1. การควบคุมการปฏิบัติงาน หมายถึง การติดตามตรวจสอบการปฏิบัติงานต่างๆในองค์การ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ เครื่องมือที่ใช้ในการควบคุมการปฏิบัติงาน ได้แก่ การกำหนดแผนงานประจำวัน และการจัดทำแผนภูมิแกนต์ (Gantt Chart) ซึ่งเป็นเครื่องมือในการควบคุมการปฏิบัติงานที่แสดงกิจกรรม ระยะเวลา และสถานภาพปัจจุบันของกิจกรรมต่างๆ มีลักษณะเป็นตารางแนวนอนและแผนภูมิแท่ง โดยกิจกรรมอยู่ด้านซ้ายมือและระยะเวลาอยู่ด้านขวา เพื่อช่วยให้ผู้บริหารองค์การควบคุมการปฏิบัติงานได้เมื่อพิจารณาความคืบหน้าของแต่ละกิจกรรม
2. การควบคุมการเงิน หมายถึง การติดตามตรวจสอบการเงินและการใช้จ่ายเงินขององค์การ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ เช่น การวิเคราะห์จุดคุ้มทุน การตั้งงบประมาณระบบพีพีบีเอส และการควบคุมสินค้าคงคลัง เป็นต้น
3. การควบคุมเวลา หมายถึง การติดตามตรวจสอบการดำเนินงานต่างๆตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดว่ามีการดำเนินการตามระยะเวลาที่กำหนดไว้หรือไม่ อย่างไร เนื่องจากถ้างานบางอย่างล่าช้าหรือไม่เป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ อาจส่งผลกระทบต่อความสำเร็จขององค์การในภาพรวมได้ นอกจากนี้ การบริหารงานที่มีประสิทธิภาพควรใช้ทรัพยากรเวลาให้น้อยที่สุด ซึ่งเทคนิคที่นิยมนำมาใช้ในการควบคุมเวลา ได้แก่ เทคนิคการประเมินผลและทบทวนแผนงาน (Program Evaluation and Review Technique : PERT) หรือเทคนิคเส้นทางวิกฤต (Critical Path Method) ซึ่งเป็นเครื่องมือการควบคุมโดยแสดงลำดับของกิจกรรมและระยะเวลาที่คาดหวังให้งานแล้วเสร็จ ทำให้องค์การสามารถติดตามตรวจสอบได้ว่ากิจกรรมต่างๆดำเนินการภายใต้ระยะเวลาที่คาดหวังไว้หรือไม่ อย่างไร
4. การควบคุมคุณภาพงาน หมายถึง การติดตามตรวจสอบผลงานต่างๆขององค์การให้ได้คุณภาพตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ ซึ่งถือได้ว่าเป็นการควบคุมที่มีความสำคัญที่สุดสำหรับการบริหารองค์การ เนื่องจากการที่องค์การสามารถบริหารงานโดยใช้ค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด แต่ผลงานที่เกิดขึ้นมาไม่ได้มาตรฐานหรือไม่มีคุณภาพ การบริหารองค์การก็จะไม่เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง ดังนั้น องค์การจึงนำเทคนิคการจัดการเชิงคุณภาพ มาใช้ในการควบคุมคุณภาพงาน เช่น การจัดการคุณภาพ (Total Quality Management) รางวัลคุณภาพแห่งชาติ Malcolm Baldridge National Quality Award (MBNQA) เกณฑ์คุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ (Public Management Quality Award, PMQA) เป็นต้น
5. การควบคุมพฤติกรรมบุคลากร หมายถึง การติดตามตรวจสอบพฤติกรรมของบุคลากรในองค์การให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ ซึ่งเทคนิคที่นิยมนำมาใช้ในการควบคุมพฤติกรรมบุคลากร ได้แก่ การจัดลำดับบุคลากร มาตรวัดให้คะแนน การจับคู่เปรียบเทียบ การบันทึกเหตุการณ์สำคัญ การจัดตามอัตรา การกระจายของกลุ่ม มาตรวัดประมาณค่าเชิงพฤติกรรม และการประเมินผลตามหลักการบริหารโดยยึดวัตถุประสงค์