ต้นทุนตามความสัมพันธ์กับรายได้ในช่วงเวลาหนึ่ง เป็นการพิจารณาว่าอะไรเป็นต้นทุนที่ก่อให้เกิดรายได้ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง เพื่อนำเสนอรายงานทางการเงิน โดยสามารถจำแนกต้นทุนตามความสัมพันธ์กับรายได้ในช่วงเวลาหนึ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1) ต้นทุนผลิตภัณฑ์ และ 2) ต้นทุนตามงวดเวลา (ณัฐชลัยย์ ตรรกวิทูรศักดิ์, ม.ป.ป.)
ต้นทุนผลิตภัณฑ์
ต้นทุนผลิตภัณฑ์ (Product Costs) คือรายจ่าย หรือทรัพยากรที่ถูกใช้ไป เพื่อก่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ ต้นทุนผลิตภัณฑ์เป็นต้นทุนที่เกิดขึ้นตามผลิตภัณฑ์ ไม่ได้เกิดขึ้นตามงวดเวลา (ณัฐชลัยย์ ตรรกวิทูรศักดิ์, ม.ป.ป.) อาจกล่าวได้ว่าต้นทุนผลิตภัณฑ์ก็คือ “ต้นทุนการผลิต” (Manufacturing Costs) นั่นเอง กิจการประเภทซื้อมาขายไปต้นทุนผลิตภัณฑ์คือต้นทุนของสินค้าที่ซื้อมาไว้ขาย ส่วนกิจการประเภทผลิตสินค้าต้นทุนผลิตภัณฑ์คือต้นทุนการผลิตทั้งหมด ได้แก่ ผลรวมของ 1) วัตถุดิบทางตรง (Direct Material: DM) 2) ค่าแรงงานทางตรง (Direct Labor: DL) และ 3) ค่าใช้จ่ายการผลิต (Manufacturing Overhead: OH) (ณัฐชลัยย์ ตรรกวิทูรศักดิ์, ม.ป.ป.)
ต้นทุนตามงวดเวลา
ต้นทุนตามงวดเวลา (Period Costs) เป็นต้นทุนที่เกิดขึ้นภายในงวดเวลา ไม่ได้เป็นต้นทุนที่เกิดขึ้นตามผลิตภัณฑ์ ต้นทุนตามงวดเวลาเป็นต้นทุนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการผลิตสินค้าและบริการ (ณัฐชลัยย์ ตรรกวิทูรศักดิ์, ม.ป.ป.) อาจกล่าวได้ว่าต้นทุนตามงวดเวลาก็คือ “ต้นทุนที่ไม่เกี่ยวกับการผลิต” (Nonmanufacturing Costs) ซึ่งได้แก่ 1) ค่าใช้จ่ายในการขาย (Selling Expenses) และ 2) ค่าใช้จ่ายในการบริหาร (Administration Expenses) นั่นเอง
เอกสารอ้างอิง
ณัฐชลัยย์ ตรรกวิทูรศักดิ์. (ม.ป.ป.). เอกสารประกอบคำบรรยายกระบวนวิชา ACC3211 การบัญชีต้นทุน 1. ศูนย์เอกสารทางวิชาการ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยรามคำแหง. (อัดสำเนา).