Environment Analysis for Strategic Goal Reaching: การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมเพื่อการบรรลุเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์
ในการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมสำหรับการวางยุทธศาสตร์ให้บรรลุเป้าหมายนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการทราบสถานะ (Status) ขององค์การ อันจะนำไปสู่การกำหนดวิสัยทัศน์ ประเด็นยุทธศาสตร์ และเป้าประสงค์ได้นั้น เราจะต้องมีการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมทั้งภายนอกและภายในขององค์การใน 2 มิติสำคัญคือ สภาพแวดล้อมภายนอกและภายใน ดังนี้
การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายนอก
ประกอบด้วยสภาพแวดล้อมทั่วไป ได้แก่ เศรษฐกิจ การเมือง สังคม เทคโนโลยี และสภาพแวดล้อมในการดำเนินการ ได้แก่ สถานภาพการแข่งขัน ลูกค้า Suppliers แรงงาน และสถานการณ์นานาชาติ การประเมินสภาพแวดล้อมภายนอกองค์การ จะเป็นการวิเคราะห์ใน 2 ส่วน คือ ในส่วนของโอกาส (Opportunity: O) และในส่วนของภาวะคุกคาม (Threat: T) ในการวิเคราะห์โอกาส (O) เป็นการวิเคราะห์เพื่อค้นหาช่องทางที่สามารถทำให้องค์การมีประสิทธิผล ประสิทธิภาพ และ Productivity ที่เพิ่มขึ้น เช่น มีความต้องการ (Demand) ของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น มีความต้องการของตลาดในระดับสูง มีโอกาสที่จะดึงคนอื่นๆเข้ามามีส่วนร่วม มีตลาดและลูกค้ากลุ่มอื่นที่ยังไม่ได้เข้าไป เป็นต้น ส่วนการวิเคราะห์ภาวะคุกคาม (T) เป็นการวิเคราะห์เพื่อแสดงให้เห็นว่าองค์การมีภาวะคุกคามในเรื่องใดบ้าง ซึ่งเป็นการวิเคราะห์เพื่อค้นหาปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานขององค์การซึ่งเป็นปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ เช่น สภาพเศรษฐกิจ คู่แข่งขัน นโยบายของรัฐ การเมือง กฎหมาย เป็นต้น
การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายใน
โดยการวิเคราะห์ขีดสมรรถนะขององค์การ ทั้งในด้านโครงสร้าง กระบวนการทำงาน บุคลากร การเงิน เทคโนโลยี และการบริหารงานทั่วไป การประเมินสภาพแวดล้อมภายในองค์การ (Strength: S และ Weakness: W) จะเป็นการวิเคราะห์จากสภาพแวดล้อมภายในองค์การ โดยที่ S จะเป็นการวิเคราะห์เพื่อค้นหาจุดเด่นหรือจุดแข็งที่มีอยู่เพื่อแสดงให้เห็นว่าองค์การมีจุดแข็งในเรื่องใดบ้าง เช่น ชื่อเสียงขององค์การ การได้ระบบ ISO เป็นต้น โดยเน้นการวิเคราะห์จุดแข็งที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความสำเร็จในการดำเนินงานขององค์การ ในส่วนของ W จะเป็นการวิเคราะห์เพื่อแสดงให้เห็นว่าองค์การมีจุดอ่อนในเรื่องใดบ้าง เช่น การมีระเบียบข้อบังคับที่มากและล้าสมัย ขั้นตอนที่มีมาก ยังใช้การตลาดเชิงรับมากกว่าเชิงรุก เป็นต้น โดยเน้นการวิเคราะห์จุดอ่อนที่มักเป็นข้อด้อยต่อการสร้างความสำเร็จในการดำเนินงานขององค์การ
ประเด็นสำคัญคือ ในการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมสำหรับการวางกลยุทธ์ให้บรรลุเป้าหมายนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการทราบสถานะขององค์การ ซึ่งจะนำไปวิเคราะห์ต่อว่าจะกำหนดวิสัยทัศน์หรือภาพอนาคตที่พึงประสงค์ขององค์การต่อไป เช่น ต้องการคงสถานะเดิมหรือพัฒนาให้ดีขึ้นอย่างไรนั่นเอง