ฟาสซิสม์เป็นระบอบการปกครองที่มีบทบาทต่อการเมืองโลกในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ได้รับความนิยมสูงในประเทศอิตาลี เยอรมันและญี่ปุ่น แม้ว่าต่อมาระบอบนี้จะพ่ายแพ้ต่ออุดมการณ์คอมมิวนิสม์และทุนนิยมแต่ลักษณะเด่นบางประการของฟาสซิสม์ก็ยังคงได้รับการจดจำและกล่าวถึงกระทั่งในปัจจุบัน
อุดมการณ์ฟาสซิสม์เป็นอุดมการณ์ที่มีการถกเถียงกันมากว่าอะไรคือลักษณะเฉพาะตัวของฟาสซิสม์ จากการที่ฟาสซิสม์มีลักษณะลื่นไหลตีความได้หลากหลายและหลายครั้งมีความย้อนแย้งทำให้นักวิชาการบางท่านถึงกับกล่าวถึงนิยามฟาสซิสม์ว่า “เป็น A และไม่ใช่ A”
แม้ว่าฟาสซิสม์จะมีข้อถกเถียงในเรื่องนิยามหลายเรื่องแต่ก็เป็นที่ยอมรับกันว่ามีลักษณะบางอย่างที่หลอมรวมเป็นฟาสซิสม์ ได้แก่ การมองอนาคตในแง่ร้าย ไม่อดกลั้น ไม่เสรีนิยม กึ่งศาสนา ยึดถือประชาชนเป็นองค์รวมมากกว่าปัจเจก มีศัตรูคือสังคมนิยม คอมมิวนิสต์ ทุนนิยม ทั้งนี้ลักษณะเฉพาะตัวที่โดดเด่นที่สุดของฟาสซิสม์คือ การชูชาติเหนือสิ่งอื่นใดหรืออาจจะเรียกได้ว่าเป็นชาตินิยมที่ล้นเกิน (ultranationalism) และเน้นการขับเคลื่อนประเทศจากสังคมมากกว่ากลไกรัฐดังนั้นจึงมุ่งเผยแพร่ครอบงำอุดมการณ์ในสังคมด้วย
จากลักษณะของฟาสซิสม์ดังที่กล่าวมาข้างต้นเมื่อมองย้อนมาที่แบบแผนการบริหารราชการไทยเกือบทศวรรษที่ผ่านมาก็จะพบว่ามีข้อสังเกตถึงลักษณะร่วมกัน ได้แก่ การมองอนาคตในแง่ร้ายที่หวาดกลัวความก้าวหน้าและความเป็นสากลอันเกิดจากการเคลื่อนไหวของเยาวชนรุ่นใหม่ที่ผู้หลักผู้ใหญ่เชื่อว่าจะนำพาประเทศไปในทิศทางที่คิดว่าเสื่อม การไม่อดกลั้นต่อความเห็นต่างของประชาชนที่รัฐไม่เพียงแต่จะใช้กลไกการปราบปรามของรัฐกดปราบแต่ยังมีความพยายามจัดตั้งองค์กรทางสังคมมาปะทะ ไม่เสรีนิยมจากการที่รัฐลิดรอนสิทธิเสรีภาพของปัจเจกบุคคลทั้งโดยกฎหมายและโดยกำลัง กึ่งศาสนาจากการที่รัฐส่งเสริมและรณรงค์คุณค่าแบบไทย ๆ จนศักดิ์สิทธิ์ห้ามตั้งคำถาม นโยบายและการนำนโยบายไปปฏิบัติของรัฐมักอ้างผลประโยชน์ของชาติหรือประชาชนในเวลาเดียวกันกับรุกรานกดขี่ช่วงชิงทรัพยากรจากประชาชน และในหลายครั้งมักอ้างถึงสังคมนิยม คอมมิวนิสต์และทุนนิยมในฐานะศัตรูอันเลวร้ายที่ต้องได้ “คนดี” มากู้ชาติให้พ้นจากอุดมการณ์เหล่านี้
จากประวัติศาสตร์โลกที่ผ่านมาพบว่าชาตินิยมที่ล้นเกินในการบริหารประเทศมักนำไปสู่ความรุนแรงทั้งภายในประเทศและในหลายกรณีเกิดเป็นโศกนาฏกรรมระหว่างประเทศด้วย