แนวคิดและทฤษฎีการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

  • Post author:
  • Post category:Uncategorized

การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมจะเกิดขึ้นได้ในพื้นที่ที่มีองค์ประกอบอย่างน้อย 1 ใน 4Hs (Heritage, History, Habitat and Handicraft) กล่าวคือ (1) พื้นที่ประเภทที่มีแหล่งเป็นมรดก (Heritage) ทำให้เกิดการท่องเที่ยวในทางวัฒนธรรมหรือโบราณคดี (2) พื้นที่ประเภทที่มีแหล่งความเป็นประวัติศาสตร์ (History) จะเป็นแหล่งให้เกิดการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่เป็นประวัติศาสตร์ (3) พื้นที่ประเภทที่มีปรากฏเป็นร่องรอยชุมชนการอยู่อาศัย (Habitat) เป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุด สามารถเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมชุมชน วิถีชีวิต และ (4) พื้นที่ประเภทที่มีงานศิลปหัตถกรรม (Handicraft) จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมประเภทงานศิลปะ ประเพณี (Smith, 1996 อ้างในชณัฎฐ์ พงศ์ธราธิก, สุมนรตรี นิ่มเนติพันธ์และอนันต์ มาลารัตน์, 2564)    

ประเภทของการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมแบ่งเป็น 5 ประเภทคือ (1) การท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ (Historical Tourism) คือ การเดินทางท่องเที่ยวไปยังแหล่งท่องเที่ยวทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์เพื่อชื่นชมเพลิดเพลินในสถานที่ท่องเที่ยว และได้รับความรู้ความเข้าใจในประวัติศาสตร์และโบราณคดีท้องถิ่น

(2) การท่องเที่ยวงานวัฒนธรรมและประเพณี (Cultural and Traditional Tourism) คือ การเดินทางท่องเที่ยวเพื่อชมงานศิลปวัฒนธรรมและประเพณีต่างๆ ที่ชาวบ้านในท้องถิ่นจัดขึ้นเพื่อให้ได้รับความเพลิดเพลินตื่นตาตื่นใจในสุนทรีศิลป์ รวมทั้งการศึกษาความเชื่อพิธีกรรมต่างๆ เพื่อให้ได้รับความรู้ความเข้าใจต่อสภาพสังคมและวัฒนธรรมในสถานที่ท่องเที่ยว (3) การท่องเที่ยววิถีชีวิตชนบท (Rural / Village Tourism) คือ การเดินทางท่องเที่ยวในหมู่บ้านชนบทที่มีลักษณะวิถีชีวิตและผลงานสร้างสรรค์ที่มีลักษณะพิเศษโดดเด่นให้ได้รับความเพลิดเพลิน ได้ความรู้ ดูผลงานสร้างสรรค์ภูมิปัญญาพื้นบ้าน เข้าใจต่อสภาพสังคมและวัฒนธรรม(4) การท่องเที่ยวเชิงกีฬา (Sports Tourism) คือ การเดินทางไปท่องเที่ยวยังสถานที่ออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาหรือแข่งขันกีฬา โดยมีกิจกรรมการท่องเที่ยวในรูปแบบของการจัดรายการกีฬาตามเส้นทางแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ ทำให้ได้ประสบการณ์ใหม่ๆ สนุกสนานเพลิดเพลินกับการออกกำลังกาย (5) การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพทางวัฒนธรรม (Cultural Health Tourism) คือ การเดินทางท่องเที่ยวไปเยี่ยมชมแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมโดยมีกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพและฟื้นฟูสุขภาพทางวัฒนธรรม (บุญเลิศ จิตตั้งวัฒนา, 2548 อ้างในชณัฎฐ์ พงศ์ธราธิก, สุมนรตรี นิ่มเนติพันธ์และอนันต์ มาลารัตน์, 2564)

หลักการของการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและชุมชนที่ใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการพัฒนาชุมชน มีดังนี้ (1) ชุมชนเป็นเจ้าของการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและชุมชน โดยมีทรัพยากรเชิงวัฒนธรรมภายในชุมชนเป็นสิ่งดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาสัมผัสวิถีชีวิตชุมชน (2) ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางและตัดสินใจ การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและชุมชนเป็นการท่องเที่ยวที่การบริหารจัดการส่วนใหญ่เกิดจากการมีส่วนร่วมของชาวบ้านในชุมชนซึ่งอาจเกิดขึ้นจากการรวมตัวของชาวบ้านในความต้องการที่จะดำเนินกิจกรรมทางการท่องเที่ยวเนื่องจากมีทรัพยากรทางวัฒนธรรมอันโดดเด่น (3) ส่งเสริมความภาคภูมิใจในตนเอง การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและชุมชนเป็นการท่องเที่ยวที่สร้างความภาคภูมิใจในตนเอง (4) ยกระดับคุณภาพชีวิต การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและชุมชนเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาเยี่ยมชม ได้รับประสบการณ์ที่แปลกใหม่จากชีวิตประจำวัน (5) มีความยั่งยืนทางด้านสิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและชุมชนเป็นการท่องเที่ยวที่มีฐานทรัพยากรทางวัฒนธรรมและชุมชนเป็นหลัก (6) คงเอกลักษณ์และวัฒนธรรมท้องถิ่น ส่งเสริมให้คนในชุมชน ชาวบ้านในท้องถิ่นเห็นคุณค่า พยายามรักษาวัฒนธรรมและรากเหง้าความเป็นตัวตน (Identity) (7) ก่อให้เกิดการเรียนรู้ระหว่างคนต่างวัฒนธรรม การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและชุมชนส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ระหว่างผู้มาเยี่ยมเยือนกับเจ้าบ้าน (8) เคารพในวัฒนธรรมที่แตกต่างและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ (9) เกิดผลตอบแทนที่เป็นธรรมแก่คนท้องถิ่นและมีการกระจายรายได้สู่สาธารณประโยชน์ของชุมชน (ดัดแปลงจากหลักการการท่องเที่ยวโดยชุมชน พจนา สวนศรี, 2546 อ้างในชณัฎฐ์ พงศ์ธราธิก, สุมนรตรี นิ่มเนติพันธ์และอนันต์ มาลารัตน์, 2564)

ในส่วนหลักการของการท่องเที่ยวชุมชนของ เดวี และคณะ (N I K Dew et al., 2018 อ้างในชณัฎฐ์ พงศ์ธราธิก, สุมนรตรี นิ่มเนติพันธ์และอนันต์ มาลารัตน์, 2564) คือการทำให้คุณภาพชีวิตของชุมชนดีขึ้นจากเดิมโดยมีลักษณะดังนี้ (1) ชุมชนท้องถิ่นได้รับผลประโยชน์ (2) ชุมชนท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวได้ใช้สาธารณูโภคต่างๆร่วมกัน (3) ความเท่าเทียมกันในการรับผลประโยชน์ (4) มีการริเริ่มในการปกป้องสิ่งแวดล้อม (5) บริษัทจากภายนอกชุมชนเข้ามาลงทุนหรือทำกิจการได้ในรูปแบบของกิจการร่วมค้า (Joint Ventures) กับชุมชนท้องถิ่น (6) ชุมชนท้องถิ่นต้องเป็นเจ้าของและจัดการกิจการด้วยตนเอง (7) แม้ว่ากิจการนั้นจะเป็นของเอกชนแต่ผลประโยชน์ต้องอยู่ภายในชุมชน (8) พัฒนาเครือข่ายสำหรับผลิตภัณฑ์ทางการท่องเที่ยว (9) การพัฒนาโดยการร่วมมือและ (10) การพัฒนาโดยภาคเอกชนต้องสนับสนุนให้เกิดการกระจายอำนาจก่อให้เกิดความเข้มแข็งสู่ชาวบ้านในชุมชน ที่มา: ชณัฎฐ์ พงศ์ธราธิก, สุมนรตรี นิ่มเนติพันธ์และอนันต์ มาลารัตน์. (2564). การพัฒนากลยุทธ์การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์. วารสาร มจร พุทธปัญญาปริทรรศน์, 6[3], หน้า 77-91 สืบค้นจาก https://so03.tci-thaijo.org/index.php/jmbr/article/view/256405/172032