รองศาสตราจารย์ ดร.กัลยานี ภาคอัต
สหกรณ์ออมทรัพย์ หรือ สอ. เป็นสหกรณ์รูปแบบหนึ่งในหลายๆ รูปแบบที่มีเป้าหมายคือ สหกรณ์ออมทรัพย์เป็นการช่วยเหลือสมาชิกโดยเฉพาะทางการเงิน ซึ่งรูปแบบการดำเนินงานของสหกรณ์ออมทรัพย์ไม่ต่างจากสถาบันการเงิน ดังนั้น การจัดการการเงินจึงเป็นสิ่งสำคัญต่อสหกรณ์ การนำเสนอเนื้อหาสาระนี้จะอธิบายถึงลักษณะทางการเงินของสหกรณ์ออมทรัพย์ 2 ลักษณะคือ สหกรณ์ออมทรัพย์ที่เงินขาด (Deficit) และสหกรณ์ออมทรัพย์ที่เงินเหลือ (Surplus)
สหกรณ์ออมทรัพย์ที่เงินขาด (Deficit)
สหกรณ์ออมทรัพย์ที่เงินขาด (Deficit) หมายถึง สหกรณ์ออมทรัพย์ที่มีแหล่งเงินทุนที่ประกอบด้วย เงินฝากจากสมาชิก และทุนเรือนหุ้น ไม่เพียงพอกับปริมาณเงินที่สมาชิกต้องการกู้ยืม ทำให้การบริหารจัดการการเงินของสหกรณ์ออมทรัพย์ที่เงินขาดจะต้องจัดหาเงินทุนจากแหล่งเงินทุนภายนอกทั้งระยะสั้น และระยะยาว ซึ่งแหล่งเงินทุนมักจะมาจากสถาบันการเงิน หรือสหกรณ์ออมทรัพย์อื่น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับเจ้าหนี้ถึงความสามารถในการชำระหนี้ได้ตรงตามกำหนดระยะเวลา
ปัจจัยที่มีความสำคัญต่อการบริหารจัดการการเงินของสหกรณ์ออมทรัพย์ที่เงินขาดจะต้องมีระบบการให้สินเชื่อ ที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะกระบวนการกลั่นกรองผู้ขอสินเชื่อหรือผู้กู้ยืมด้วยการทำ Credit Scoring เพื่อลดความคลาดเคลื่อนในการวิเคราะห์ รวมทั้งนโยบายการกำหนดเกณฑ์การให้คะแนนที่มีความเหมาะสม
นอกจากนี้ การบริหารสินเชื่อจะต้องมีระบบการตรวจสอบที่มีคุณภาพ และการควบคุมภายในที่มีความเป็นอิสระไม่อยู่ภายใต้การควบคุมจากบุคคลใดบุคคลหนึ่ง อีกประการหนึ่งของการบริหารจัดการการเงินคือ จะต้องมี สภาพคล่องในการดำเนินการ หากมีสภาพคล่องที่มากเกินจะทำให้ความสามารถในการสร้างผลตอบแทนได้ในระดับที่ต่ำ ในขณะที่สภาพคล่องที่ต่ำมากจะทำให้สร้างผลตอบแทนที่สูง ซึ่งต้องเผชิญกับการบริหารที่มีความยุ่งยากและจะต้องหาเงินทุนให้เกิดสภาพคล่องตลอดเวลา สิ่งสำคัญอย่างยิ่งของการบริหารจัดการคือ การมีธรรมาภิบาลซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างมากเช่นกัน หากองค์กรใดไม่ให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าว ย่อมแสดงถึงการบริหารจัดการที่มีไม่ความน่าเชื่อถือ หรือมีความไม่โปร่งใส และไม่สามารถตรวจสอบการดำเนินการได้ ปัจจุบันองค์การส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับการมี ธรรมาภิบาล เพื่อให้การดำเนินงานเติบโตได้อย่างมีความมั่นคงและยั่งยืน