การมีสินค้าคงคลังมากเกินไป (Excess inventory) คือ การเก็บรักษาวัตถุดิบ งานระหว่างทำ และสินค้าสำเร็จรูปที่มากเกินความจำเป็น ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับเวลานำในการผลิตที่ยาวขึ้น การล้าสมัยและการเสียหายของวัตถุดิบและสินค้า ต้นทุนการขนส่งและการเก็บรักษา และความล่าช้าในการผลิต นอกจากนี้การมีสินค้าคงคลังมากเกินไปยังทำให้ปัญหาในการผลิตถูกซ่อนเร้น เช่น ความไม่แน่นอนของปริมาณการผลิต ความล่าช้าในการขนส่งจากผู้ค้า ของเสีย การเสียของเครื่องจักร และเวลาตั้งเครื่องที่ยาวนาน ฯลฯ ซึ่งปัญหาเหล่านี้มักจะยังไม่ค้นพบทันทีตราบเท่าที่ยังมีสินค้าคงคลังเพียงพอในการทำให้การผลิตมีความต่อเนื่อง ดังนั้นจึงทำให้ผู้ผลิตไม่ทราบถึงปัญหาที่แท้จริงอันเนื่องจากถูกสินค้าคงคลังที่มากเกินไปซ่อนเร้นปัญหาอยู่ ซึ่งอาจจะทราบถึงปัญหาเมื่อปัญหารุนแรงจนไม่อาจแก้ไขได้ ตัวอย่างในโรงงานที่มีการจัดตารางการผลิตโดยระบบการวางแผนความต้องการวัสดุ (Material Requirement Planning: MRP) ที่มีการจัดตารางการผลิตไว้ล่วงหน้าโดยการพยากรณ์การผลิตแต่ไม่ได้คำนึงถึงความต้องการที่แท้จริงของลูกค้าหรือกระบวนการถัดไป หรือที่เรียกว่า “ระบบผลัก (push)” ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาการผลิตสินค้าคงคลังที่มากเกินไป ซึ่งต่างจากระบบลีนที่เน้นการไหลของงานและการผลิตตามความต้องการของลูกค้า หรือที่เรียกว่า “ระบบดึง (pull)” ซึ่งแนวคิดของลีนกำหนดว่าจะไม่ยอมให้มีสินค้าคงคลังที่เกินความจำเป็นเพื่อทำให้ปัญหาการผลิตปรากฏได้อย่างชัดเจน และยอมที่จะหยุดกระบวนการเพื่อแก้ปัญหาทันทีแต่จะไม่ยอมให้มีสินค้าคงคลังมากเกินไป
ความสูญเปล่าในระบบการผลิตแบบลีน EP.3
- Post author:prapasri
- Post published:10/03/2021
- Post category:รองศาสตราจารย์ประภาศรี พงศ์ธนาพาณิช