รองศาสตราจารย์ ดร.กัลยานี ภาคอัต
จากตอนที่ 1 ได้นำเสนอลักษณะของสหกรณ์ออมทรัพย์ที่เงินขาด (Deficit) สำหรับตอนนี้จะนำเสนอลักษณะ สหกรณ์ออมทรัพย์ที่เงินเหลือ (Surplus) ดังนี้
สหกรณ์ออมทรัพย์ที่เงินเหลือ
สหกรณ์ออมทรัพย์ที่เงินเหลือ (Surplus) หมายถึง สหกรณ์ออมทรัพย์ที่มีแหล่งเงินทุนที่ประกอบด้วย เงินฝากจากสมาชิก และทุนเรือนหุ้น มากกว่าความต้องการกู้ยืมของสมาชิก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสหกรณ์ออมทรัพย์ที่เงินเหลือมีการพัฒนาหรือการสร้างความมั่นคงทางการเงิน โดยเฉพาะการลดการใช้เงินกู้ยืมจากแหล่งเงินทุนภายนอก และการบริหารจัดการการเงินของสหกรณ์ออมทรัพย์ที่เงินเหลือมีแหล่งเงินทุนภายในที่เพียงพอที่จะให้สมาชิกและสหกรณ์อื่นกู้ยืมได้ ซึ่งลักษณะของสหกรณ์ออมทรัพย์ที่เงินเหลือจะมีสถานะทางการเงินที่มีความมั่นคง และมีความน่าเชื่อถืออย่างมาก
สหกรณ์ออมทรัพย์ที่เงินเหลือยังแสดงให้เห็นถึงการมีระบบการดำเนินการที่มีประสิทธิภาพโดยเฉพาะการบริหารสินเชื่อหรือระบบการให้กู้ยืมเงินแก่สมาชิก ที่ไม่เพียงการให้กู้ยืมแก่สมาชิกแต่ยังให้กู้ยืมแก่สหกรณ์อื่นด้วย นอกจากนี้ สหกรณ์ออมทรัพย์ที่เงินเหลือยังมีระบบการตรวจสอบที่มีคุณภาพ มีการควบคุมภายในที่มีประสิทธิภาพ และการบริหารการเงินที่มีประสิทธิภาพ จนทำให้สหกรณ์มีสภาพคล่องทางการเงินสูง รวมทั้งยังสามารถหาผลตอบแทนได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ และสามารถให้ผลตอบแทนทั้งในรูปของเงินปันผล และดอกเบี้ยแก่สมาชิกเป็นที่น่าพึงพอใจ
สิ่งสำคัญอย่างยิ่งของการบริหารเงินลงทุนของสหกรณ์ออมทรัพย์ที่เงินเหลือ จะต้องให้ความระมัดระวังในการนำเงินไปลงทุนในรูปแบบของเงินฝากกับสถาบันการเงิน หรือสหกรณ์อื่น โดยต้องคำนึงถึงต้นทุนของเงินที่รับฝากจากสมาชิกที่ไม่ควรจะได้ผลตอบแทนที่ต่ำกว่า ในส่วนของการลงทุนของสหกรณ์ออมทรัพย์หลายๆ แห่งได้นำเงินไปลงทุนในหุ้นกู้เอกชนที่ให้ผลตอบแทนที่สูง แต่ตามมาด้วยระดับความเสี่ยงที่สูงเช่นกัน ซึ่งถ้าบริษัทเอกชนไม่สามารถดำเนินการได้ผลประกอบการที่กำหนดไว้ อาจจะส่งผลต่อผลตอบแทนของหุ้นกู้ได้เช่นกัน จากการนำเสนอทั้งสองตอนของลักษณะสหกรณ์ออมทรัพย์ที่เงินขาดและที่เงินเหลือ จะมีรูปแบบการบริหารจัดการการลงทุนที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน ซึ่งจะเป็นข้อคิดให้กับหลายๆ ท่าน ที่กำลังจะต้องตัดสินใจสมัครเป็นสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์และกำลังจะนำเงินไปฝากเพื่อหวังเงินปันผลและดอกเบี้ยที่สูง จะต้องให้ความระมัดระวังและศึกษาข้อมูลต่างๆ ก่อนการลงทุน