ประมวลจรรยาบรรณ

ลักษณะของประมวลจรรยาบรรณวิชาชีพตรวจสอบภายใน (Code of Ethical) โดยคำว่า จรรยาบรรณ มีความหมายตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ระบุว่า “ประมวลความประพฤติที่ผู้ประกอบอาชีพการงานแต่ละอย่างกำหนดขึ้น เพื่อรักษาและส่งเสริมเกียรติคุณชื่อเสียงและฐานะของสมาชิก อาจเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ก็ได้” และคำว่า วิชาชีพ หมายถึง “วิชาที่จะนำไปใช้ในการประกอบอาชีพ”ดังนั้นสามารถสรุปได้ว่า จรรยาบรรณวิชาชีพ คือ ประมวลที่กำหนดในเรื่องของความพระพฤติของผู้ประกอบวิชาชีพนั้นๆ เพื่อให้เกิดการรักษา ส่งเสริมวิชาชีพ โดยประมวลอาจเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร
สำหรับวิชาชีพตรวจสอบภายใน กำหนดโดยสมาคมผู้ตรวจสอบภายในสากล (The Institute of Internal Auditors: IIA) ได้กำหนดหัวข้อประมวลจรรยาบรรณ (Code of ethics) บรรจุเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางหลัก (Mandatory Guidance) ในมาตรฐานสากลสำหรับการปฎิบัติงานวิชาชีพตรวจสอบภายใน (International Standard for the Professional Practice of Internal Auditing: IPPF)
ประมวลจรรยาบรรณวิชาชีพตรวจสอบภายใน ไม่ได้มีไว้เพียงเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในหลักที่ปฎิบัติหรือเพื่อให้ภายนอกหน่วยงานเชื่อในความน่าไว้วางใจเท่านั้น แต่มีไว้เพื่อเป็นการประสานความร่วมมมือและการสร้างกระบวนการทำงานอย่างมืออาชีพของหน่วยงาน ซึ่งประมวลจรรยาบรรณวิชาชีพตรวจสอบภายในเป็นการสร้างคำสัญญาที่จะลดโอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์ (Likelihood) ที่สมาชิกของวิชาชีพตรวจสอบภายในจะปฎิบัติงานที่ต่ำกว่ามาตรฐานซึ่งส่งผลต่อการไม่ได้รับความน่าเชื่อถือจากสาธารณชน จึงสามารถถือได้ว่าประมวลจรรยาบรรณวิชาชีพช่วยสร้างมาตรฐานขั้นพื้นฐานของความรู้ ความสามารถ พฤติกรรม และกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาที่ดียิ่งขึ้น

ส่วนประกอบของประมวลจรรยาบรรณวิชาชีพตรวจสอบภายใน
ประมวลจรรยาบรรณวิชาชีพตรวจสอบภายในได้กำหนดหัวข้อและรายละเอียด โดยแบ่งออกเป็น 2 หัวข้อคือ 1) หลักการแนวทางปฎิบัติงาน (Principles) เป็นหลักการพื้นฐานของการปฎิบัติงานสำหรับผู้ที่เป็นวิชาชีพตรวจสอบภายในประกอบด้วย 4 หัวข้อ คือ คุณธรรม ความเที่ยงธรรม การรักษาความลับ และความสามารถ 2) หลักความประพฤติ (Rules of Conduct) เป็นการขยายความในรายละเอียดสำหรับการกระทำตามหลักการแนวทางปฏิบัติงาน
หลักการปฎิบัติงานวิชาชีพตรวจสอบภายใน
ผู้ทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบภายใน ต้องยึด “หลักการพื้นฐานสำคัญสำหรับปฎิบัติงานวิชาชีพตรวจสอบภายใน (Core Principle for Professional Practice of Internal Auditing) จำนวน 10 ข้อ ประกอบด้วย
1. การปฎิบัติงานต้องแสดงให้ถึงความซื่อสัตย์
2. มีความสามารถและความระมัดระวังเยี่ยงวิชาชีพ
3. มีความเที่ยงธรรมและความเป็นอิสระ
4. สอดคล้องกับกลยุทธ เป้าหมายและความเสี่ยงขององค์กร
5. ปฎิบัติงานในตำแหน่งที่เหมาะสมและมีทรัพยากรเพียงพอ
6. การทำงานแสดงให้เห็นถึงคุณภาพและมีการปรับปรุงพัฒนาอย่าง
7. มีการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ
8. ให้ความเชื่อมั่นตามความเสี่ยง
9. มีความลึกซึ้ง มีลักษณะเชิงรุกและเน้นอนาคต
10. ส่งเสริมการพัฒนาองค์กร