักจะเป็นพวกที่ออก แนวศิลป์ เน้นสัญชาตญาณในการตัดสินใจ ส่วนพวกที่ใช้สมองด้านซ้าย จะเป็นพวกที่ชอบหลักการ การคิดเชิงวิเคราะห์ และการตัดสินใจ ที่เป็นเหตุเป็นผล คนเราส่วนใหญ่มักจะใช้สมองเพียงข้างใดข้างหนึ่ง ในการคิดตัดสินใจ ซึ่งส่วนมากมักจะเป็นสมองด้านซ้าย (พวกชอบใช้เหตุผล) จะเรียนหนังสือดี มีหลักการ แต่ขาดจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ ในขณะพวกที่ใช้สมองข้างขวา มักจะรู้สึกว่าตนเองชอบคิดเพ้อเจ้อ ฟุ้งซ่าน ขาดหลักเหตุผล พวกที่ชอบใช้สมองฝั่งซ้ายก็มักจะคิดตลอดว่า ตนเองขาดความคิดสร้างสรรค์ ส่วนพวกที่ใช้สมองฝั่งขวาก็มักจะคิดว่าตนเองขาดวินัยและคิดเชิงเหตุผลไม่เป็น ในความเป็นจริงแล้วเราต้องรู้จักที่จะพัฒนาการใช้งานสมองทั้งสองด้านไปพร้อมกัน นั่นคือให้เกิดความสมดุลระหว่าง ศิลป์และวิทยาศาสตร์ ระหว่างสัญชาตญาณ และเหตุผล ระหว่างการเล่นและการเอาจริงเอาจัง และระหว่าง การวางแผนกับการทำตามใจตนเอง
Tony Buzan antwortet auf eine Frage von Dr. Edward de Bono’s Bruder มรดกในการคิดของดาวินชีได้ถูกพัฒนาขึ้นมา เป็นแนวคิดที่นิยมใช้กันในปัจจุบัน ในเรื่องของ Mind-mapping (ถูกพัฒนาขึ้นมาโดย Tony Buzan) ซึ่งได้รับอิทธิพลจากสมุดบันทึกต่างๆ ของดาวินชี กล่าวกันว่า การใช้ Mind-mapping อย่างสม่ำเสมอ จะเป็นการฝึกหัดให้ใช้สมองทั้งสมองคิด และทำให้เป็นนักคิดอย่างสมดุล เฉกเช่นเดียวกับดาวินชี ทั้งนี้ เนื่องจากวิธีการคิดแบบเดิมของเราที่คิดเป็นข้อๆ จะทำให้กระบวนการในการคิดขาดจินตนาการ และความคิดสร้างสรรค์ พร้อมกันนั้น ก็รู้สึกเหมือนกับมีสิ่งปิดกั้นหรือขวางความคิดของเราอยู่ ทำให้เปรียบเหมือนเรา ใช้ประโยชน์จากเพียง แค่ครึ่งหนึ่งของสมองเรา ในการคิด แต่การใช้ Mindmap ผสมผสานด้วยศิลปะและรูปภาพใน Mindmap จะเป็นการฝึกหัดให้เราใช้ทั้ง สมองข้างซ้ายและข้างขวา ไปพร้อมๆ กัน
6-Corporalita– การมีสุขภาพร่างกายที่สมบูรณ์ The cultivation of ambidexterity, fitness, and poise ที่ผ่านมา คนในสังคมส่วนใหญ่มักจะคิดและมีทัศนคติที่ว่า พวกที่มีรูปร่าง ร่างกายที่เป็นนักกีฬามักจะมีโอกาสยากที่จะเป็นอัจฉริยะทางด้านปัญญา และในทางกลับกัน ผู้ที่มีสมองที่เป็นเลิศ ก็มักจะไม่ใช่ผู้ที่มีร่างกายของนักกีฬา
ดาวินชีเห็นต่าง เนื่องจากดาวินชีเอง ถึงแม้จะเป็นอัจฉริยะ แต่ก็ไม่ใช่อัจฉริยะ ที่มีลักษณะตัวเล็ก หัวโต ใส่แว่นหนาเตอะ แต่ดาวินชีเองถือว่า เป็นผู้ที่มีร่างกายที่สมบูรณ์ผู้หนึ่ง คนในยุคเขาเรียก ดาวินชีว่า เป็นผู้ที่มีร่างกายที่สวยงาม (Great physical beauty) ในยุคนั้นดาวินชีมีชื่อมากในเรื่องของความสมบูรณ์ แข็งแรงของร่างกาย มีพยานรู้เห็นที่ระบุว่า ดาวินชีเคยหยุดม้าที่วิ่งอย่างรวดเร็ว ด้วยการใช้มือดึง บังเหียนไว้ (ดาวินชีคงจะยืนอยู่ที่พื้นครับ) หรือแม้กระทั่งนักวิชาการจำนวนมากก็ระบุว่า การที่ดาวินชีให้ความสนใจอย่างมากต่อร่างกายของมนุษย์นั้น ก็เนื่องมาจาก ความสมบูรณ์ในร่างกายของเขาเอง การรักษาสุขภาพร่างกายของตนเองสำคัญต่อความพร้อมของร่างกาย จะส่งผลกระทบต่อความพร้อมของสมองเรา ถ้าร่างกายเราอ่อนแอหรือเจ็บป่วย ก็ย่อมส่งผลต่อจิตใจและความคิดของเราด้วย
Corporalità is “the cultivation of grace, ambidexterity, fitness, and poise”. Leonardo had amazing physical ability that complemented his genius in science and arts.
7-Connessione – การคิดเชิงระบบ หรือคิดเชิงองค์รวม A recognition and appreciation for the connectedness of all things and phenomena หรือ systems thinking เป็นการให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งต่างๆ ดาวินชีเป็นผู้ที่ปฏิบัติตามแนวคิดนี้มาตลอด งานหลายๆ ชิ้นของดาวินชีแสดงให้เห็นถึงความสามารถของเขาในการคิดเชิงองค์กรรวม หรือความสัมพันธ์ระหว่าง ปัจจัยต่างๆ รูปภาพหลายรูปของดาวินชีก็เป็นผลจากความสามารถในการเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งรูปของสัตว์ในเทพนิยาย) แนวคิดในประเด็นสุดท้ายของดาวินชีนี้สอดคล้องกับหนึ่งในแนวคิด ในเรื่องขององค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization) ที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน