หลีกเลี่ยงการคัดลอกวรรณกรรมได้อย่างไร

การหลีกเลี่ยงการลอกเลียนทางวรรณกรรมที่ง่ายที่สุดคือ การอ้างอิงแหล่งที่มาของข้อมูล และให้ข้อมูลที่จำเป็นแก่ผู้อ่านในการเข้าถึงแหล่งข้อมูลเหล่านั้นทุกครั้ง ซึ่ง The learning Centre, The University of New South Wales (2011) ได้เสนอวิธีการเลี่ยงการลอกเลียนทางวรรณกรรมว่า

(1) ผู้เขียนจะต้องพึงตระหนักถึงการใช้คำหรือความคิดของผู้อื่นในงานเขียนของตนโดยต้องอ้างอิงอยู่เสมอ

(2) วางแผนการเขียนผลงานโดยให้เวลาอย่างเหมาะสม ไม่ใช้เวลารีบเร่งกระทั่งเวลากลายเป็นตัวบีบบังคับให้ต้องพึ่งผลงานของผู้อื่นในงานเขียนของตนเองมากเกินไป

(3) อ้างอิงแหล่งที่มาของข้อมูลที่ใช้ทั้งหมดให้ถูกต้องตามรูปแบบการอ้างอิงทางวิชาการ

(4) เรียนรู้วิธีการผนวกรวมงานของผู้อื่นในผลงานของตนเอง ด้วยการสรุป (summarizing) และถอดความ (paraphrasing) แนวคิดด้วยถ้อยคำของตนเองเพื่อแสดงความเข้าใจของผู้เขียน

(5) นำเสนอและอ้างแหล่งที่มาของคำ/ข้อความที่อ้างอิง (quotations) รวมถึงเลขหน้า (ถ้ามี) อย่างถูกต้อง

(6) จดบันทึกข้อมูลอย่างระมัดระวังและเป็นระบบเพื่อให้สามารถแยกประเภทระหว่างสิ่งที่คัดลอกมาโดยตรง สิ่งที่จดบันทึกด้วยถ้อยคำของตนเอง และความคิดเห็นของตนเองต่อแหล่งข้อมูลนั้นๆ เพื่อให้สามารถอ้างอิงได้อย่างถูกต้อง

(7) บันทึกข้อมูลสำหรับบรรณานุกรมก่อนจดบันทึกข้อมูลจากแหล่งข้อมูลทุกครั้ง

(8) จดบันทึกข้อมูลโดยพยายามใช้คำ/ข้อความของตนเอง (แปลงข้อมูลจากแหล่งต้นฉบับ-ผ่านกระบวนการทำความเข้าใจและการจดจำ-เขียนสรุป-เช็คความถูกต้องของความคิดกับข้อความต้นฉบับ) หากจำเป็นต้องใช้ข้อความจากต้นฉบับทั้งหมดต้องใส่เครื่องหมายอัญประกาศ (quotation) และแสดงที่มาของข้อความด้วย

(9) ระหว่างบันทึกข้อมูลจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ต้องระบุชื่อผู้แต่งและเลขหน้าในทุกย่อหน้า

อ้างอิง: The Learning Centre, The University of New South Wales. (2011) “Avoiding Plagiarism.”  ใน http://www.lc.unsw.edu.au/onlib/plag.html#plag1